ปิดดีล "Prada" ซื้อกิจการ "Versace" สร้างอาณาจักรแฟชั่นอิตาลี l การตลาดเงินล้าน

หลังเป็นกระแสว่า Prada Group จะซื้อ Versace ตั้งแต่ต้นปี ล่าสุด Prada บรรลุข้อตกลงมูลค่า 1.375 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เข้าซื้อกิจการ Versace แบรนด์แฟชั่นคู่แข่งรายย่อยจาก Capri Holdings เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดยรวมถึงหนี้สินของ Versace ด้วย ถือเป็นการรวมตัวของสองชื่อชั้นนำในวงการแฟชั่นอิตาลี
Prada ตั้งเป้าขยายธุรกิจต่อเนื่อง แม้จะมีภาวะชะลอตัวของความต้องการสินค้าแบรนด์หรู ขณะที่ Versace กลับประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่องในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา การควบรวมครั้งนี้ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมแฟชั่นอิตาลี ท่ามกลางการแข่งขันกับกลุ่มบริษัทหรูฝรั่งเศสยักษ์ใหญ่อย่าง LVMH เจ้าของ Louis Vuitton
ดีลนี้เกิดขึ้นหลังจากการประกาศเมื่อวันที่ 13 มีนาคม ว่า Donatella Versace จะก้าวลงจากตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของแบรนด์ที่ก่อตั้งโดยพี่ชายของเธอ Gianni Versace
ราคาที่ Prada ตกลงจ่ายถือว่าต่ำกว่าราคา 2.15 พันล้านดอลลาร์ (สองพันหนึ่งร้อยห้าสิบล้านดอลลาร์สหรัฐ) รวมภาระหนี้ ที่ Capri ซึ่งขณะนั้นยังใช้ชื่อ Michael Kors เคยจ่ายเมื่อเข้าซื้อ Versace ในปี 2018 จากครอบครัว Versace และกลุ่มทุน Blackstone
ก่อนหน้านี้ สื่อหลายแห่งคาดการณ์มูลค่าการซื้อขายไว้ราว 1.7 พันล้านดอลลาร์ แต่ตัวเลขดังกล่าวมีการปรับลดหลังตลาดหุ้นทั่วโลกระส่ำจากประเด็นภาษี
John Idol ซีอีโอของ Capri กล่าวถึงดีลนี้ว่า ข้อตกลงนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้น เสริมความแข็งแกร่งด้านการเงิน และสนับสนุนการเติบโตของ Michael Kors และ Jimmy Choo ในอนาคต
ทั้งนี้ หุ้นของ Capri ลดลงร้อยละ 3 ในการซื้อขายช่วงเช้าที่นิวยอร์ก และลดลงไปราวร้อยละ 24 แล้วในปีนี้
ดีลนี้เกิดขึ้นในช่วงที่มีการชะลอการควบรวมกิจการและการเสนอขายหุ้น IPO ท่ามกลางความปั่นป่วนในตลาดหุ้นโลก และความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการขึ้นภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ในเดือนนี้
นับตั้งแต่ Prada เข้าซื้อ Helmut Lang และ Jil Sander ช่วงปลายยุค 90 ซึ่ง Bertelli เคยเรียกว่า “ความผิดพลาดเชิงกลยุทธ์” บริษัทก็หลีกเลี่ยงการควบรวมกิจการครั้งใหญ่เป็นส่วนใหญ่
Prada เริ่มต้นจากร้านขายเครื่องหนังที่ก่อตั้งในมิลานโดยคุณปู่ของ Miuccia Prada ในปี 1913
ขณะที่ Versace ก่อตั้งโดย Gianni Versace ในมิลานเมื่อปี 1978 และกลายเป็นผู้นำด้านดีไซน์ภายใต้ Donatella หลังจากการเสียชีวิตของ Gianni ที่ไมอามีในปี 1997
Prada ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง เติบโตอย่างรวดเร็วภายใต้การนำของ Miuccia และ Bertelli โดยมีแบรนด์อื่นในเครืออย่าง Miu Miu และรองเท้า Church's อยู่ด้วย