KTB-SCB ประเมินค่าเงินบาทวันนี้

#ทันหุ้น - นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.37 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นมาก” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 33.64 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (แกว่งตัวในกรอบ 33.33-33.67 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่ล่าสุด ทางการของทั้งสองฝ่ายต่างให้ข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกัน
ขณะเดียวกัน รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง ดัชนีธุรกิจภาคการผลิตโดยเฟด สาขา Dallas (Dallas Fed Manufacturing Business) เดือนเมษายน ก็ออกมาแย่กว่าคาดชัดเจน ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้า ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดต่างกลับเข้าถือสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ที่ไม่ใช่เงินดอลลาร์ อาทิ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) และทองคำ โดยการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ ได้หนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับ 33.30-33.40 บาทต่อดอลลาร์
บรรดาผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มระมัดระวังตัวมากขึ้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ สหรัฐฯ รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ อย่าง ข้อมูลการจ้างงาน ส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนสูง ก่อนที่ดัชนี S&P500 จะสามารถปิดตลาด +0.06%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นราว +0.53% ท่ามกลางความหวังว่า สถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนอาจทยอยคลี่คลายลงได้ นอกจากนี้ รายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ยังคงออกมาสดใสก็มีส่วนช่วยหนุนการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นยุโรป
ในส่วนตลาดบอนด์ ภาวะระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาดการเงินสหรัฐฯ ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ยังคงหนุนให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วน เลือกที่จะทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลงบ้าง เข้าใกล้ระดับ 4.22% โดยภาพดังกล่าวก็สอดคล้องกับการปรับเพิ่มโอกาสเฟดเดินหน้าลดดอกเบี้ย 4 ครั้ง ในปีนี้ เป็น 68% ทั้งนี้ แม้ว่า เราจะคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ระยะยาวสหรัฐฯ นั้นมีความน่าสนใจอยู่ ในแง่ของ Risk-Reward ของผลตอบแทนรวม (Total Return) ทว่า เราคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้จังหวะที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ในการทยอยเข้าซื้อ เน้นกลยุทธ์ Buy on Dip เท่านั้น (เช่น ตั้งแต่โซน 4.40% ขึ้นไป) เนื่องจากความผันผวนในตลาดบอนด์ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงกว่าปกติพอสมควร
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลงอีกครั้ง ท่ามกลางความกังวลของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังสถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนยังมีความไม่แน่นอน อีกทั้งรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดก็ออกมาแย่กว่าคาด โดยผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะกลับมาถือบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ซึ่งกลับมาแข็งค่าขึ้นเข้าใกล้โซน 142 เยนต่อดอลลาร์ อีกครั้ง ทำให้โดยรวมเงินดอลลาร์ปรับตัวลดลงสู่โซน 99.0 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 98.9-99.7 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ท่ามกลางภาวะระมัดระวังตัวของตลาด รวมถึงแรงซื้อ Buy on Dip ทองคำ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย. 2025) รีบาวด์สูงขึ้น สู่ระดับแถวโซน 3,350 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดย Conference Board (Consumer Confidence) และรายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (JOLTS Job Openings)
ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ช่วงราว 6.50 น. ตามเวลาประเทศไทยของเช้าวันพุธที่ 30 เมษายน ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่น ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) และยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ในเดือนมีนาคม และนอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น ผู้เล่นในตลาดจะลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งอาจกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า การเคลื่อนไหวของเงินบาทในช่วงวันก่อนหน้า จนถึงช่วงเช้าวันนี้ สะท้อนให้เห็นถึงภาวะความผันผวนสูงของตลาดค่าเงิน ดังจะเห็นได้จากการที่เงินบาทมีจังหวะทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่องจนเข้าใกล้โซนแนวต้าน 33.70-33.80 บาทต่อดอลลาร์ ในวันก่อนหน้า จากนั้นก็พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเข้าใกล้โซนแนวรับ 33.30-33.40 บาทต่อดอลลาร์ อีกครั้ง สะท้อนถึงความจำเป็นในการใช้กลยุทธ์บริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น อย่างกลยุทธ์ Options ตามที่เราได้เน้นย้ำมาโดยตลอด โดยเรามองว่า ความผันผวนของเงินบาทนั้น นอกเหนือจากผลกระทบจากการเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์ ทิศทางราคาทองคำก็ถือว่ามีผลกับเงินบาทพอสมควร โดยเราคงประเมินว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเงินบาท (THB) กับราคาทองคำยังคงเป็นบวกอยู่ (Positive Correlation) และหากราคาทองคำยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways อยู่ในช่วงการพักฐาน ก็อาจทำให้ เงินบาทแกว่งตัวในกรอบ Sideways ได้เช่นกัน (แต่อาจมีจังหวะอ่อนค่าหรือแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ตามทิศทางราคาทองคำ)
อย่างไรก็ดี เรามองว่า เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างมีมุมมองเชิงลบต่อเงินดอลลาร์มากพอสมควร สะท้อนผ่านการเพิ่มสถานะ Short USD (มองเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง) ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ควรระวังการรีบาวด์แข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ที่อาจเกิดขึ้น หากบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ พลิกกลับมาเปิดรับความเสี่ยง จากรายงานผลประกอบการของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ที่อาจออกมาสดใสและดีกว่าคาด รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะข้อมูลตลาดแรงงาน ที่อาจออกมาดีกว่าคาด เช่นกัน
ทั้งนี้ แม้ว่า เงินบาทจะทยอยแข็งค่าขึ้นในช่วงคืนที่ผ่านมา แต่การแข็งค่าของเงินบาทก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจรอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงปลายเดือน อีกทั้งบรรดานักลงทุนต่างชาติก็อาจยังเดินหน้าทยอยขายสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติมได้ โดยรวมเรายังคงมองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจถูกจำกัดแถวโซนแนวต้าน 33.50-33.60 บาทต่อดอลลาร์ (โซนถัดไปจะอยู่แถว 33.80 บาทต่อดอลลาร์) ขณะที่โซนแนวรับยังคงอยู่แถว 33.30-33.40 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับถัดไป 33.00-33.10 บาทต่อดอลลาร์)
ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.25-33.50 บาท/ดอลลาร์
ด้านกลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 33.25-33.45 บาท/ดอลลาร์
เงินบาทกลับมาแข็งค่าเร็วจากเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าแรงหลังเลขสำรวจภาคการผลิตของ Dallas Fed ออกมาที่ -35.8 ต่ำกว่าคาดที่ -17
จีนประกาศนโยบายเพื่อสนับสนุนผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการเก็บภาษีของสหรัฐฯ โดยจะให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อและการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ พร้อมปฏิเสธว่ามีการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ
ตลาดคาดว่าสหรัฐฯ จะยังคงแผนการขายพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวต่อเนื่อง แม้ตลาดจะผันผวนในช่วงที่ผ่านมา