ทรัมป์ดัน “เหมืองลึกใต้ทะเล” เร่งชิงแร่หายากแข่งกับจีน ไม่สนเรื่องสิ่งแวดล้อม

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เพื่อเร่งรัดกระบวนการสำรวจและขออนุญาตดำเนินการเหมืองแร่ใต้ทะเลในน่านน้ำสหรัฐฯ และน่านน้ำสากล เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลเปิดเผยว่า น่านน้ำของสหรัฐฯ มีแร่สำคัญมากกว่า 1 พันล้านตัน รวมถึงทองแดง โคบอลต์ นิกเกิล สังกะสี และแมงกานีส ซึ่งล้วนจำเป็นต่อการผลิตชิปคอมพิวเตอร์ แบตเตอรี่ และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด
การเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่นี้มีเป้าหมายเพื่อลดการพึ่งพาแหล่งแร่จากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีน ซึ่งปัจจุบันควบคุมห่วงโซ่อุปทานแร่สำคัญส่วนใหญ่ของโลก และได้ใช้การจำกัดการส่งออกแร่เป็นเครื่องมือกดดันสหรัฐฯ ในสงครามการค้าระหว่างสองประเทศ “เราพึ่งพาแหล่งแร่จากต่างประเทศมานานเกินไปแล้ว และการประกาศครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการนำทรัพยากรที่จำเป็นต่อความมั่นคงของประเทศกลับมาอยู่ในมือเราเอง” เจ้าหน้าที่อาวุโสกล่าว
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมเหมืองแร่ใต้ทะเลยังอยู่ในขั้นตอนเริ่มต้นระดับโลก ยังไม่มีการดำเนินการเชิงพาณิชย์จริงแต่อย่างใด ซึ่งคำสั่งฝ่ายบริหารของทรัมป์กำหนดให้กระทรวงพาณิชย์เร่งกระบวนการออกใบอนุญาตสำรวจและดำเนินการเชิงพาณิชย์ ขณะเดียวกันก็มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยกำหนดแนวทางอนุมัติใบอนุญาตในเขตไหล่ทวีปภายนอกของสหรัฐฯ
การดำเนินการนี้จะเปิดทางให้บริษัทต่าง ๆ สามารถหลีกเลี่ยงการพิจารณาขององค์การบริหารก้นสมุทรสากล (ISA) ซึ่งเป็นหน่วยงานสหประชาชาติที่มีหน้าที่กำหนดกฎเกณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ใต้ทะเล แต่ยังไม่สามารถสรุปกฎระเบียบได้เนื่องจากความเห็นแตกต่างระหว่างประเทศสมาชิก ขณะเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์เตือนว่าการทำเหมืองใต้ทะเล ซึ่งเป็นหนึ่งในระบบนิเวศที่มนุษย์รู้จักน้อยที่สุด อาจสร้างความเสียหายถาวรต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล หลายประเทศจึงเรียกร้องให้มีการชะลอหรือระงับการทำเหมืองดังกล่าวจนกว่าจะมีข้อมูลด้านผลกระทบเพียงพอ
ด้านบริษัทเหมืองแร่ใต้ทะเลมองว่าความกังวลเหล่านี้เกินจริง พร้อมยืนยันว่าการทำเหมืองใต้ทะเลเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนกว่าการทำเหมืองแร่บนบก ซึ่งมีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง