นวัตกรรมระบบนำส่งยาจากโปรตีนไหมไทย | TNN Tech Reports
เทคโนโลยีด้านการแพทย์และสุขภาพ ถือเป็นหนึ่งเทรนด์ที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก ดังจะเห็นได้จากการเติบโตของธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
โดยข้อมูลจากสถาบันด้านสุขภาพสากล (The Global Wellness Institute - GWI) ประเมินว่าอุตสาหกรรมเวลเนสของโลก ระหว่างปี 2566-2568 มีโอกาสเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยปี 2568 จะมีมูลค่ารวมสูงถึง 6.99 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 258 ล้านล้านบาท
ขณะที่นวัตกรรมทางการแพทย์ หรือ MedTech ก็เติบโตขึ้นเช่นเดียวกัน โดยส่วนหนึ่งมาจากการนำเทคโนโลยีเชิงลึก หรือ Deep Tech ที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนาเป็นระยะเวลานานมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบริการทางการแพทย์ให้กับผู้ป่วย
เช่นเดียวกับในประเทศไทยที่ก็มีการเติบโตในทิศทางเดียวกัน โดยหนึ่งในตัวอย่างของนวัตกรรมทางการแพทย์ก็คือ ระบบนำส่งยาจากโปรตีนไหมไทย ภายใต้การพัฒนาของ เอนจินไลฟ์ บริษัทสตาร์ตอัปของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นวัตกรรมระบบนำส่งยาจากโปรตีนไหมไทย
โดยระบบนำส่งยานี้ หากจะอธิบายได้ง่าย ๆ ให้ลองนึกภาพตาม ว่าขณะฉีดยาเปรียบเสมือนการเดินทาง ตัวยาคือผู้โดยสารที่จะต้องเดินทางไปในร่างกายเรา ส่วนระบบนำส่งยาก็เปรียบได้กับยานพาหนะที่จะทำหน้าที่ห่อหุ้มยาไว้ แล้วเดินทางเข้าไปพร้อมกันเมื่อถูกฉีดเข้าไปในร่างกาย
ซึ่งหน้าที่ของยานพาหนะ หรือระบบนำส่งยาก็คือการพายาไปถึงเป้าหมาย เพื่อให้ยาตอบโจทย์การทำให้ยารักษาโรคต่าง ๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ด้วยช่องว่างของการพัฒนาระบบให้ยาเพื่อเป้าหมายในการรักษาที่มีประสิทธิภาพและตรงจุดมากขึ้น จึงเป็นที่มาของการพัฒนานวัตกรรมระบบนำส่งยาจากโปรตีนไหมไทย ผลงานจากนักวิจัยไทย
ทำไมต้องเป็นไหมไทย ?
สารสำคัญในไหมไทย ที่สกัดและนำมาใช้เป็นส่วนประกอบหลักในระบบนำส่งยาคือ โปรตีนที่มีชื่อว่า ไฟโบรอิน ซึ่งจากการศึกษาพบว่า โปรตีนไฟโบรอินมีคุณสมบัติเด่นในทางการแพทย์หลายอย่าง คือ
มีความเข้ากันได้กับเนื้อเยื่อร่างกายอย่างปลอดภัย
ย่อยสลายในร่างกายได้
อัตราการย่อยสลายของโปรตีนไฟโบรอินค่อนข้างช้า สามารถปรับสูตรการผลิตให้เหมาะกับโรคที่ต้องการเวลาในการรักษา เพื่อให้ยาออกฤทธิ์เป็นระยะเวลานาน
นวัตกรรมระบบนำส่งยาสามารถทำออกมาให้อยู่ในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้งาน เช่น แบบน้ำ แบบไฮโดรเจล หรือ มีความหนืดมากกว่าน้ำแต่ยังคงฉีดผ่านเข็มฉีดยาได้อยู่ แบบผง รวมไปถึงในรูปแบบแผ่นแปะที่ส่งยาซึมผ่านผิวหนัง
ขณะที่กระบวนการที่จะได้มาซึ่งนวัตกรรมระบบนำส่งยาจากโปรตีนไหมไทย จะประกอบด้วยเทคโนโลยีใน 3 ส่วนหลัก คือ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
ต้นน้ำ
จะประกอบไปด้วย การฝึกสอนทักษะการเลี้ยงไหมในโรงเรือนให้แก่เกษตรกร จนกระทั่งหนอนไหมผลิตรังไหม โดยอยู่ภายใต้การควบคุมสภาวะที่เหมาะสม เช่น มีระบบ IoT ควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น แสง เพื่อให้มีความสะอาด ปลอดภัย ปราศจากโรค ได้รังไหมที่มีคุณสบัติเหมาะสำหรับใช้งานทางการแพทย์
กลางน้ำ
จะเกิดข้ึนภายในโรงงานต้นแบบ เป็นกระบวนการที่นำรังไหมมาต้มเพื่อแยกส่วนของกาวไหม ซึ่งเป็นส่วนที่จะละลายในน้ำเดือด และสกัดเอาเฉพาะส่วนของเส้นใยไหมที่มีความแข็งแรง
จากนั้นนำไปสกัดด้วยสูตรเฉพาะเพื่อให้ได้ส่วนของโปรตีนไฟโบรอิน ซึ่งเป็นโปรตีนหลักที่มีอยู่ในเส้นใยไหมประมาณ ร้อยละ 70 เป็นเส้นใยส่วนเดียวกับที่เกษตรกรนำไปถักทอเป็นผ้าไหมนั่นเอง จนได้เป็นสารละลายไฟโบรอิน ที่สามารถนำไปทำวัตถุดิบตั้งต้นของผลิตภัณฑ์ในรูปแบบอื่น ๆ
ปลายน้ำ
เป็นความร่วมมือกับบริษัทยา เพื่อรับโจทย์มาว่าต้องการจะให้ตัวยานั้นอยู่ในร่างกายผู้ป่วย หรือสามารถใช้งานได้เป็นระยะเวลานานเท่าไหร่ แล้วจึงนำไปสู่การใช้เทคโนโลยีเฉพาะเพื่อพัฒนาระบบนำส่งยาจากตัวสารละลายโปรตีนไฟโบรอินออกมาในรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย
พูดง่าย ๆ ว่าเป็นการฉีดยาแบบเดิม แต่ว่าระบบนำส่งยานี้จะเข้าไปในร่างกายพร้อมกันกับตัวยา หรือสารออกฤทธิ์ต่าง ๆ แล้วระบบนำส่งยานี้ก็จะค่อย ๆ ปลดปล่อยยาหรือสารออกฤทธิ์ตามการควบคุมในการผลิตนั่นเอง
โดยระยะเวลาการปลดปล่อยยาที่ห่อหุ้มด้วยผลิตภัณฑ์นำส่งยาจากโปรตีนไหมไทย สามารถควบคุมได้หลากหลาย เช่น ถ้าเป็นลักษณะของเจลฉีด ควบคุมการปล่อยตัวยาได้ตั้งแต่ 2 สัปดาห์ไปจนถึงหลายเดือน หรือถ้าอยู่ในรูปแบบแผ่นแปะ สามารถปรับการปลดปล่อยยาได้ระดับหลักชั่วโมงจนถึง 1 วัน
ครบจบใน 1 เดือน !!
ซึ่งกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ไปจนถึงปลายน้ำ ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์นำส่งยาจากโปรตีนไหมไทยจะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน
ปัจจุบัน นวัตกรรมระบบนำส่งยา อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาสูตรร่วมกับยาอีกหลายชนิด และบางผลิตภัณฑ์อยู่ในขั้นตอนอนุญาตขึ้นทะเบียนจาก อย. คาดว่าจะมีการวางจำหนายในท้องตลาดได้ในช่วงปีหน้า ส่วนราคาก็จะมีหลากหลาย แต่แน่นอนว่าหากว่ามีการผลิตในปริมาณมาก ราคาก็จะลดลงตามกลไกของตลาด
เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ?
นวัตกรรมระบบนำส่งยาจากโปรตีนไหมไทย นอกจากจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้ไหมไทย ยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอย่างน้อย 3 เท่าตัว เมื่อเทียบกับเกษตรกรที่เลี้ยงไหมเป็นสิ่งทอ
นอกจากนี้ ยังถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากงานวิจัย ซึ่งไม่เพียงอยู่ในรายงานวิชาการเท่านั้น แต่ยังได้รับการส่งเสริมและผลักดัน จนนำไปสู่การพัฒนาที่สามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ในขณะที่ผู้ประกอบการ หรือบริษัทยาเองก็จะมีโอกาสและทางเลือกในการพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ ๆ จากโปรตีนไหมไทยได้
มากไปกว่านั้น นวัตกรรมระบบนำส่งยาจากโปรตีนไหมไทย ยังนับเป็นการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านการแพทย์ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดีขึ้น เจ็บตัวน้อยลง รวมถึงอาจช่วยลดผลข้างเคียงจากปริมาณยาที่ลดลง เป็นหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วย และระบบสาธารณสุขไทยในอนาคต