รีเซต

เช็ก! "อาการโควิดโอมิครอน เบื้องต้น" หากมีอาการเจ็บคอ มีเสมหะ รักษาอย่างไรบ้าง?

เช็ก! "อาการโควิดโอมิครอน เบื้องต้น" หากมีอาการเจ็บคอ มีเสมหะ รักษาอย่างไรบ้าง?
Ingonn
12 กรกฎาคม 2565 ( 08:04 )
2.6K
เช็ก! "อาการโควิดโอมิครอน เบื้องต้น" หากมีอาการเจ็บคอ มีเสมหะ รักษาอย่างไรบ้าง?

ติดโควิด ทำไง? โควิดสายพันธุ์โอมิครอน หรือ โอไมครอน เป็นสายพันธุ์โควิดที่แพร่ระบาดเร็ว แต่มีอาการไม่รุนแรง โดยผู้ที่ตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด จะมีอาการไอ เจ็บคอ และบางรายจะมีเสมหะมาก ซึ่งอาการโควิดโอมิครอน จะมีอาการน้อย และคล้ายไข้หวัด วันนี้เราจึงจะพามาเช็กอาการโควิด 19 ล่าสุด พร้อมวิธีรักษาอาการโควิด เบื้องต้น

 

อาการโควิด 19 ล่าสุด สายพันธุ์โอมิครอน มีอะไรบ้าง

โอมิครอน อาการน้อย แต่แพร่กระจายเร็ว อาการส่วนใหญ่ของผู้ป่วยติดเชื้อสายพันธุ์ “โอมิครอน”ในไทย ได้แก่

  • ไอแห้ง
  • เจ็บคอ
  • มีไข้
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • มีน้ำมูก
  • ปวดศีรษะ 
  • หายใจลำบาก
  • ได้กลิ่นลดลง
  • ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์”โอมิครอน” ในไทยมีอาการคล้ายไข้หวัด และอาการน้อยไม่รุนแรง

 

ติดโควิดแล้ว ติดซ้ำได้ไหม?

คนที่ติดโควิด 19 มาก่อนหน้านี้ แม้จะมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ แต่ก็ยังติดโควิด BA.4 และ BA.5 ได้อีกเพราะสายพันธุ์นี้ดื้อต่อภูมิคุ้มกันร่างกาย และหลบภูมิได้เก่ง ภูมิที่มีอยู่เดิมจึงอาจไม่เพียงพอจะป้องกันการติดเชื้อซ้ำได้ โดยเฉพาะในคนที่ไม่ได้รับวัคซีน หรือรับวัคซีนไม่ครบ 3 เข็ม จะเป็นกลุ่มที่ติดเชื้อได้ง่ายหรือมีโอกาสเป็นโควิดซ้ำได้มากกว่ากลุ่มที่ได้วัคซีนครบ  กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นเพิ่มเป็นเข็มที่ 4 เพราะมีข้อมูลในต่างประเทศ พบว่า ผู้ป่วยสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ถ้าได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นจะมีอาการน้อยกว่าคนที่ไม่ได้ฉีด เท่ากับว่าวัคซีนยังได้ผลในการป้องกันอาการหนักและเสียชีวิต

 

โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ชี้เสมหะ คือ สิ่งข้นเหนียวเหมือนเมือกที่ร่างกายผลิตขึ้นมาเป็นปกติอยู่แล้ว แต่จะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเมื่อมีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคบางอย่าง โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ

 

นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ป่วยโควิด 19 หลายคนมักจะมีอาการหายใจมีเสียงครืดคราด หรือรู้สึกว่ามีเสมหะในทางเดินหายใจ หรือไอแบบมีเสมหะอยู่ตลอดเวลา จนส่งผลให้การหายใจเพื่อเอาออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ดังนั้นจึงจำเป็นมากที่ผู้ป่วยต้องกำจัดเสมหะเหล่านี้ออกจากทางเดินหายใจ ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี

 

วิธีรักษาอาการโควิดโอมิครอน หากเจ็บคอ มีเสมหะ


วิธีที่ 1 การไอเพื่อระบายเสมหะ ทำในผู้ป่วยที่ไม่มีโรคประจำตัว

  1. นั่งบนเก้าอี้ โน้มตัวไปทางด้านหน้าเล็กน้อย และหายใจเข้า - ออกปกติ 3-5 ครั้ง
  2. หายใจเข้าลึกเต็มที่จนสุด โดยเน้นให้ชายโครงบานออก
  3. กลั้นหายใจไว้ 3 วินาที พร้อมกับเกร็งเนื้อหน้าท้อง
  4. ให้อ้าปากกดคางลง ทำปากเป็นรูปวงกลม พร้อมไอออกแรงๆ และยาวจนสุดลมหายใจออก
  5. พักด้วยการหายใจเข้า - ออก ปกติ 3-5 ครั้ง 


วิธีที่ 2 การระบายเสมหะด้วยวิธีถอนหายใจออกแรง ทำในกรณีที่มีโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด

  1. นั่งบนเก้าอี้ โน้มตัวไปทางด้านหน้าเล็กน้อย และหายใจ เข้า - ออกปกติ 3 ครั้ง
  2. หายใจเข้าปกติ จากนั้นพ่นลมหายใจออกจากคอผ่านทางปากแรงๆ (อ้าปากกดคางลง ทำปากเป็นรูปวงกลม) พร้อมกับเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง จนหายใจออกสุด ทำซ้ำ 3 ครั้ง
  3. หายใจเข้า - ออกปกติ 3 ครั้ง จนหายเหนื่อย
  4. อาจทำซ้ำ 3-4 รอบ 


วิธีที่ 3 การระบายเสมหะด้วยการหายใจเป็นวงจร active cycle of breathing technique (ACBT) เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาทางเดินหายใจที่ไม่สามารถออกแรงมาก จนเหนื่อยเกินไปได้

  1. นั่งบนเก้าอี้ในท่าที่สบายและผ่อนคลาย
  2. หายใจเข้า - ออกปกติ 5-10 วินาที
  3. หายใจเข้าให้สุด โดยเน้นให้ซี่โครงบานออกและหายใจออกสุด
  4. หายใจเข้าออกปกติ จากนั้นถอนหายใจออกทางปาก (อ้าปากกดคางลงทำปากเป็นรูปวงกลม) พร้อมกับเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง กระทั่งหายใจออกสุด ทำซ้ำ 3 ครั้ง และกลับมาหายใจเข้า - ออกปกติ 3 ครั้ง
  5. หายใจเข้า - ออก ปกติ 5 - 10 วินาที จนหายเหนื่อย เป็นต้น

 

นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า วิธีลดการแพร่กระจายของเชื้อในระหว่างการระบายเสมหะ ท่านต้องใส่หน้ากากอนามัยให้กระชับใบหน้าทุกครั้งขณะไอหรือถอนหายใจแรงเพื่อระบายเสมหะ ระหว่างการฝึกท่านควรนั่งอยู่ห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร และหากไอแล้วมีเสมหะออกมาด้วยให้บ้วนเนื้อเสมหะใส่กระดาษชำระจากนั้นทิ้งใส่ถุงพลาสติกพร้อมมัดปากถุงให้เรียบร้อย รวมไปถึงข้อควรระวังที่สำคัญระหว่างการฝึกระบายเสมหะ

 

หากมีอาการเหนื่อยหอบมาก หน้ามืด วิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม หายใจสั้นหรือถี่มากๆ ควรพักด้วยการหายใจเข้าออกปกติจนกระทั่งไม่มีอาการดังกล่าวแล้วจึงเริ่มฝึกต่อ จำนวนครั้งในการฝึกต่อวันขึ้นกับปริมาณเสมหะของแต่ละบุคคลด้วย

 

 

 

 

ข้อมูล กรมการแพทย์ , โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.

คลิกเลย >>> TrueID Community <<<

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง