รีเซต

กนอ.ถอดบทเรียน ป้องกันเหตุซ้ำ 'เพลิงไหม้มาบตาพุด'

กนอ.ถอดบทเรียน ป้องกันเหตุซ้ำ 'เพลิงไหม้มาบตาพุด'
TNN ช่อง16
19 พฤษภาคม 2567 ( 18:55 )
102

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้จัดประชุมทบทวนหลังการปฏิบัติงาน (After Action Review: AAR) ระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อวิเคราะห์และถอดบทเรียนจากเหตุการณ์เพลิงไหม้ถังเก็บวัตถุดิบสาร C9+ ของบริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ในท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 150 คนจาก 42 หน่วยงาน ประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานราชการ หน่วยงานท้องถิ่น ภาคเอกชน ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม ตลอดจนผู้บริหารและพนักงาน กนอ.


นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันสะท้อนถึงจุดแข็ง จุดอ่อน และอุปสรรคในการปฏิบัติงานภายใต้แผนเผชิญเหตุ แผนอพยพ และแผนช่วยเหลือ อันจะนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขและยกระดับมาตรการในการป้องกันการเกิดเหตุซ้ำ โดย กนอ.ได้กำหนดมาตรการสำคัญ 4 ด้านที่จะบังคับใช้อย่างเข้มงวด ประกอบด้วย


1) มาตรการป้องกันก่อนเกิดเหตุ เน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วมเชิงป้องกันและปรับระเบียบต่างๆ ให้ตรงกับความคาดหวังของทุกภาคส่วน เพื่อป้องกันเหตุและควบคุมความเสียหายหากเกิดเหตุซ้ำ 


2) มาตรการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน มุ่งเน้นการบูรณาการแผนฉุกเฉินกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยกระดับการเตรียมความพร้อมของวัสดุและอุปกรณ์การตอบโต้เหตุ 


3) มาตรการสื่อสารภาวะวิกฤติ เพื่อชี้แจงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ทันท่วงที ลดความวิตกกังวลของทุกภาคส่วน และบริหารจัดการวิกฤตได้อย่างมีประสิทธิภาพ


4) มาตรการเยียวยาฟื้นฟู เพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงเป็นธรรม รวมถึงการเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว 


นายวีริศ กล่าวด้วยว่า กนอ.จะบังคับใช้มาตรการเหล่านี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะการปรับปรุงระบบแจ้งข่าว แผนอพยพ แผนซ้อมฉุกเฉิน ซึ่งจะต้องครอบคลุมถึงโรงงานใกล้เคียงที่อาจมีท่อก๊าซเชื่อมโยงกันด้วย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการประกอบกิจการและสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสมดุลและยั่งยืน


ในท้ายที่สุด ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวขอบคุณหน่วยงานที่เข้าร่วมและสนับสนุนการระงับเหตุ การอพยพ และการบริหารจัดการในครั้งนี้ รวมถึง บริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล ที่ร่วมแบ่งปันข้อมูลและประสบการณ์จากเหตุการณ์ดังกล่าวอันจะเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงมาตรการเพื่อป้องกันเหตุซ้ำ เพื่อพัฒนาการประกอบกิจการด้านอุตสาหกรรมของไทยให้เติบโตได้อย่างมั่นคงและปลอดภัยมากยิ่งขึ้นต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง