รีเซต

ถอดรหัสพันธุกรรมคนไทย ค้นหายีนความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการลองโควิด

ถอดรหัสพันธุกรรมคนไทย ค้นหายีนความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการลองโควิด
TNN ช่อง16
4 สิงหาคม 2566 ( 17:45 )
130

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ ถอดรหัสพันธุกรรมคนไทย: ค้นหายีนความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการลองโควิด โดยระบุว่า


-ทำไมบางคนไม่ว่าจะเป็น"เด็ก คนหนุ่มสาว หรือ ผู้สูงวัย"แม้จะอยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 นานเท่าไรก็ไม่ติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใด(resistant)?
-ทำไมบางคนเมื่อติดเชื้อโควิด-19 กลับมีอาการรุนแรง และบางรายถึงขั้นเสียชีวิตทั้งที่อายุน้อยกว่า 50 ปี และไม่มีโรคประจำตัว(life-threatening)?
-ทำไมบางคนถึงเป็นลองโควิด(long covid)?


ลองโควิดเป็นภาวะที่พบในบางคนที่เคยติดเชื้อโควิด-19 และยังคงมีอาการเป็นเวลาหลายสัปดาห์ หลายเดือน หรืออาจหลายปี หลังจากการติดเชื้อครั้งแรก อาการของลองโควิดอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แต่อาการที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ ความเหนื่อยล้า หายใจไม่ออก สมาธิสั้น ปวดหน้าอก สมองล้า ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปัญหาการนอนหลับ ภาวะซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล และการสูญเสียการรับรู้กลิ่นหรือรสชาติ


สาเหตุที่แท้จริงของลองโควิดยังไม่เป็นที่เข้าใจดีนัก แต่เชื่อว่าเกิดจากปัจจัยหลายประการ รวมถึงความรุนแรงของการติดเชื้อโควิด-19 ครั้งแรก อายุของบุคคล โรคประจำตัว และพันธุกรรมของแต่ละบุคคล

ยังไม่มีการรักษาเฉพาะสำหรับอาการลองโควิด แต่มีบางสิ่งที่ผู้คนสามารถทำได้เพื่อจัดการกับอาการดังกล่าว เช่น การพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ จัดการความเครียด และรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการปวดและอาการอื่นๆ


ด้วยเหตุนี้ทีมนักวิจัยไทยจากสามสถาบัน ได้แก่ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ โรงพยาบาลประชาธิปัตย์ ได้ร่วมกันศึกษาความแตกต่างทางพันธุกรรมเฉพาะตำแหน่งที่เรียกว่า “single nucleotide polymorphisms” หรือ “SNP” บนจีโนมของผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 260 ราย ที่มีรายงานมาก่อนหน้าว่าอาจเกี่ยวข้องกับอาการลองโควิด โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็นสองกลุ่มตามความรุนแรงของอาการโควิด-19 ของพวกเขา คือกลุ่มมีอาการเล็กน้อยและกลุ่มอาการรุนแรงและบางคนมีการพัฒนาอาการไปเป็นลองโควิด โดยตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ Emerging Microbes & Infections เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2566


หลังจากวิเคราะห์ความแตกต่างทางพันธุกรรมของผู้ติดเชื้อ 260 คน ทีมวิจัยพบว่า “SNP” จำนวน 9 ตำแหน่งจาก 9 ยีนอาจเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นในการเกิดอาการลองโควิด การเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมเหล่านี้คาดว่าไปเกี่ยวข้องกับโปรตีนบางชนิดที่ช่วยให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ของเรา การตอบสนองของภูมิคุ้มกัน และการอักเสบ


นอกจากนี้ทีมวิจัยยังได้พบ “SNP หนึ่งตำแหน่ง” ที่อาจเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงที่ลดลงของอาการลองโควิด


การทำความเข้าใจปัจจัยทางพันธุกรรมเหล่านี้สามารถช่วยในการพัฒนาการรักษาที่ดีขึ้นและการบริหารจัดการอาการลองโควิดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น


รายละเอียดของกลุ่มยีนที่หากมีการกลายพันธุ์ในบางตำแหน่งอาจเพิ่มความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะเกิดอาการลองโควิด ได้แก่ยีน


LZTFL1 กลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง rs10490770
LZTFL1 กลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง rs11385942
LZTFL1 กลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง rs17713054
NADSYN1 กลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง rs12785878
PLXNA4 กลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง rs1424597
IL10 กลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง rs1800896
ACE2 กลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง rs2285666
PEDS1 กลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง rs6020298 และ
IL10RB กลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง rs8178562


โดยยีน LZTFL1 มีหน้าที่ในการต่อสู้กับการติดเชื้อไวรัส ยีน NADSYN1 มีหน้าที่ในการซ่อมแซมเซลล์ที่เสียหาย ยีน PLXNA4 มีหน้าที่ในการช่วยให้เซลล์สื่อสารกัน ยีน IL10 มีหน้าที่ในการลดการอักเสบ ยีน ACE2 เป็นยีนที่ไวรัสโควิด-19 ใช้ในการเข้าสู่เซลล์ ยีน PEDS1 มีหน้าที่ในการควบคุมการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน และยีน IL10RB มีหน้าที่ในการควบคุมการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อ ยีนนี้ผลิตโปรตีนที่เรียกว่า IL10RB ซึ่งทำหน้าที่ยับยั้งสารไซโตไคน์ IL-10 ที่ควบคุมการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน ป้องกันไม่ให้เซลล์ภูมิคุ้มกันตอบสนองมากเกินไปต่อการติดเชื้อและทำให้เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อ


ที่น่าสนใจคือยีน IL10RB เองหากไม่กลายพันธุ์ (wild type) จะกลับทำหน้าที่ผู้พิทักษ์ ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดอาการลองโควิด ยิ่งไปกว่านั้นยีนเหล่านี้ยังมีบทบาทสำคัญต่อจำนวนครั้งในการเกิดอาการในผู้ป่วยลองโควิดด้วย!


การวิจัยในลักษณะนี้และอีกหลายร้อยชิ้นจากนักวิจัยทั่วโลกถือเป็นก้าวสำคัญในการที่จะทำให้เราเข้าใจว่าทำไมโควิด-19 จึงส่งผลกระทบต่ออาการของผู้ติดเชื้อที่แตกต่างกัน โดยการใช้วิทยาศาสตร์ไขความลับทางพันธุกรรมเหล่านี้ จะช่วยให้นักวิจัยทั่วโลกสามารถนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปพัฒนาการป้องกันหรือปรับปรุงการรักษาอาการลองโควิดได้ดียิ่งขึ้น


ก้าวต่อไปที่ทีมวิจัยจากศูนย์จีโนมฯ รพ. รามาธิบดีกำลังดำเนินการคือถอดรหัสพันุกรรมยีนทั้งหมด 25,000 ยีนที่ประกอบเป็นจีโนมมนุษย์! ในการทำเช่นนี้ ทีมวิจัยจะใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า "whole exome sequencing" เทคนิคล้ำสมัยนี้จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถวิเคราะห์ทุกส่วนของยีนที่ทำหน้าที่สร้างโปรตีน ในร่างกายของเรา


ทีมนักวิจัยไทยจากศูนย์จีโนมฯได้เข้าร่วมในโครงการวิจัยนานาชาติ “COVID Human Genetic Effort” ซึ่งเป็นกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีเป้าหมายเพื่อค้นหาพันธุกรรมและภูมิคุ้มกันของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องทางคลินิกกับการติดเชื้อ SARS-CoV-2 โดยจะนำข้อมูลจีโนมประชากรไทยเปรียบเทียบกับจีโนมประชากรทั่วโลกที่ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งที่ไม่มีอาการรุนแรง กลุ่มที่มีอาการรุนแรง และกลุ่มที่มีอาการลองโควิด ในลักษณะเดียวกับการถอดรหัสพันธุกรรมจีโนมไวรัสโคโรนา 2019 และเปรียบเทียบข้อมูลจีโนมไวรัสโคโรนา 2019 จากทั่วโลกร่วมกันจากฐานข้อมูลจีเสส (GISAID)


การติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แสดงให้เห็นถึงความผันแปรทางคลินิกระหว่างบุคคลอย่างมาก ตั้งแต่การติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการไปจนถึงเกิดโรคร้ายรุนแรง แม้หายแล้วยังมีอาการลองโควิดติดตามมา บทบาทของพันธุกรรมมนุษย์การตอบสนองทางคลินิกต่อไวรัสขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน ดังนั้นการศึกษาใน “กลุ่มประชากรซึ่งยังไม่เคยติดเชื้อโควิด-19 เลยแม้จะมีเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย” เปรียบเทียบกับ “กลุ่มผู้ป่วยที่อายุน้อยสุขภาพดีแต่กลับติดเชื้อได้ง่ายและมีความรุนแรงคุกคามถึงชีวิต” จะเป็นประโยชน์อย่างมาก


สรุปคือ มีความจำเป็นที่จะต้องศึกษา “พันธุกรรมของมนุษย์” ที่ส่งผลต่อการติดเชื้อและการเกิดโรคโควิด-19 ควบคู่ไปกับการศึกษา “พันธุกรรมการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19”
https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/37497655/
https://www.covidhge.com/




ที่มา Center for Medical Genomics

ภาพจาก AFP

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง