รีเซต

เมื่อมังกรประสานมือเอกชนสู้เทรดวอร์ 2.0 (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อมังกรประสานมือเอกชนสู้เทรดวอร์ 2.0 (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร
TNN ช่อง16
16 เมษายน 2568 ( 13:57 )
12

เมื่อมังกรประสานมือเอกชนสู้เทรดวอร์ 2.0 (ตอนจบ)

ไปคุยกันต่อเลยครับ ...
ขณะที่บริษัทข้ามชาติหลายแห่ง อาทิ AstraZeneca และ Eli Lilly บริษัทยาในสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ ตามลำดับ และ BMW ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมัน ก็ลงนามในข้อตกลงการลงทุนใหม่ในจีน

Vale ยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจเหมืองแร่ของบราซิล ก็ยังประสบความสำเร็จในการขยายธุรกิจในจีน และจะยังคงสำรวจโอกาสใหม่ๆ เพื่อการเติบโตและความร่วมมือในตลาดจีน ขณะเดียวกัน ปี 2025 ก็เป็นปีที่ Mercedes-Benz Group ครบรอบ 20 ปีของการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา และการผลิตในจีน และยังยืนยันว่าจะยังคงลงทุนในจีนต่อไปในระยะยาว


อนึ่ง ในปี 2024 จำนวนกิจการต่างชาติที่จดทะเบียนนิติบุคคลใหม่ในจีนเพิ่มขึ้น 9.9% เมื่อเทียบกับของปีก่อน และในช่วงไตรมาสแรกของปี 2025 การจดทะเบียนนิติบุคคลของกิจการต่างชาติในจีนก็ขยายตัวในระดับที่ใกล้เคียงกัน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีผ่านมา

ในการพบปะกันดังกล่าวครั้งหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง เป็นประธาน มีประเด็นนี้ที่ยังอาจถือเป็น “ควันหลง” ที่น่าสนใจ เราอาจได้ยินข่าวว่าหนึ่งในบุคคลสำคัญที่ร่วมกิจกรรมดังกล่าวอยู่ด้วยคือ สตีฟ เดนเนส (Steve Danes) วุฒิสมาชิกจากพรรครีพับลิกันที่อยู่สายเดียวกับประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่นักการเมืองสหรัฐฯ ไปเยือนจีนหลังโดนัลด์ ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมกราคม

ในด้านหนึ่ง ก็เป็นภาพสะท้อนว่า ไม่ว่าสงครามการค้าจะครุกรุ่นอย่างไร แต่สหรัฐฯ และจีนก็ยังส่งผู้แทนวงในไปกระชับความสัมพันธ์และหารือประเด็นสำคัญระหว่างกันอยู่ ซึ่งหลายฝ่ายก็คาดหวังว่า การเยือนในครั้งนี้จะเป็น “ก้าวแรก” ของการปูพื้นไปสู่การพบปะพูดคุยกันระหว่างผู้นำของทั้งสองประเทศในช่วงปลายปี

แต่ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อสงครามการค้า 2.0 “เริ่มต้น” ขึ้น จีนก็แสดงท่าทีว่า “ไม่มีใครสามารถได้รับประโยชน์จากสงครามการค้า” และส่งสัญญาณอย่างชัดเจนผ่านผู้แทนพิเศษไปยังรัฐบาลสหรัฐฯ ในทันที

ดังจะเห็นได้จากคำสัมภาษณ์ของสตีฟ เดนเนสต่อวอลล์สตรีตเจอร์นัล (Wall Street Journal) ต่อประเด็นการหารือระหว่างสองผู้นำว่า “เมื่อใดและสถานที่ไหนจะต้องถูกกำหนดขึ้นก่อน” ซึ่งสะท้อนว่าจีนก็ไม่ให้คำตอบในประเด็นนี้กับผู้แทนพิเศษของสหรัฐฯ ในรายละเอียด

ยิ่งเมื่อ “ภาษีต่างตอบแทน” (Reciprocal Tariffs) ถูก “ลากยาว” และ “ขยายวง” แบบไม่เลือกหน้าอินทร์หน้าพรหม เทรดวอร์ 2.0 ก็กลายเป็น “Talk of the World” ในชั่วกระพริบตา

ยิ่งเมื่อจีนตอบโต้แบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” และเกิดกระแสการเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และเพิ่มความเสี่ยงต่อค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ และเศรษฐกิจในภาพรวมในเวลาต่อมา สหรัฐฯ ก็ต้องยอมเลือก “เปิดไพ่” ใบใหม่เร็วกว่ากำหนด

การเดินเกมเด็มรูปแบบกับนานาประเทศต้องเลื่อนออกไป 90 วันแต่ก็ขอเรียกเก็บอากรนำเข้าพื้นฐานที่ 10% เอาไว้ (ซึ่งอาจหมายถึงรายได้จากอากรนำเข้ามูลค่าราว 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี และการลดการขาดดุลการค้ามูลค่ามหาศาล)
เพื่อรักษาการเสียหน้าไว้สักครึ่งหนึ่ง ทรัมป์ก็ประกาศ “เปิดหน้าชก” ขึ้นอากรนำเข้ากับจีนต่อไปอย่างเปิดเผย ซึ่งตามมาด้วยการตอบโต้กันไปมาอีกหลายยกจนสหรัฐฯ เก็บอากรนำเข้าสินค้าจีน 145% และจีนเรียกเก็บ สินค้าอเมริกัน 125% ทำให้ฝุ่นสงครามการค้าตลบอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในประวัติศาสตร์


ตามมาด้วยการโพสต์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ให้ “ปิดทุกช่องทาง” ในการเจรจากับจีน สำหรับผมแล้ว การไม่มีช่องทางพิเศษในการสื่อสารระหว่างกันไม่เพียงทำให้การส่งผู้แทนพิเศษของสหรัฐฯ ไปเยือนจีนเพื่อเป็นสะพานเชื่อมในครั้งนี้กลายเป็นการ “ผิดคิว” อย่างสูญเปล่าไปโดยปริยาย แต่ยังเพิ่มระดับความเสี่ยงในมิติด้านความมั่นคงจาก “การเข้าใจผิด” ระหว่างกัน
เราคงต้องรอคอย “กาวใจ” ชั้นยอดที่จะหา “ทางลง” ให้กับทั้งสองฝ่ายก่อน “ปรับท่าที” ระหว่างกัน ซึ่งคิดว่าจะต้องใช้เวลาและความพยายามเป็นอย่างมาก

ประการสุดท้าย ผู้นำจีนยังเรียกร้องให้บริษัทข้ามชาติ “ร่วมกันรักษาสถานะของระเบียบสังคมโลก (Uphold Global Order) และมีส่วนร่วมในการรักษาเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทานและอุตสาหกรรมในเวทีโลก”

สิ่งนี้สะท้อนว่า จีนยอมรับในความสามารถและศักยภาพของกิจการไฮเทคของจีนและบริษัทข้ามชาติต่อการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่กับความท้าทายที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการมีอยู่ของนวัตกรรมระดับโลกเพื่อทำให้ผลประโยชน์จากการพัฒนาโดยรวมเพิ่มขึ้น

หลายคำกล่าวในเวทีการประชุมยังพุ่งตรงไปที่มุมมองแคบๆ ที่ซ่อนไว้ซึ่ง “ความเห็นแก่ตัว” ของบางประเทศ หากท่านผู้อ่านฟังถึงตรงนี้ก็อาจพอคาดเดาได้ไม่ยากว่า ผู้พูดกำลังกล่าวถึงผู้นำของชาติใด ส่งผลให้องค์กรระหว่างประเทศและนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำต่างเริ่มกังวลใจกับเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ส่อเค้าเข้าสู่สภาวะ “ถดถอย” (Recession) หรืออาจไกลไปถึงสภาวะเศรษฐกิจ “ตกต่ำพร้อมเงินเฟ้อ” (Stagflation) หากยังดึงดันที่จะเดินหน้าสงครามการค้า 2.0 ในวงกว้าง
ในทางกลับกัน ภายหลังการประชุม 2 สภาและกิจกรรมพิเศษดังกล่าว หลายองค์กรระหว่างประเทศและนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำต่างประกาศประกาศปรับตัวเลขคาดการณ์ทางเศรษฐกิจของจีนเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 0.5% ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมของเวทีโลกที่มีต่อจีน

อย่างไรก็ดี ผ่านไปไม่นาน เมื่อสถานการณ์การขึ้นอากรนำเข้าและอื่นๆ ตอบโต้กันไปมาระหว่างสหรัฐฯ และจีนจนถึงช่วงก่อนเข้าสู่ช่วงเทศกาลสงกรานต์และการเดินทางเยือนหลายประเทศในอาเซียนของผู้นำจีน (ขณะเขียน) หลายสำนักก็ประเมินว่า หากสงครามการค้าดำเนินไปเช่นนี้จะทำให้การค้าทวิภาคีและเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และจีน ชะลอตัวลงอย่างมากในปีนี้
นอกจากการปรับนโยบายที่ให้ความสำคัญกับบทบาทภาคเอกชนต่อเศรษบกิจจีนในระดับที่สูงขึ้น จีนยังต้องการใช้ประโยชน์จากการลงทุนของกิจการข้ามชาติในจีนในการเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์เศรษฐกิจ ทดแทนการส่งออกที่จะหดหายไปในปีนี้ และเสริมด้วยการปรับนโยบายพึ่งพาภาคการส่งออกเป็นภาคการบริโภคภายในประเทศมากขึ้นในอนาคต

จีนหวังว่า การประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนของจีนและต่างชาติ และการดำเนินนโยบายอื่นๆ อย่างจริงจังจะช่วยพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของภาคประชาชนต่อเศรษฐกิจ และยกระดับภาคการผลิตและนวัตกรรมของจีนไปอีกระดับหนึ่ง รวมทั้งยังใช้โอกาสนี้ “ยืมมือ” ผู้บริหารระดับสูงของกิจการข้ามชาติในการโน้มน้าวผู้นำสหรัฐฯ ให้ลดเลิกการดำเนินนโยบายสงครามการค้า 2.0 ก่อนที่เศรษฐกิจโลกจะเสียหายไปมากจนเกินเยียวยา

นี่เป็นเพียง “ฉากเริ่ม” ของหนังเรื่องยาวที่ชื่อ “สงครามการค้า 2.0” ระหว่างสหรัฐฯ และจีน เราคงติดตามอย่างใกล้ชิดและไป “นับศพทหาร” เมื่อสงครามในครั้งนี้เดินไปถึง “ฉากสุดท้าย” กันครับ ...

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง