รีเซต

"โอไมครอน" ทำผู้ป่วยโควิด ติดเชื้อซ้ำมากกว่าเบต้า-เดลต้าถึง 2.4 เท่า

"โอไมครอน" ทำผู้ป่วยโควิด ติดเชื้อซ้ำมากกว่าเบต้า-เดลต้าถึง 2.4 เท่า
TNN ช่อง16
5 ธันวาคม 2564 ( 13:36 )
67
"โอไมครอน" ทำผู้ป่วยโควิด ติดเชื้อซ้ำมากกว่าเบต้า-เดลต้าถึง 2.4 เท่า

วันนี้ (5 ธค.64) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก อัปเดตสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระบุว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 523,641 คน ตายเพิ่ม 5,597 คน รวมแล้วติดไป รวม 265,683,949 คน เสียชีวิตรวม 5,263,675 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมัน สหราชอาณาจักร และรัสเซีย จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 92.99 ของทั้งโลก 

ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 94.58 ล่าสุด จำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นมากถึงร้อยละ 65.84 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่ม คิดเป็นร้อยละ 60.4 เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก

สำหรับสถานการณ์ประเทศไทย

เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 5,896 คน สูงเป็นอันดับ 19 ของโลก หากรวม ATK อีก 964 คน ก็ยังเป็นอันดับ 19 ของโลก ยอดรวม ATK จะเป็นอันดับ 4 ของเอเชีย รองจากตุรกี เวียดนาม และอินเดีย

อัปเดต "โอไมครอน"

ข้อมูลจากการติดตามสายพันธุ์ที่ระบาดในแอฟริกาใต้ของ GISAID สะท้อนภาพที่ชัดเจนว่า "โอไมครอน" นั้น ครองการระบาดแทนที่เดลต้าอย่างรวดเร็ว การติดตามลักษณะการติดเชื้อนั้น 

ชี้ให้เห็นสอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ว่า มีการติดเชื้อ "โอไมครอน" ในผู้ที่เคยมีประวัติติดเชื้อโรคโควิด-19 มาก่อน หรือที่เรียกว่า การติดเชื้อซ้ำ (Reinfection) มากกว่าการระบาดของสายพันธุ์ก่อน ๆ ไม่ว่าจะเป็นเบต้า หรือเดลต้าก็ตาม ถึงประมาณ 2.4 เท่า


ข้อมูลจาก Trevor Bedford, FHCRC และทีมนักวิชาการอื่น ๆ ชี้ให้เห็นว่า การระบาดในแอฟริกาใต้ของ "โอไมครอน" นั้น เดิมเดลต้าครองพื้นที่อยู่ แต่อยู่ในช่วงขาลงก็จริง แต่การที่ "โอไมครอน" ระบาดขยายวงอย่างรวดเร็ว ก็แสดงถึงศักยภาพการแพร่เชื้อของมันที่เหนือกว่าเดลต้า

โดยจะเกิดจากคุณสมบัติในการแพร่ง่ายขึ้น (R0 มากขึ้น) หรือจะมาจากความสามารถในการดื้อต่อภูมิคุ้มกัน (ไม่ว่าจะจากวัคซีน และ/หรือจากที่เคยติดเชื้อมาก่อน) ก็ตาม ซึ่งคงต้องรอผลการวิจัยว่าจะมาจากเหตุใดกันแน่ และเหตุใดมากว่ากัน

รายงานล่าสุดจาก Medical Research Council ของประเทศแอฟริกาใต้ พยายามสรุปลักษณะผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ "โอไมครอน" ในช่วงสองสัปดาห์แรกของการระบาด (14-29 November 2021) ในอำเภอ Tshwane ซึ่งอยู่ในจังหวัด Gauteng ที่มีการระบาดมาก 

ชี้ให้เห็นข้อมูลว่า คนติดเชื้อมีอายุเฉลี่ยน้อยกว่าเดิม โดยร้อยละ 80 อายุน้อยกว่า 50 ปี และมีถึง 19% (ราว 1 ใน 5 ของทั้งหมด) ที่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี

ทั้งนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ มีระยะเวลาในการนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลค่อนข้างสั้น 2.8 วัน ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 8.5 วันจากระลอกก่อน ๆ ในรอบ 18 เดือนที่ผ่านมา และมีอัตราการป่วยโดยต้องการใช้ออกซิเจนราวร้อยละ 21 ซึ่งลดลงกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาดังกล่าว ยังไม่พบว่ามีอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจำเป็นจะต้องติดตามดูต่อไป เนื่องจากนี่เป็นเพียงภาพโดยคร่าวเพียงแค่สองสัปดาห์แรกของการระบาด และการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตนั้น อาจต้องใช้เวลาประเมินหลังจากนี้ไปอีกหลายสัปดาห์

สำหรับประชาชนไทยขอให้ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดเป็นกิจวัตร ใส่หน้ากากเสมอ และเว้นระยะห่างจากคนอื่นเกินหนึ่งเมตร



ข้อมูลจาก Thira Woratanarat

ภาพจาก AFP 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง