รีเซต

เปิดสาเหตุ “ฮิคิโคโมริ” เกิดใน Gen Z และมิลเลนเนียล เพราะเศรษฐกิจ “ระบบตลาด”?

เปิดสาเหตุ “ฮิคิโคโมริ” เกิดใน Gen Z และมิลเลนเนียล  เพราะเศรษฐกิจ “ระบบตลาด”?
TNN ช่อง16
27 พฤษภาคม 2567 ( 16:07 )
25
เปิดสาเหตุ “ฮิคิโคโมริ” เกิดใน Gen Z และมิลเลนเนียล  เพราะเศรษฐกิจ “ระบบตลาด”?

ยุคปัจจุบันนี้ “ฮิคิโคโมริ” ถือเป็นโรคไม่ติดต่อที่แพร่กระจายอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในเหล่าผู้คน “Gen Z” เป็นต้นไป จากสถิติของ เจ พี เอคคราดท์ พบว่า เอเชียตะวันออก มีอัตราเพิ่มขึ้นของกลุ่มอาการนี้เหนือภูมิภาคอื่น ๆ 


ญี่ปุ่นมีอัตราฮิคิโกะโมริเพิ่มสูงถึง 26.66% จากอัตราเดิม โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ส่วนสิงคโปร์เพิ่มขึ้น 20.9% จีนเพิ่มขึ้น 6.6% ไต้หวันเพิ่มขึ้น 9% และเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น 2.3%


กลุ่มอาการนี้ มีแก่นอยู่ที่ “การปฏิเสธสังคม (Social Withdrawal)” ไม่ยอมสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นแบบต่อหน้า กลับไปทำในโลกออนไลน์หรือโลกเสมือนแทน


กลุ่มอาการดังกล่าว เมื่อได้รับการศึกษาวิจัยด้วยหลักวิชา “จิตวิทยา” หรือไม่ก็ “วิทยาศาสตร์ประยุกต์” จะชี้ให้เห็นความผิดปกติของสารเคมีในสมอง การทำงานของระบบประสาทที่ผิดแปลก หรือแม้แต่ฮอร์โมนส์ที่ทำงานแตกต่างจากผู้อื่น


แต่ก็มีงานวิจัยในหลักวิชา “สังคมศาสตร์” ชี้ชัดว่า บริบทแวดล้อม โดยเฉพาะ เงื่อนไขทางเศรษฐกิจแบบ “ตลาดครอบงำ (Marketisation)” ส่งผลต่อกลุ่มอาการนี้มากที่สุด


อยู่คนเดียวไม่ต้องมีใครเคียง


บทความ A shrinking life: Why some Asian youth withdraw from the world ของ CNN ได้พยายามนำเสนอกลุ่มอาการฮิคิโคโมริในแถบเอเชียตะวันออก โดยลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้ที่เผชิญกับกลุ่มอาการนี้ทั้งหมด 3 ประเทศ นั่นคือ ฮ่องกง ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งเป็น 3 ประเทศที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของกลุ่มอาการมากที่สุดในเอเชียตะวันออก โดยเลือกกลุ่มตัวอย่างประเทศละ 1 คน


ความน่าสนใจ อยู่ตรงที่ “เครื่องบ่งชี้ (Markers)” ในการให้สัมภาษณ์ เพราะพวกเขาทั้ง 3 คน ต่างมุ่งให้เหตุผลในการ “อยู่คนเดียว อยู่ลำพัง” ไปว่า เป็นสิ่งที่ดีกว่าการเข้าสังคมอย่างมาก 


ดังที่เห็นได้จาก ซ็อง โอ ฮย็อน กลุ่มตัวอย่างจากเกาหลีใต้ ที่ได้ให้เหตุผลว่า ผมได้รับฟีดแบ็คเชิงลบมามากมาย อย่างเช่น ผมไม่เก่งเลยในการทำงาน ผมผิดพลาดอย่างมาก ผมผิดหวังกับตนเองแบบสุด ๆ มีแต่ความหดหู่และกดดันในการกลับไปทำงานอีกครั้ง… เมื่อผมกลับมานั่งอยู่บ้านเพียงลำพัง เหตุใดผู้อื่นจึงทำได้ดีกว่าผม ผมมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ผมแต่เพียงผู้เดียวเหตุใดจึงลำบากลำบนเช่นนี้”


โทโยอากิ ยามาคาวะ กลุ่มตัวอย่างจากญี่ปุ่น ที่ให้เหตุผลว่า “ผมทราบว่าชีวิตผมมีปัญหาทางการเงินและการงาน แต่ผมไม่สามารถเข็นตนเองให้ออกไปทำงานได้ ผมกังวลและขื่นขมใจเสียจนทำอะไรไม่ได้เลย”


หรือ อา มุน กลุ่มตัวอย่างจากฮ่องกง ที่ให้เหตุผลว่า จริง ๆ ผมก็อยากออกไปข้างนอกนะครับ แต่ผมกลัว ผมไม่กล้า … แต่พอได้ออกมาจริง ๆ ความรู้สึกแปลกประหลาดอย่างมาก ทุกอย่างเหมือนในนิยาย ข้างนอกดูแตกต่างจากที่ผมคิด


จะเห็นได้ว่า ไม่มีคำกล่าวใดเลย ที่จะบ่งชี้ได้ว่า สิ่งที่พวกเขาทำนั้น เป็นความผิดพลาดจาก “สิ่งภายใน (Insiders)” การที่พวกเขาปฏิเสธบางอย่าง นั่นจึงแสดงว่า “สิ่งภายนอก (Outsiders)” ย่อมไม่ Fit In กับพวกเขา ทำให้พวกเขาต้องปลีกวิเวกออกมา


หรือก็คือ การเกิดขึ้นของกลุ่มอาการนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีสิ่งเร้าจาก “ผู้อื่น (Others)” เสมอ ดังนั้น การจะมาให้เหตุผลว่า แบบจิตวิทยาหรือวิทยาศาสตร์ประยุกต์ จึงฟังดูทะแม่ง ๆ ไม่เข้ากันแต่อย่างใด


ตรงนี้ เมื่อพิจารณางานศึกษา Unlocking Hikikomori: an interdisciplinary approach ที่ได้ให้ทรรศนะไว้ชัดเจนว่า ในการที่จะเข้าใจฮิคิโคโมริ ไม่ใช่ว่าจะมุ่งพิจารณาหน่วยศึกษาไปที่ “ปัจเจก” อย่างเดียว แต่ต้องนำตัวแปร “บริบทแวดล้อม” เข้ามาพิจารณาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


อย่าลืมว่า มนุษย์นั้นอยู่ภายใต้สิ่งที่เรียกว่า “รัฐ (State)” ที่หมายให้ประชาชนทุกคนรวมเป็นหนึ่ง ดังนั้น จึงต้องมีการสร้างสังคมที่ขัดเกลาให้ประชาชน “เป็นเนื้อเดียวกัน” เพื่อให้รับดำเนินไปได้อย่างไม่แตกแถว


ดังนั้น หากมีใครที่รู้สึกว่า Unfit หรือไม่เข้ากับระบบที่รัฐวางเอาไว้ ทางเลือกของบุคคลเหล่านั้นก็มีไม่มาก คือไม่ยอมจำนน ก็ต้องหาวิธีต่อต้าน แต่อย่าลืมว่า รัฐเป็นผู้ “ผูกขาดความรุนแรง” ทั้งการสะสมอาวุธสงคราม การมีกองกำลังความมั่นคง หรือการรักษาความสงบเรียบร้อย หากใครใจกล้า ก็ออกมาเดินขบวน ไม่กลัวตาย แต่หากใครใจไม่ด้านพอ ก็จะต้อง “ปลีกวิเวก” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


ในงานศึกษา The Hikikomori Phenomenon: Could Loneliness Be a Choice of Self-Restriction from Society? เสนอว่า ฮิคิโคโมริ เป็น “การหักห้ามใจตนเอง (Self-restriction)” ที่มีต่อสังคมที่ตนเองไม่อาจเปลี่ยนแปลง เมื่อไม่มีที่ทางให้แสดงออก “พื้นที่ส่วนบุคคล (Private Sphere)” จึงเป็นหนทางเดียวในการที่จะสร้างพลังแห่งการต่อต้านของตนเองได้


สอดคล้องกับงานศึกษา Review of hikikomori: A global health issue, identification and treatment ที่เสนอว่า ในโลกที่พื้นที่ส่วนบุคคลและพื้นที่สาธารณะ “แนบทบกัน” อย่างเช่น การเกิดขึ้นของสังคมออนไลน์และการทำงานแบบ Work From Home ในช่วงการระบาดของ Covid-19 ฮิคิโคโมริจึงเพิ่มมากยิ่งขึ้น เพราะสามารถที่จะต่อต้านสังคมได้ โดยที่งานไม่เสียหาย ทำงานโดยที่ไม่มีปฏิสัมพันธ์ได้ ทั้งยังได้ระบายและรวมกลุ่มพวกที่คล้าย ๆ กัน ผ่านสังคมออนไลน์ หรืออาจจะเรียกว่า “เกรียนคีย์บอร์ด” ได้อีกด้วย


ลำพังบนเตียงตัวเอง 


เมื่อมาถึงตรงนี้ จะพบว่า ฮิคิโคโมริไม่ได้เป็นเพียงเรื่องความผิดปกติในปัจเจก แต่บริบทแวดล้อม คำถามที่ตามมาคือ แล้วบริบทแวดล้อมใดที่ทรงพลังมากที่สุด ในการให้กำเนิดการปฏิเสธสังคมนี้ขึ้นมา?


ที่จริง สามารถตอบได้หลากหลายแบบ แต่คำตอบที่สามารถให้เหตุผลและทรงพลังมากที่สุด นั่นคือ “เงื่อนไขทางระบบเศรษฐกิจ” 


เพราะอย่าลืมว่า ในงานศึกษา The Burnout Society และ The Transparency Society เขียนโดย “บย็อง ช็อล ฮัน (Byung Chul Han)” นักปรัชญาดาวรุ่งเชื้อชาติเกาหลี ได้ให้ข้อเสนอที่น่าสนใจถึงสังคมเศรษฐกิจแบบ “ตลาดครอบงำ (Marketisation)” ในปัจจุบัน ว่าเป็นเงื่อนไขและแรงขับที่สำคัญในการทำให้เกิดปัญหาด้าน Mental Health ต่าง ๆ 


ตรรกะแบบตลาดนั้น มุ่งวัดศักยภาพด้วย “ตัวเลข (Digit)” เพียงอย่างเดียว ไม่ว่าแรงงานนั้น ๆ จะมีศักยภาพทางความคิด การรวบยอด การสร้างปฏิสัมพันธ์ หรือการบริหารอย่างเยี่ยมยอดเพียงใด แต่หากตัวเลขไม่สอดคล้องกับ KPI ของเบื้องบน ให้ถือว่ามนุษย์ท่านนั้น “หมดราคา” ไปในทันที


ที่สำคัญ ในระบบแบบตลาดครอบงำนั้น เน้นหนักไปที่ “ใครดีใครได้” ไม่มีที่ว่างสำหรับพวกที่ยอมพ่ายแพ้ ดังนั้น ผู้คนจึงต้องเตรียมพร้อมให้ตนเองนั้น “Skillful” ให้ได้มากที่สุด เพื่อเพิ่มโอกาสและข้อได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดแรงงาน ซึ่งเข้ากับวลีไลฟ์โค้ชในปัจจุบันที่ว่า “อ่อนแอก็แพ้ไป”


ตรงนี้ บย็อง ชอล ฮัน ได้เสนอเพิ่มเติมว่า ความเอาเป็นเอาตายเพื่อที่จะอยู่รอดในตลาด ยังเป็นผลให้เกิด "สังคมอ่อนเปลี้ยเพลียแรง (The Fatigue Society)" เพราะต้องกระทำตนให้เลิศเลอเพอร์เฟ็คต์ตลอดเวลา และต้องกระทำเรื่อย ๆ ไม่มีจุดที่หยุดนิ่ง ไม่อย่างนั้น “การตกสถานะ” ก็จะเกิดขึ้นได้แบบไม่ทันตั้งตัว และเมื่อเป็นแบบนี้ ประชาชนในสังคมก็จะอ่อนเปลี้ยเพลียแรงอย่างถึงที่สุด


ประเด็นนี้ สารคดี Müdigkeitsgesellschaft ของ บย็อง ช็อล ฮัน ได้ชี้ชัดถึงสังคมในลักษณะดังกล่าวไว้อย่างแจ่มชัด ความว่า "เมื่อคุณใช้บริการรถไฟใต้ดิน คุณจะเข้าใจว่าสังคมอ่อนเปลี้ยเพลียแรงคืออะไร … ตู้โดยสารเหมือนศูนย์รวมของพวกไม่ได้หลับไม่ได้นอน [จากการทำงาน] ... เห็นได้ชัดเจนว่า ผู้คนต่างระทมทุกข์ต่อความเหนื่อยล้าอย่างแสนสาหัส … สภาวะดังกล่าวกำลังกัดกินไปทั่วทั้งโลก


ทั้งนี้ ระบบตลาดเป็นระบบที่ออกแบบมาให้เกิดการ “แทนกันได้” เมื่อมีผู้ที่ Skillful มากกว่า หรือมีกำลังวังชาที่จะทำงานได้มากกว่า ย่อมหยิบชิ้นปลามันนี้ไปได้ 


ตัวอย่างที่ชัดที่สุด นั่นคือ “กีฬาฟุตบอล” ที่สมัยก่อน กองหน้ายืนรอบอล รอยิงอย่างเดียว ไม่ต้องมีส่วนร่วมกับเกม แต่ในยุคสมัยนี้ กองหน้าต้องลงมาล้วงบอลต่ำ ทำเกม ดึงตัวประกบ หรือแม้กระทั่งลงมาช่วยเกมรับ แน่นอน หน้าที่ที่เพิ่มขึ้นนี้ ก็เรียกร้องให้กองหน้าต้องเพิ่มวิธีการเล่นที่หลากหลาย การฝึกซ้อมก็จะต้องหลากหลายครอบคลุมตามไปด้วย ซึ่งจะทำให้หมดำพลังงานชีวิตอย่างมาก


เช่นนี้ ใครทนได้ก็ทนไป แต่มนุษย์เรา Handle กับบริบทแวดล้อมได้แตกต่างกัน ดังที่สังเกตได้จากกลุ่มตัวอย่าง พวกเขากล่าวย้ำ ๆ ว่า พวกเขานั้น “เป็นอื่นจากการทำงาน” เสมอ นั่นจึงหมายความว่า พวกเขาทนไม่ได้ในระบบตลาดครอบงำที่เป็นอยู่ของโลกใบนี้ และต้องการหาที่ ๆ ทำให้พวกเขาสบายใจสักที่ ซึ่งก็คือการตัดขาดจากตลาดครอบงำ 


และจะเห็นได้ว่า เป็นพื้นที่ที่แคบอย่างมาก และใช่ว่าจะหนีตลาดพ้น เพราะพวกเขาก็ยังคง Identify ตนเองว่าเป็น “ไอ้ขี้แพ้ (Loser)” จากระบบที่จริง ๆ แล้วพวกเขาก็ไม่ได้อยากจะเป็นแบบนี้เลย


ในท้ายที่สุด ระบบตลาดครอบงำไม่ได้ใจร้ายกับทุกคน จริงอยู่ ที่ใครอ่อนแอก็แพ้ไป แต่ก็ได้มีอาชีพใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาได้จากระบบนี้ อาทิ การเป็น “สตรีมเมอร์” หรือ “ยูทูปเบอร์” ที่ไม่ต้องออกนอกบ้านมาเข้าออฟฟิศให้เสียเวลา นั่งตั้งกล้องถ่ายการเล่าเรื่องของตนเอง หากติดลมบน รายได้ก็เข้ากระเป๋าสตางค์ชนิดที่พนักงานบริษัทยังอาย หรือก็คือ ฮิคิโคโมริก็สามารถที่จะประกอบอาชีพนี้ได้แบบไม่เคอะเขิน


ดังนั้น ทุกอย่างจึงเป็นเรื่องของ “Double-edge Sword” มีด้านเสียหาย ก็จะต้องมีช่องทางให้แสวงหาโอกาสได้เสมอ อยู่ที่ว่า ผู้คนนั้นจะเล็งเห็นหรือไม่


Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล


แหล่งอ้างอิง


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง