รีเซต

กทม.เตรียมพร้อมสำรองเตียง-ยารับมือโควิดพุ่ง เช็กยอดป่วยรายสัปดาห์ได้ที่นี่!

กทม.เตรียมพร้อมสำรองเตียง-ยารับมือโควิดพุ่ง เช็กยอดป่วยรายสัปดาห์ได้ที่นี่!
TNN ช่อง16
5 มิถุนายน 2566 ( 13:08 )
82
กทม.เตรียมพร้อมสำรองเตียง-ยารับมือโควิดพุ่ง เช็กยอดป่วยรายสัปดาห์ได้ที่นี่!

สถานการณ์โควิด-19 ของไทยยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ด้านกทม.เตรียมพร้อมสำรองเตียง ยาและชุดตรวจเพื่อรับมือสถานการณ์


นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. ระบุว่า ได้เตรียมพร้อมดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯที่อาจเพิ่มขึ้น โดยได้เตรียมมาตรการรองรับโดยสำรองเตียงโรงพยาบาลในสังกัด กทม.และวชิรพยาบาล 224 เตียง ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่รับไว้รักษา 130 คน คิดเป็นร้อยละ 58.04 กรณีที่ผู้ป่วยมีจำนวนเพิ่มขึ้นจนมีอัตราการครองเตียงถึงร้อยละ 80 จะขยายจำนวนเตียง เพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด


ขณะเดียวกันได้สำรองยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) โมลนูพิราเวียร์(Molnupiravir) แพ็กโลวิด( Paxlovid )และ เรมดิซิเวียร์(Remdesivir) รวมทั้งสำรองชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 (Antigen Test Kit : ATK) เตรียมพร้อมบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มศักยภาพการตรวจด้วยวิธี RT-PCR สามารถตรวจได้ประมาณ 2,200 คนต่อวัน


ด้านนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม - 3 มิถุนายน พบผู้ติดเชื้อ 3,085 คน เฉลี่ย 440 คนต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากสัปดาห์ก่อน มีผู้เสียชีวิต 68 คน เฉลี่ย 9 คนต่อวัน โดยผู้เสียชีวิตร้อยละ 97 ยังเป็นกลุ่มเสี่ยง 608 ที่รับวัคซีนไม่ครบ 2 เข็ม หรือไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือรับวัคซีนเข็มกระตุ้น นานเกิน 3 เดือน จึงเน้นย้ำว่าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือวัคซีนประจำปีเป็นปัจจัยสำคัญในการลดอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิตจากโควิด 19 ได้



ขณะที่สถานการณ์การติดเชื้อในเด็กก็มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะอายุต่ำกว่า 1 ปี หากเด็กที่มีโรคประจำตัวก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรงหรือเสียชีวิต จึงต้องให้เด็กเล็กเข้ารับวัคซีน ยืนยันว่าวัคซีนสำหรับเด็กเล็กมีความปลอดภัยสูงและเด็กเล็กจะพบผลข้างเคียงน้อยกว่าเด็กโต เช่น อาการไข้ อ่อนเพลีย นาน 1-2 วัน แต่ทั้งหมดไม่มีอาการรุนแรงและไม่เป็นอันตราย 
ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากต่างประเทศ ที่ได้มีการติดตามอาการไม่พึงประสงค์ในเด็กที่ฉีดวัคซีนไปแล้วกว่าร้อยล้านโดส ก็พบว่าวัคซีนมีความปลอดภัย ในระดับสูงเช่นกัน

ด้านศาสตราจารย์แพทย์หญิงกุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเพิ่มเติมว่า วัคซีนโควิด 19 มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อได้ไม่สมบูรณ์ คือประมาณร้อยละ 60 ในช่วง 4 เดือนแรก จากนั้นประสิทธิภาพในการป้องกันโรคจะลดลง แต่ยังสามารถป้องกันความรุนแรงได้ดียาวนาน คือหากติดเชื้ออาการจะไม่หนัก และป้องกันการเสียชีวิตในประชากรได้จริง และวัคซีนยังช่วยลดการเกิดภาวะ Long COVID ซึ่งทำให้อ่อนเพลียหลังจากเป็นโควิด 19 ได้ด้วย และที่สำคัญคือสามารถลดภาวะโรคมิสซี (MIS-C) ที่อาจรุนแรงในเด็กลงได้มากกว่าร้อยละ 90






แฟ้มภาพ AFP

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง