ผู้ป่วยโควิดโวย กักตัวอยู่บ้าน แต่ รพ.คิดค่ารักษาทั้งครอบครัว เกือบครึ่งแสน
ผู้ป่วยโควิดโวย กักตัวอยู่บ้าน แต่ รพ.คิดค่ารักษาทั้งครอบครัว เกือบครึ่งแสน ล่าสุด สาธารณสุขจังหวัดเร่งสอบและทบทวนเอกสารเรียกเก็บเงิน คาดเป็นเรื่องเข้าใจผิด
วันที่ 28 มี.ค. 65 นายศุภากร ปัตตะพงศ์ อายุ 59 ปี แอดมินกลุ่มวาปีที่รัก ร้องเรียนต่อผู้สื่อข่าวว่า ตนได้เปิดกลุ่มสาธารณะในเฟซบุ๊ก ชื่อกลุ่มวาปีที่รัก เพื่อโพสต์ความเคลื่อนไหว และเรื่องราวต่าง ๆ ในอำเภอวาปีปทุม จ.มหาสารคาม ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงโควิด ก็มีแฟนเพจ ซึ่งเป็นพนักงาน ธกส. แห่งหนึ่งที่จังหวัดมหาสารคาม เข้ามาคอมเมนต์ว่าถูกเรียกเก็บเงินจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ใน จ.มหาสารคาม ภายหลังจากติดเชื้อโควิด พร้อมกับครอบครัวรวม 4 คน ทั้ง ๆ ที่รักษาตัวที่บ้านหรือ Home Isolation
โดยพนักงาน ธกส. เล่าให้ฟังว่า ตัวเค้าและครอบครัวติดเชื้อทั้งบ้านรวม 4 คน หลังจากหายป่วยได้ติดต่อทางโรงพยาบาลเพื่อขอใบรับรองการป่วย เพื่อประกอบการลาป่วยส่งให้กับต้นสังกัด โดยทางโรงพยาบาลแจ้งว่าจะต้องสำรองจ่ายค่ารักษา แยกเป็นค่าห้องและค่าอาหาร ค่าบริการและดูแลผู้ป่วยกรณีพักรอก่อนเข้ารักษา/พักฟื้น (เบิกได้+ปกส.) เป็นเงิน 10,000 บาท และค่ายาและสารอาหารทางเส้นเลือด 59 บาท รวมต้องจ่ายคนละ 10,059 บาท ทั้งครอบครัว 4 คน เป็นเงิน 40,236 บาท
และที่สำคัญคือตลอดการรักษา ผู้ป่วยรักษาแบบ Hi หรือ Home Isolation ไม่เคยไปนอนโรงพยาบาล และกินอาหารของโรงพยาบาลเลย ส่วนยาที่ได้รับมาก็มีเพียงยาพาราเซตามอล ยารักษาตามอาการเท่านั้น ซึ่งได้สอบถามเจ้าหน้าที่การเงินไปว่า ไม่เคยมานอนโรงพยาบาล ไม่เคยได้อาหาร ทำให้ถึงต้องเก็บเงิน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็ได้แจ้งมาแค่ว่า ไม่เป็นไรหรอก คุณเบิกได้ ให้จ่ายไปก่อน
นายศุภากร กล่าวว่า ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นมา จังหวัดอื่น ๆ หรือโรงพยาบาลอื่น ๆ เป็นแบบนี้บ้างไหม ยกตัวอย่างเช่น ข้าราชการ ก็ใช้สิทธิ์จ่ายตรงจากกรมบัญชีกลาง กรณีนี้คือพนักงานรัฐวิสาหกิจ ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อน แล้วค่อยไปเบิกคืนจากต้นสังกัด แล้วเงินที่จ่ายโรงพยาบาลไปแล้ว ไปอยู่ตรงไหน ทั้ง ๆ ที่ผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ที่บ้าน จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจงในกรณีที่เกิดขึ้นด้วย
ล่าสุด สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคามได้รับทราบแล้ว กำลังตรวจสอบหาข้อเท็จจริงว่าได้เรียกเก็บเงินค่าบริการจริงหรือไม่ พร้อมกับให้เจ้าหน้าที่ชี้แจงออกมา ซึ่งเบื้องต้นในส่วนการรักษาที่ผ่านมาสาธารณสุขไม่มีนโยบายเก็บเงินในการรักษาผู้ป่วยโควิดแต่อย่างใด แต่ต้องขอดูเอกสาร
ด้าน นายแพทย์สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยว่า ได้นำข้อมูลส่งต่อให้กับทางผู้บริหารในระดับพื้นที่เพื่อตรวจสอบว่ามีข้อเท็จจริงยังไง ซึ่งเบื้องต้นขอชี้แจงว่าการที่จะรักษาผู้ป่วยโควิด จะมีบัตรประกันสุขภาพอยู่ 3 กองทุนกองทุนที่ 1 กองทุนประกันสังคม 2.กองทุนข้าราชการ 3.กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ซึ่งจะไม่สามารถเก็บเงินกับคนไข้โดยตรงได้เลย แต่จะทำเอกสารเรียกเก็บค่าบริการซึ่งเป็นต้นทุนผ่านกองทุนทั้ง 3 แต่ในส่วนขององค์กรรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเบื้องต้นทราบว่าเป็นบุคลากรของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือ ธกส. ซึ่งโดยหลักการของ ธกส. จะมีระบบอาจจะให้ทางผู้ป่วยชำระเงินแล้วไปเบิกจ่าย
กรณีเคสนี้เข้าได้รับการตรวจและดูแลแบบ Home Isolation เมื่อวันที่ 8 มีนาคมถึงวันที่ 18 มีนาคม 2565 ได้เมื่อรักษาครบตามเกณฑ์ที่กำหนด จึงมีการมาขอใบรับรองแพทย์ แต่ไม่แน่ใจว่ามีการสื่อสารระหว่างสถานพยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในการเรียกเก็บเงินอย่างไร และการสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ป่วยอย่างไรจึงได้มีการออกเอกสารดังกล่าวนี้ขึ้น
ซึ่งประเด็นนี้กำลังอยู่ในระหว่างสอบถามและทบทวนเอกสารอยู่ เพื่อความแน่ชัด เพราะต้องดูด้วยว่าระหว่าง 10 วันที่เข้าสู่ระบบ Home Isolation มีการดูแลติดตามผู้ป่วยอย่างไร มีรายละเอียดการบริการอย่างไรบ้าง ซึ่งหากมีการทำแผนการรักษาและดูแล ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายต้นทุนดังกล่าวจริงก็สามารถเรียกเก็บเงินได้ แต่จะเป็นค่าใช้จ่ายที่เบิกกับกองทุนสุขภาพหรือต้นสังกัดที่มีเท่านั้น
แต่จากเหตุที่เกิดขึ้น สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคามและผู้เกี่ยวข้องไม่ได้นิ่งนอนใจ และจะหาสาเหตุเพื่อจัดการปัญหาให้ถูกต้องและจะปรับปรุงระบบริการที่ถูกต้องเหมาะสดกับประชาชนให้มากขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดเหตุความไม่เข้าใจกันซ้ำรอยได้อีก