รีเซต

Heat Stroke โรคลมร้อน อันตรายถึงชีวิต ถ้าไม่ป้องกัน

Heat Stroke โรคลมร้อน อันตรายถึงชีวิต ถ้าไม่ป้องกัน
TNN ช่อง16
4 มีนาคม 2567 ( 22:28 )
34

โรคลมร้อนหรือฮีทสโตรก (Heat Stroke) เป็นภาวะวิกฤตที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะ หน้ามืด เพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัว หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ช็อก บทความให้ความรู้โดย นพ. กิตติภูมิฐ์ กวินโชติไพศาล แพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ศูนย์บริการผู้ป่วยฉุกเฉินและอุบัติเหตุ  (Emergency Room)   



โรงพยาบาลนวเวช ได้อธิบายความรู้ในเรื่องของ โรคลมร้อนหรือฮีทสโตรก Heat Stroke ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้     ให้มีอาการหรือร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนออกได้ อาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อหัวใจ สมอง ไต และกล้ามเนื้อ ซึ่งหากได้รับการรักษาที่ล่าช้า ก็มีอันตรายถึงชีวิตได้


อาการของโรคลมร้อน

 

ไข้สูง 40 องศาเซลเซียส

ปวดศีรษะ หน้ามืด อ่อนเพลีย

อาการผิดปกติทางระบบประสาท เช่น ชักเกร็งกระตุก เพ้อ เดินเซ พูดจาสับสน หมดสติ

อาการผิดปกติทางระบบไหลเวียนโลหิต ทำให้ความดันโลหิตต่ำ หายใจเร็ว 

มีการคั่งของของเหลวในปอด หัวใจเต้นผิดจังหวะ

อาการผิดปกติทางผิวหนัง ไม่สามารถระบายความร้อนได้ ไม่มีเหงื่อออก

อาการผิดปกติทางระบบขับถ่าย อาจพบปัสสาวะสีเข้มเนื่องจากภาวะกล้ามเนื้อสลายตัว 

ทำให้เกิดภาวะไตวายตามมาได้


สาเหตุ


 1. Classical Heat Stroke เกิดจากความร้อนในสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่มีมากเกินไป โดยมักเกิดในช่วงที่มีอากาศร้อน อยู่ในบ้านที่ปิดมิดไม่มีที่ระบายอากาศ พบบ่อยในผู้ที่มีอายุมากและมีโรคเรื้อรัง ไม่สามารถระบายความร้อนได้ด้วยตัวเอง เช่น ไม่สามารถไปในพื้นที่ที่เย็น หรือไม่สามารถหาน้ำดื่มเพื่อระบายความร้อนได้   อาการที่สำคัญ คือ อุณหภูมิร่างกายสูง ไม่มีเหงื่อ 


 2. Exertional Heat Stroke เกิดจากการออกกำลังที่หักโหมเกินไป มักจะเกิดในหน้าร้อนโดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงานและนักกรีฑา อาการคล้ายกับ Classical Heat Stroke โดยที่กลุ่มผู้ป่วยประเภทนี้จะมีเหงื่อออกมากต่อมาเหงื่อจะหยุดออก นอกจากนี้ยังพบการเกิดการสลายเซลล์กล้ามเนื้อลาย โดยจะมีอาการแทรกซ้อน ได้แก่ ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง ระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูง ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ และพบไมโอโกลบินในปัสสาวะ เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน หมดสติ ชักเกร็งกระตุก



การปฐมพยาบาล


หากผู้ป่วยหมดสติ เรียกแล้วไม่ตอบสนอง ไม่หายใจ  ให้ทำการโทรเรียกรถพยาบาล และทำการนวดหัวใจ (CPR) 

หากผู้ป่วยที่ยังรู้สึกตัวที่ปกติอยู่ ให้นำผู้ป่วยเข้ามาในที่ร่ม ดื่มน้ำให้เยอะ ๆ รีบลดอุณหภูมิร่างกาย  ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกตัว คอ รักแร้ ข้อพับ ขาหนีบ เปิดพัดลมเพื่อระบายอากาศ  ร่วมกับการใช้การพ่นละออกน้ำเพื่อระบายความร้อน


การป้องกัน

 

ในสภาพอากาศที่ร้อน ควรเตรียมออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายปรับสภาพให้เคยชินกับ  สภาพอากาศที่ร้อน โดยควรออกกำลังกายกลางแจ้ง อย่างน้อย 1-2 ชั่วโมง 4 วันต่อสัปดาห์

ควรดื่มน้ำบ่อยๆ วันละ 6-8 แก้วเป็นอย่างน้อย หากต้องทำงานอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อน  หรือออกกำลังกายในสภาพที่ร้อน ควรดื่มใน้ำอย่างน้อย 1 ลิตรต่อชั่วโมง

หากจำเป็นต้องอยู่ในอาคารที่ร้อน ควรเปิดหน้าต่าง ประตู เพื่อระบายอากาศ เปิดพัดลม  อย่าอยู่ในที่อับหรือห้องที่ปิด

สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน บาง น้ำหนักเบา เพื่อทำให้สามารถระบายความร้อนได้ดี

หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดหรือออกกำลังกายกลางแจ้งในวันที่มีอากาศร้อนจัด

หลีกเลี่ยงทานยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก เนื่องจากทำใหร่างกายขับเหงื่อได้น้อยลง

หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และยาเสพติดทุกชนิด

เด็กเล็กและผู้สูงอายุที่ดูแลตัวเองไม่ จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ต้องอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ระบายอากาศได้ดี ไม่ปล่อยให้อยู่ในรถที่ปิดสนิทตามลำพัง


“โรงพยาบาลนวเวช” มุ่งมั่นให้บริการทางการแพทย์ที่ดี และเข้าถึงง่าย (Accessible Quality Healthcare) พร้อมดูแลสุขภาพของทุกคนอย่างเข้าอกเข้าใจ ด้วยบริการทางการแพทย์ที่ครอบคลุมทุกช่วงวัย และทีมแพทย์เฉพาะทาง หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามรายละเอียดและขอรับคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์บริการผู้ป่วยฉุกเฉินและอุบัติเหตุ (Emergency Room) โรงพยาบาลนวเวช โทร. 1507 I Line: @navavej

ข่าวที่เกี่ยวข้อง