รีเซต

ต้นทุนพุ่งเกินยื้อ ! กกพ.เคาะขึ้นค่าไฟ "ยอมเจ็บแต่จบ"

ต้นทุนพุ่งเกินยื้อ ! กกพ.เคาะขึ้นค่าไฟ "ยอมเจ็บแต่จบ"
TNN ช่อง16
31 กรกฎาคม 2565 ( 12:14 )
171
ต้นทุนพุ่งเกินยื้อ ! กกพ.เคาะขึ้นค่าไฟ "ยอมเจ็บแต่จบ"

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤติพลังงานอย่างหนัก จากพิษสงครามรัสเซีย-ยูเครนส่งผลต่อราคาพลังงานถีบตัวสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยที่ผ่านมารัฐบาลพยายามแก้ปัญหาด้วยการดึงเม็ดเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาโป๊ะราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้มเพื่อช่วยเหลือประชาชนไม่ให้แบกรับผลกระทบมากเกินไปจนทำให้กองทุนบักโกรกติดลบเป็นหลักแสนล้านบาท



ขณะที่ในส่วนของค่าไฟฟ้า ก็ให้ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แบกรับต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในรูปของค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (ค่าเอฟที) ตามมาตรการของรัฐบาล ในการตรึงค่าไฟฟ้าเพื่อลดค่าครองชีพให้ประชาชน ซึ่งส่งผลให้ กฟผ.เสี่ยงที่จะเผชิญกับวิกฤติทางการเงินขององค์กร เพราะในช่วงมาตรการตรึงค่าไฟฟ้านั้น กฟผ.ต้องแบกต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น อันเป็นผลพวงจากการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติ (NGV) ในประเทศ 


ทำให้ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติในสถานการณ์ที่ราคาในตลาดโลกทะยานสูง จนทำให้ กฟผ.แบกรับภาระต้นทุนเชิงเพลิงสูงลิ่วแทนประชาชน จนทะลุหลักแสนล้านบาทไปแล้วเช่นกัน



โดยการคำนวณค่าเอฟที งวด ม.ค.-เม.ย.65 ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) อนุมัติให้มีการปรับขึ้นค่าเอฟทีไม่เป็นไปตามต้นทุนจริง ทำให้ กฟผ.ต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 60,000 ล้านบาท ขณะที่งวด พ.ค.-ส.ค.65 กกพ.ก็ยังอนุมัติให้ปรับขึ้นค่าเอฟทีต่ำกว่าต้นทุนที่เป็นจริงอีก ส่งผลให้ กฟผ. จะต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้นอีก 60,000 ล้านบาท


ซึ่งหากไม่รีบแก้ไขปัญหาปล่อยให้ดินพอกหางหมู จะทำให้กฟผ.มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง  และส่งผลด้านลบต่อความสามารถในการผลิตไฟฟ้า เพื่อป้อนให้กับระบบและความมั่นคงทางด้านไฟฟ้า


โดยที่ผ่านมา กฟผ.ส่งสัญญาณขอปรับขึ้นค่าเอฟที งวดที่ 3/2565 หรืองวดเดือนก.ย.-ธ.ค.   236.97 สต./หน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าปรับขึ้นไปสูงถึง 6.12 บาท/หน่วย ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หลังจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) นำเข้าเพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย พุ่งสูงแตะระดับ 30 กว่าดอลลาร์ต่อล้านบีทียู จากเดิมอยู่ที่กว่า 20 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู รวมถึงภาระต้นทุนจากเงินบาทที่อ่อนค่าลงเฉียด  37.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่นอกเหนือการควบคุม


หากเดินตามแนวทางนี้ ประเมินว่าจะทำให้หนี้ค่าเชื้อเพลิงที่ กฟผ.แบกรับเอาไว้ หมดลงได้ภายในสิ้นปี 2565 หรืออย่างช้าที่สุดไตรมาส 1/2566 โดยเป็นวิธีที่เจ็บแต่จบ เพราะยอมขึ้นค่าไฟที่สูง แต่สามารถปลดล็อกปัญหาให้คลี่คลายลงได้ด้วยดี


แต่ล่าสุดในการประชุมบอร์ดคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) มีมติเห็นชอบขึ้นค่า Ft งวด ก.ย.-ธ.ค. 2565 แล้ว  ด้วยการเคาะขึ้นค่าไฟ 4.72 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) หรือปรับขึ้น 17%  จากค่า  Ft อยู่ที่  93.43 สตางค์ต่อหน่วย  โดย กฟผ. จะต้องรับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าแทนประชาชนจำนวน 83,010 ล้านบาทไว้ก่อน   ซึ่งบอร์ดส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางนี้จะทำให้ภาคประชาชน ธุรกิจ โดยเฉพาะขนาดกลางและเล็กบอบช้ำน้อยที่สุด   เพราะเป็นการขยับขึ้นค่าไฟฟ้าตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเท่านั้นยังไม่ได้ดีดลูกคิดเก็บเงินส่งคืนให้กฟผ.


ขณะที่กฟผ.เองก็เข้าใจหัวอกประชาชนยอมถอยไม่ตะบี้ตะบันเดินหน้าขอขึ้นค่าไฟแม้ว่าต้องเผชิญกับปัญหาสภาพคล่องก็ตาม  เนื่องจากต้องการแบ่งเบาภาระประชาชนและภาคธุรกิจไปก่อน   แม้ว่าแนวทางนี้บอร์ดจะเห็นชอบแต่ก็ต้องนำเสนอรมว.พลังงานและนายกรัฐมนตรีให้รับทราบก่อน เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนก่อนที่จะแถลงให้ประชาชนได้รับรู้อย่างเป็นทางการ


หลังจากเปิดรับฟังความเห็นค่า Ft งวดเดือน ก.ย. –ธ.ค. 2565 ที่ผ่านมาต่อสาธารณะชนว่าจะเลือกแนวทางไหน โดยมีทั้งหมด 3  แนวทาง เพื่อประกอบการพิจารณาขึ้นค่าไฟโดยแนวทางที่เหลือ  2 แนวทางคือ


-ปรับค่าไฟ 5.17 บาทต่อหน่วย หรือปรับขึ้น 28% จากปัจจุบัน ค่า Ft อยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย รวมกับจำนวนเงินที่ทยอยคืน กฟผ. ที่อัตรา 45.70 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่า Ft รวมเป็น 139.13 สตางค์ต่อหน่วย  กรณีนี้จะส่งผลให้คืนเงิน กฟผ. ได้ส่วนหนึ่ง และยังเหลือที่ต้องส่งคืนให้กับกฟผ.อีก 56,581 ล้านบาท โดยจะคืนเงิน กฟผ. ครบ 83,010 ล้านบาทภายใน 1 ปี 


- ปรับค่าไฟ 4.95 บาทต่อหน่วย หรือปรับขึ้น 23%  จากค่า Ft  อยู่ที่  93.43 สตางค์ต่อหน่วย และทยอยเรียกเก็บเงินเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงในช่วงที่ผ่านมาบางส่วนจำนวน 22.85 สตางค์ต่อหน่วย   ทำให้ค่าเอฟทีเท่ากับ 116.28 สตางค์ต่อหน่วย    กรณีนี้จะส่งผลให้คืนเงิน กฟผ. ได้ช้าลง และกฟผ.ต้องแบกต้นทุนแทนประชาชน  69,796 ล้านบาท   ให้กับ กฟผ. เพื่อให้ได้รับเงินคืนครบภายใน 2 ปี


อย่างไรก็ตาม  แม้ว่า กกพ.เคาะขึ้นค่าไฟฟ้างวด 3 และเตรียมประกาศให้ประชาชนรับทราบวันที่ 1 ส.ค. นี้ แต่ต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด หลังระดับนโยบายตกลงกันยังไม่ได้ว่าแนวทางไหนจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในยามนี้ 

 

***ด้วยสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลกที่เป็นอยู่ ไม่ว่าผลลัพธ์ในการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าจะออกมาในสูตรไหน หากภาครัฐและ กฟผ.มีการชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ใช้ไฟฟ้าได้ชัดเจนมากพอ เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่และภาคธุรกิจก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ เพราะหากฝืนอุ้มกันไปจนเกินกำลัง ไม่ใช่แค่ภาครัฐที่จะไปต่อไม่ไหว แต่ในที่สุดคนไทยทุกคนก็ต้องเข้ามาร่วมแบกรับภาระที่เกิดขึ้นอยู่ดี...




ภาพประกอบ พิกซาเบย์



ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง