รีเซต

สยบดรามา! บูรณะรูปปั้นยักษ์โบราณ 500 ปีที่วัดอุโมงค์ ศิลปากรแจงต้อง ‘ฟื้นคืนสภาพ’

สยบดรามา! บูรณะรูปปั้นยักษ์โบราณ 500 ปีที่วัดอุโมงค์ ศิลปากรแจงต้อง ‘ฟื้นคืนสภาพ’
TNN ช่อง16
10 มิถุนายน 2567 ( 19:35 )
26
สยบดรามา! บูรณะรูปปั้นยักษ์โบราณ 500 ปีที่วัดอุโมงค์ ศิลปากรแจงต้อง ‘ฟื้นคืนสภาพ’

จากกรณีดรามาการรูปปั้นยักษ์โบราณอายุเก่าแก่กว่า 500 ปี  ที่ตั้งอยู่บริเวณทางขึ้นสู่อุโมงค์ของวัด  ซึ่งในปัจจุบันถูกบูรณะโบกปูนทับใหม่ ทำให้ของโบราณกลายเป็นลักษณะของรูปปั้นมีขาวที่ดูเหมือนของใหม่มากกว่าของเก่าเกิดเป็นกระแสไวรัลที่แชร์กันในโลกโซเชียลในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา โดย เจ้าอาวาสวัดระบุว่าเป็นการบูรณะของสำนักศิลปากรที่ 7 เนื่องจากรูปปั้นทั้งสององค์ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุ 



ล่าสุดในวันนี้ นายเทอดศักดิ์ เย็นจุระ ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ชี้แจงประเด็นที่เกิดขึ้น ผ่านทางโทรศัพท์ว่าการบูรณะมีขึ้นหลังจากที่ก่อนหน้านี้ผู้ว่าราชการเชียงใหม่ ได้ไปพบรูปปั้นยักษ์ทวารบาลที่วัดอุโมงค์ และเห็นว่าอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม จึงประสานแจ้งมาที่สำนักศิลปากรที่ 7 เพื่อเข้าตรวจสอบและหาแนวทางในการบูรณะ เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานที่สำคัญของเชียงใหม่ 


ต่อมาสำนักศิลปากรที่ 7 เข้าตรวสอบ พบรูปปั้นยักษ์ทั้งสององค์เป็นประติมากรรมปูนปั้นแบบลอยตัวทวาลบาร หรือ ยักษ์เฝ้ารักษาประตูทางเข้าสู่พระธาตุวัดอุโมงค์ เป็นงานปูนปั้นที่ใช้วัสดุก่ออิฐถือปูน เป็นโครงสร้างหลักและปั้นปูนขึ้นหุ่นองค์ ก่อนที่จะตกแต่งลวดลายด้วยปูนหมัก ไม่สามารถทราบอายุการสร้างได้ รูปแบบทางศิลปกรรมแบบพม่า – ไทใหญ่ โดยพบว่าทั้งสององค์อยู่ในสภาพเสียหายหนัก ปูนปั้นเสื่อมสภาพ ไม่ยึดเกาะกับโครงสร้างก่ออิฐภายใน ปูนปั้นโดยทั่วองค์มีรอยแตกร้าว และเนื่องจากตั้งอยู่ในพื้นที่กลางแจ้ง และอยู่ในสภาพป่าดิบชื้น ทำให้น้ำฝนไหลซึมเข้าสู่ด้านในโครงสร้าง ทำให้แกนอิฐก่อขึ้นรูปองค์ภายในสึกกร่อน มีเชื้อราดำ ตะไคร่น้ำและวัชพืช ขึ้นเกือบทั้งองค์ ผิวปูนปั้นปรากฏวัสดุมวลรวมหยาบ (กรวด เม็ดทราย) ลอยตัวขึ้นมาจากเนื้อปูนปั้น


หลังจากนั้นจึงมีการประเมินแนวทางในการบูรณะ โดยมีทางเลือกสองทางคือการบูรณะ โดยการอนุรักษ์รักษาสภาพ หากเลือกแนวทางนี้ จะรักษาสภาพปัจจุบันก่อนการอนุรักษ์ไว้ได้ในระยะหนึ่ง แต่หากมีเหตุการณ์ในอนาคตที่มีความเร่งในการพัง ชำรุด เช่น ฝนตกหนัก แผ่นดินไหว ขาดการดูแลรักษา ปล่อยให้วัชพืชขึ้น ก็จะเป็นปัจจัยที่เร่งการพังชำรุดเร็วขึ้น



 ส่วนแนวคิดที่ 2 คือการบูรณะโดยการ “ฟื้นคืนสภาพ” เมื่อพิจารณาการสภาพก่อนการบูรณะ ซึ่งมีหลักฐานทางศิลปกรรมหลงเหลืออยู่มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์  ประกอบกับการวิเคราะห์การเสื่อมสภาพของวัสดุเดิม สภาพแวดล้อมโดยรอบ ปัจจัยความเสี่ยงอื่นในอนาคต ที่จะเร่งให้เกิดความเสียหาย การใช้ประโยชน์ของโบราณสถานในปัจจุบัน คติความเชื่อ และในอดีตที่ผ่านมา  มีการเลือกแนวทางการบูรณะแบบฟื้นคืนสภาพนี้มาแล้วหลายแห่ง เช่น องค์พระมงคลบพิตรที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา องค์พระอจนะวัดศรีชุม จังหวัดสุโขทัย จากเหตุผลและการประเมินนี้แล้ว จึงเลือกที่จะดำเนินการบูรณะในแนวทางนี้


นายเทอดศักดิ์ กล่าวอีกว่า การเลือกบูรณะด้วยการฟื้นคืนสภาพ จะช่วยให้เกิดความมั่นคงแข็งแรงและป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายหนักไปกว่านี้ ส่วนภาพที่ถูกเผยแพร่ในสื่อ ที่เป็นภาพก่อนและหลังบูรณะ อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ โดยพบว่ามีการนำภาพที่องค์ซ้าย ที่ยังไม่ได้บูรณะไปเปรียบเทียบกับองค์ขวา ที่มีการบูรณะเสร็จแล้ว จึงทำให้ดูไม่เหมือนแบบเดิม ทั้งนี้ยืนยันการบูรณะมีการวิเคราะห์อย่างละเอียดรอบคอบแล้ว 



ข้อมูลจาก: ผู้สื่อข่าวภูมิภาคจังหวัดเชียงใหม่  

ภาพจากผู้สื่อข่าวภูมิภาคจังหวัดเชียงใหม่  



ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง