BKIฝ่าแรงต้านปี67โตต่อ8% คัดงานEVชี้โททัลลอสมีเจ็บ
#BKI #ทันหุ้น- BKI ฉายภาพธุรกิจประกันภัยปี 2567 เผชิญความท้าทายภายใต้เศรษฐกิจไทย และโลกที่เปราะบาง แต่ยังมั่นใจเติบโตต่อเนื่องที่ 8% ด้วยเบี้ยรับรวมราว 3.25 หมื่นล้านบาท จับตาตลาดประกันEV คึกคัก ชิงเค้กภายใต้ความเสี่ยงที่ต้องจับตา แข่งเรื่องราคา ค่าซ่อมที่สูง และซากรถที่ไม่มีมูลค่าเมื่อเป็น Total Loss
ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI กล่าวว่า ในปี 2567 คาดว่าบริษัทจะเติบโตที่ระดับ 8% จากปี 2566 ด้วยตัวเลขเบี้ยรับรวมราว 3.24 -3.25 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องจากปี 2566 ที่ BKI สามารถสร้างเบี้ยรับรวมได้ทะลุ 30,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตราว 12.5% จากปี 2565 ส่วนของกำไรสุทธิคาดว่าจะพลิกกลับมาทำกำไรได้ ซึ่งคาดว่าจะดีพอๆ กับปี 2563 ที่มีกำไรก่อนหักภาษีที่ 3,210.1 ล้านบาท
*ศก.เปราะบาง
อย่างไรก็ตาม ดร.อภิสิทธิ์ มองว่า ปี 2567 ธุรกิจต้องเผชิญกับความท้าทายสูง เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจมีความเปราะบางมาก ซึ่งไม่ใช่แค่เศรษฐกิจไทย หากยังหมายถึงเศรษฐกิจโลก ในหลายๆ ภูมิภาคที่เผชิญกับภาวะชะลอตัว แม้ทั้งนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.จะประเมินตัวเลขเศรษฐกิจไทยหรือจีดีพี โตระดับ 3.7-3.8% ซึ่งเป็นตัวเลขการเติบโตที่รวมโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลไว้ด้วย
แต่ก็ต้องติดตามต่อว่าโครงการดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นได้ไหมเนื่องจากมีปัจจัยท้าทายหลายด้านที่โครงการนี้เกิดได้ยาก โดยหากไม่รวมโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล จีดีพีไทย ปี 2567 จะขยายตัวราว 3.2% จากปี 2566 ที่ขยายตัว 2.4%
เศรษฐกิจไทย เองก็ได้รับแรงกดดันจากมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกทั้งจากสหรัฐอเมริกา หรือจีนก็ตาม โดยในส่วนของสหรัฐนั้น แม้อัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวส่งผลให้ เฟดหยุดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ปัจจัยดังกล่าวจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและต้นทุนภาคธุรกิจ แต่ ดร.อภิสิทธิ์ มองว่า กว่าปัจจัยบวกส่งผ่านสู่ภาคธุรกิจก็ต้องใช้ระยะเวลา 9 เดือน - 1 ปี
“เงินเฟ้อของสหรัฐไม่สูงแล้ว เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ดังนั้นเฟดจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก แต่ปัจจัยบวกจากตรงนี้กว่าจะส่งผ่านมาสู่ธุรกิจ และดีต่อเศรษฐกิจโลกและของไทยก็ต้องใช้เวลานานหลายเดือน หรือราว 1 ปี ดังนั้นตรงจุดที่อัตราดอกเบี้ยคงอยู่ในระดับสูง ก็ทำให้เงินในกระเป๋ามีต้นทุนที่สูงอยู่ ยังถือเป็นแรงกดดันในปี 2567”
ดร.อภิสิทธิ์ กล่าวว่า โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมาก็หมายถึงหนี้ที่เพิ่มขึ้นด้วย ผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีอยู่ราว 3 ล้านราย และมีแรงงานในระบบธุรกิจเอสเอ็มอีราว 13 ล้านคน สะท้อนถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในวงกว้างหากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ไม่สามารถเดินหน้ากิจการต่อไป โดยสินเชื่อที่ปล่อยกับเอสเอ็มอีราว 3.8 ล้านล้านบาท ในนี้เป็นหนี้เสียถึง 7.5% หรือ ราว 2.9 แสนล้านบาท ซึ่งอยู่ระดับสูง และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นด้วย
*ประกันมีความท้าทาย
ในขณะที่หนี้ครัวเรือนไทยก็ยังอยู่ในระดับสูง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนอาจขยับขึ้นไปที่กรอบประมาณ 16.4-16.5 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2566 คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 90-91% ต่อจีดีพี ซึ่งในปี 2567 มีโอกาสที่จะขยับเพิ่มขึ้นอีก 1-2%
ดร.อภิสิทธิ์ มองว่า ปัจจัยที่กล่าวมาในข้างต้นทำให้ภาพรวมธุรกิจประกันภัยยังต้องเผชิญหน้ากับความท้าทาย เพราะไม่ว่าจะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ลูกค้ารายบุคคล ต่างมีเป็นฐานลูกค้าของธุรกิจประกันภัย เมื่อฐานกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบย่อมส่งต่อมายังธุรกิจประกันด้วย
อย่างไรก็ตามในมุมบวกก็ยังคงมีอยู่ ดร.อภิสิทธิ์ เชื่อว่า ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการมีผู้เล่นรายสำคัญอย่างแบรนด์ฉางอัน ซึ่งเป็นรถในเกรดเดียวกับเทสลาก็เข้ามาตีตลาดในไทย ซึ่งก็น่าจะทำให้บริษัทหลายแห่งเข้ามาชิงส่วนแบ่งเค้กก้อนนี้อย่างคึกคัก เพื่อสร้างการเติบโตให้กับพอร์ตประกันรถ EV โดยเฉพาะอัตราเบี้ยประกันที่สูงกว่ารถยนต์สันดาปราว 25%
“อัตราเบี้ยประกันภัย ซึ่งเป็นอัตราเบี้ยที่ดูจากตลาดอื่นๆ ไม่ว่าจะญี่ปุ่น หรือ สหรัฐอเมริกา ก็ไปในทิศทางเดียวกันคือ สูงกว่ารถยนต์สันดาป โดยในตลาดสหรัฐสูงกว่าราว 25% ส่วนญี่ปุ่นประมาณ 10-20% โดยขึ้นกับประเภทของรถด้วย ขณะที่ลอสเรโช หรือ อัตราส่วนค่าสินไหมทดแทนของรถ EV ยังคงต่ำ ซึ่งก็มีโอกาสที่จะเห็นการแข่งขันทางด้านราคา แต่สำหรับ BKIเรามองว่าตลาดนี้ยังใหม่ ทำให้ข้อมูลสำหรับการประเมินความเสี่ยงยังไม่มากพอ จึงยังไม่พลีพลามกระโจนเข้าไป แต่จะเน้นรับงานอย่างระมัดระวัง”
*รถ EV ที่ต้องระวังTotal Loss
ดร.อภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในปีแรกที่ตลาดรับประกันรถ EV ลอสเรโช (Loss Ratio) อยู่ที่ ราว 10-15% แต่ในปีที่ 2 เร่งตัวขึ้นมาที่ราว 40% ซึ่งในระดับก็ยังถือว่าทำกำไรได้ดี มาปี 2566 ลอสเรโช ขยับขึ้นมา 50-60% แม้จะยังคงมีกำไรอยู่ แต่ด้วยการเป็นตลาดใหม่ ข้อมูลในการประเมินความเสี่ยงยังน้อย ดังนั้นภาคธุรกิจยังคงต้องระวังในเรื่องของการกำหนดอัตราเบี้ยประกัน เพราะไม่รู้ว่าลอสเรโชของรถ EV จะขึ้นไปถึง 75-80% หรือไม่ เพราะที่ระดับดังกล่าวคนขายประกันก็อยู่ไม่ได้แล้วเพราะไม่มีกำไร
ดร.อภิสิทธิ์ อธิบายต่อไปว่า รถ EV ยังมีความเสี่ยงในเรื่องของการตีราคาซากรถ ซึ่งต่างจากรถสันดาปที่ยังเหลือมูลค่า โดยหากรถยนต์ถูกตีเป็นความเสียหายโดยสิ้นเชิง (Total Loss) ซากของรถ EV จะไม่มีมูลค่าเลย ซึ่งต่างจากรถยนต์สันดาป ที่อุปกรณ์อะไหล่ เครื่องยนต์บางชิ้นยังใช้งานได้สามารถเป็นอะไหล่ทดแทนให้กับรถคันอื่นได้
ขณะที่ซากของรถ EVด้วยอุปกรณ์อะไหล่ที่มีน้อย ความสำคัญของรถอยู่ที่แบตเตอรี หากต้องซ่อมรถส่วนใหญ่ก็จะอยู่ที่ตัวแบต เมื่อตีค่าสินไหมก็จะอยู่ราว 50-60% ระดับนี้ก็ถือเป็น Total Loss ได้แล้ว เพราะซากของรถ EV แถบจะไม่มีมูลค่า
“อย่างรถเบนซ์ หรือบีเอ็มดับเบิลยู Total Loss ที่ 5 ล้านก็ยังขายซากได้ราว 1.5-2 ล้านบาท ให้อู่มาซื้อไปเป็นอะไหล่ แต่รถ EV ไม่สามารถซ่อมได้ที่อู่ เทคโนโลยีความรู้ต่างๆ ยังอยู่ที่ศูนย์ ดังนั้นยังมีต้นทุนการซ่อมศูนย์ที่สูงขึ้นด้วย เพราะส่วนใหญ่แล้วอู่ยังไม่สามารถซ่อมรถ EV ได้ ทำให้การขยายตลาดประกันรถอีวี สำหรับ BKI จะเน้นรับงานอย่างระมัดระวัง”
*นอนมอเตอร์โต
ในส่วนของประกันนอนมอเตอร์ (Non -motor) งานที่ต้องส่งต่อไปยังบริษัทรีอินชัวรันส์ต่างประเทศ อัตราเบี้ยประกันยังคงอยู่ในระดับสูง แม้รีอินชัวรันส์ต่างประเทศ จะเริ่มทำมาร์จิ้นได้บ้างแล้วหลังจากช่วงหลายปีที่ผ่านมาต่างก็เกิดภัยพิบัติใหญ่ๆ ทั่วโลก ทำให้บริษัทรีอินชัวรันส์ ขาดทุนจากการรับประกันจนต้องปรับเพิ่มเบี้ย
แต่ในปี 2567 ภาพรวมอัตราเบี้ยก็ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งก็ส่งผลให้ภาพรวมเบี้ยของตลาดประกันนอนมอเตอร์ อย่างประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สินทุกชนิด (IAR) BKI ก็คาดว่าจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นตามอัตราเบี้ยในตลาดที่อยู่ระดับสูง
นอกจากนี้ BKI ก็จะเน้นไปที่การขยายตลาดรายบุคคลมากขึ้น ด้วยการผูกกับพันธมิตรแบรนด์ต่างๆ รวมถึงช่องทางต่างๆ เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้ารายคนมากขึ้น ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ ซึ่งจากภาพรวมทั้งหมดที่กล่าวนี้ เป็นปัจจัยที่จะทำให้ BKI เติบโตได้ตามเป้าหมาย 8% ในปี 2567