10 ประเทศที่มีสัดส่วนการผลิตพลังงานทดแทนเยอะที่สุดในโลก
พลังงานทดแทน กำลังได้รับการผลักดันให้เป็นทางเลือกที่ยั่งยืนแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล และรัฐบาลในหลายประเทศก็ตระหนักถึงประโยชน์ของการผลิตพลังงานทดแทน ได้สนับสนุนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เพิ่มการตระหนักรู้ของสาธารณชน และนำเสนอนโยบายที่สนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนด้วยการผลิตพลังงานทดแทน รวมถึงมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหมุนเวียน ทำให้คาดการณ์ว่าพลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ ในอนาคต
แต่รู้หรือไม่ว่า ณ ปัจจุบัน ประเทศไหนคือผู้นำด้านการผลิตพลังงานทดแทน และสามารถเพิ่มการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนได้ในสัดส่วนที่เยอะที่สุด และประเทศไทยของเราอยู่ในตำแหน่งไหนของโลก มาดูกัน
อันดับ 1 ไอซ์แลนด์
สัดส่วนการผลิตพลังงานทดแทน : ร้อยละ 86.87
ไอซ์แลนด์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีภูมิศาสตร์ที่โดดเด่นมาก ไม่ว่าจะเป็นภูเขาไฟ น้ำพุร้อน ทุ่งลาวา ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นสถานที่ที่งดงามมาก ๆ เท่านั้น แต่มันยังมีประโยชน์ในการเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนด้วย ไอซ์แลนด์ตั้งอยู่บนสันเขากลางมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งเป็นรอยต่อแผ่นเปลือกโลกที่มีพลังงานความร้อนใต้พิภพ ประเทศนี้ก็สามารถตั้งโรงไฟฟ้าที่สามารถดึงพลังงานความร้อนใต้พิภพขึ้นมาผลิตไฟฟ้าได้ และก็ไม่เพียงพลังงานความร้อนใต้พิภพเท่านั้น ยังได้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำและพลังงานลมด้วย
บริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในไอซ์แลนด์ชื่อลันด์สเวียร์จุน (Landsvirkjun) ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติของประเทศ ซึ่งดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 15 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพ 3 แห่ง และโรงไฟฟ้าจากกังหันลมอีก 2 แห่ง
อันดับ 2 นอร์เวย์
สัดส่วนการผลิตพลังงานทดแทน : ร้อยละ 71.56%
พลังงานทดแทนหลักของนอร์เวย์คือพลังงานน้ำ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกพลังงานหลักของโลก ส่วนใหญ่ดำเนินการโดยบริษัทสแตทคราฟท์ (Statkraft) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตพลังงานทดแทนรายใหญ่ที่สุดในยุโรป
นอกจากเป็นประเทศที่ผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทดแทนได้สูงเป็นอันดับ 2 แล้ว นอร์เวย์ก็มีอีกเป้าหมายที่ทะเยอทะยานคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ 90 - 95% จากระดับในปี 1990 ภายในปี 2050 ซึ่งสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency : IEA) ก็เชื่อว่าเป็นไปได้ แต่จะต้องทุ่มเทอย่างมาก โดยเฉพาะในด้านการขนส่งและอุตสาหกรรม
อันดับ 3 สวีเดน
สัดส่วนการผลิตพลังงานทดแทน : ร้อยละ 50.92%
สวีเดนเป็นประเทศแรกที่แนะนำการกำหนดราคาคาร์บอนและยังเป็นประเทศที่มีราคาคาร์บอนสูงที่สุดในโลก สวีเดนมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 59% จากระดับปี 2005 ภายในปี 2030 และตั้งเป้าให้เศรษฐกิจคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2045
ในปี 2012 สวีเดนบรรลุเป้าหมายในการใช้พลังงานหมุนเวียนเกิน 50% และตั้งเป้าผลิตไฟฟ้าหมุนเวียน 100% ภายในปี 2040 แหล่งพลังงานหมุนเวียนที่ใช้กันมากที่สุดคือพลังงานน้ำซึ่งส่วนใหญ่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า และพลังงานชีวภาพซึ่งส่วนใหญ่ใช้เพื่อให้ความร้อน
อันดับ 4 บราซิล
สัดส่วนการผลิตพลังงานทดแทน : ร้อยละ 46.22%
นี่เป็นผู้นำด้านการผลิตพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนในอเมริกาใต้ คาดว่าภายในปี 2029 การลงทุนในภาคไฟฟ้าของบราซิลจะสูงถึง 9.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท
พลังงานทดแทนที่ใช้เยอะในบราซิลคือพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม แต่ตลาดพลังงานนิวเคลียร์ในบราซิลก็ถือว่ามีแนวโน้มที่ดี โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าในอีก 30 ปีจะมีลงทุนประมาณ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.75 ล้านล้านบาทในภาคพลังงานนิวเคลียร์ของบราซิล แต่ในปัจจุบันบราซิลมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 แห่ง คืออังกรา 1 (Angra 1) และอังกรา 2 มีกำลังการผลิตติดตั้งมากกว่า 1,900 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งคิดเป็น 2% ของการผลิตไฟฟ้าของบราซิล ส่วนอังกรา 3 อยู่ระหว่างขั้นตอนการก่อสร้าง
อันดับ 5 นิวซีแลนด์
สัดส่วนการผลิตพลังงานทดแทน : ร้อยละ 40.22
นิวซีแลนด์นับว่าประสบความสำเร็จในการผลิตพลังงานไฟฟ้าโดยที่ไม่ได้รับงบสนับสนุนจากรัฐบาล โดยเฉพาะในภาคส่วนพลังงานน้ำและพลังงานความร้อนใต้พิภพ นิวซีแลนด์ยังให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30% จากระดับในปี 2005 ภายในปี 2030 หนึ่งในผู้ให้บริการพลังงานรายใหญ่ที่สุดในประเทศคือบริษัทเจเนซิส (Genesis)
อันดับ 6 เดนมาร์ก
สัดส่วนการผลิตพลังงานทดแทน : ร้อยละ 39.25
เดนมาร์กตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 70% จากระดับในปี 1990 ภายในปี 2030 และตั้งเป้าผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทดแทนได้อย่างน้อย 50% ภายในปี 2030 ประเทศนี้เป็นผู้นำระดับโลกในด้านพลังงานลมอยู่แล้ว และกำลังเลิกใช้พลังงานถ่านหินอีกด้วย บริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในเดนมาร์กคือเออร์สเตด เอ/เอส (Ørsted A/S) ซึ่งก่อนหน้านี้รู้จักกันในชื่อดอง เอเนอร์จี (Dong Energy)
อันดับ 7 ออสเตรีย
สัดส่วนการผลิตพลังงานทดแทน : ร้อยละ 37.48
พลังงานทดแทนหลักของออสเตรียมาจากพลังงานน้ำ และออสเตรียตั้งเป้าที่จะใช้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนได้ครบ 100% ภายในปี 2030 บริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในออสเตรียคือโอเอ็มวี กรุ๊ป (OMV Group) ซึ่งผลิตพลังงานในประเทศมานานกว่า 60 ปี
อันดับ 8 สวิตเซอร์แลนด์
สัดส่วนการผลิตพลังงานทดแทน : ร้อยละ 36.72
พลังงานนิวเคลียร์และพลังน้ำเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญของสวิตเซอร์แลนด์ แต่ทั้งนี้ในปี 2017 ประชากรในประเทศลงมติให้เลิกใช้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ ดังนั้นจึงถือว่าอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน บริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในสวิตเซอร์แลนด์คือ แอ็กซ์โป (Axpo) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในระดับนานาชาติ
อันดับ 9 ฟินแลนด์
สัดส่วนการผลิตพลังงานทดแทน : ร้อยละ 34.61
พลังงานนิวเคลียร์ พลังน้ำ และพลังงานชีวภาพเป็นเสาหลักสำคัญของยุทธศาสตร์พลังงานที่ยั่งยืนของฟินแลนด์ และประเทศมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็น 0 ภายในปี 2035 นอกจากนี้ยังถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ทั้งภาครัฐและเอกชนสนับสนุนด้านการวิจัยพลังงาน การพัฒนา รวมถึงเป็นผู้นำระดับโลกด้านเชื้อเพลิงชีวภาพรุ่นที่สองที่ผลิตจากไม้ โดยเฉพาะไบโอดีเซล
บริษัทฟอร์ทูม (Fortum) เป็นธุรกิจค้าปลีกไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในฟินแลนด์และใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศนอร์ดิก โดยให้บริการลูกค้ามากกว่า 2 ล้านรายด้วยการผลิตไฟฟ้าโดยไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
อันดับ 10 โคลอมเบีย
สัดส่วนการผลิตพลังงานทดแทน : ร้อยละ 33.02
โคลอมเบียถือเป็นผู้นำด้านการขนส่งสาธารณะด้วยไฟฟ้า และยังเป็นหนึ่งในผู้ใช้ไฟฟ้าพลังงานน้ำรายใหญ่ที่สุดในโลกด้วย บริษัทผลิตไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโคลอมเบียคือ เอเนล (Enel) ซึ่งรวมถึงพลังงานทดแทนด้วย โดยบริษัทมีแผงโซลาร์เซลล์ประมาณ 300 แผงที่สามารถผลิตพลังงานได้เพียงพอต่อความต้องการรายเดือนของครัวเรือนประมาณ 753 ครัวเรือน
ส่วนประเทศไทยของเราอยู่ในอันดับที่ 51 ด้วยสัดส่วนการผลิตพลังงานทดแทนที่ร้อยละ 7.11 หากเทียบในอาเซียนจะอยู่อันดับที่ 5 ตามหลังเวียดนาม (อันดับ 19 ร้อยละ 22.73) ฟิลิปปินส์ (อันดับ 39 ร้อยละ 10.9) อินโดนีเซีย (อันดับ 43 ร้อยละ 10.39) และมาเลเซีย (อันดับ 48 ร้อยละ 8.06)
และนี่คือ 10 อันดับแรกของประเทศที่มีสัดส่วนการผลิตพลังงานทดแทนเยอะที่สุดในโลก ข้อมูลนี้ได้มาจากบริษัทวิจัยชื่อ ไวซ์โวเตอร์ (Wisevoter)
ที่มาข้อมูล Energydigital, Wisevoter