โคราชเเจ้ง "ผู้ป่วยโควิด" ล้นเตียง หอพักหลายแห่ง ไม่ให้ นศ.หรือผู้เช่าใช้เป็นที่กักตัว
สถานการณ์โควิด 19 แพร่ระบาดในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา น่าเป็นห่วง โดยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงติดต่อกันหลายวัน ซึ่งวานนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2565) ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ นิวไฮ สูงถึง 718 ราย เป็นการติดเชื้อจากนอกจังหวัด 17 ราย ที่เหลือ 701 ราย ติดเชื้อกันเองในจังหวัด และตรวจพบในพื้นที่ อ.เมืองนครราชสีมา มากสุด ทำให้ยอดป่วยสะสมอยู่ที่ 45,873 ราย แต่รักษาหายแล้ว 40,800 ราย ยังรักษาอยู่ 4,763 ราย และเสียชีวิตสะสม 310 ราย ซึ่งผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวอยู่ เป็นผู้ป่วยวิกฤติเคสสีแดง จำนวน 42 ราย เคสสีเหลือง 1,012 ราย และเคสสีเขียวอีก 3,709 ราย โดยกระจายรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล จำนวน 2,001 ราย ,อยู่ รพ.สนาม 274 ราย ,อยู่ CI สถานกักตัวชุมชน 1,090 ราย และ HI กักตัวอยู่ที่บ้าน 1,398 ราย
ซึ่งยอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เตียงรองรับผู้ป่วยโควิด 19 ในโรงพยาบาลใกล้เต็ม โดยเฉพาะ รพ.มหาราชนครราชสีมา คงเหลือเตียงรองรับผู้ป่วยวิกฤติเคสสีแดง แค่ 26 เตียงเท่านั้นจากทั้งหมด 236 เตียง ซึ่งในจำนวนนี้ต้องสงวนไว้รักษา 7 กลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว ภาวะน้ำหนักเกินพิกัด ผู้สูงวัย และเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี รวมทั้ง ผู้ป่วยสีแดงเชื้อลงปอดที่จะต้องเฝ้าระวังสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดด้วย
ส่วนผู้ป่วยเคสสีเหลือง ใน รพ.มหาราชฯ และ รพ.ต่างๆ รวม 41 แห่ง มีเตียงอยู่ 2,398 เตียง ครองเตียงแล้ว 2,001 เตียง เหลือเตียงว่าง 397 เตียง และผู้ป่วยเคสสีเขียว มีกระจายรักษาอยู่ที่ รพ.สนาม 2 แห่ง ตอนนี้ครองเตียงอยู่ 274 เตียง จากทั้งหมด 339 เตียง เหลือเตียงว่าง 65 เตียง และที่สถานที่แยกกักในชุมชน หรือ CI จำนวน 139 แห่ง มีผู้ป่วยครองเตียงอยู่ 1,090 เตียง จากทั้งหมด 3,863 เตียง เหลือเตียงว่าง 2,773 เตียง สรุปภาพรวมเตียงรองรับผู้ป่วยโควิดในจังหวัด มีจำนวนทั้งหมด 6,862 เตียง มีผู้ป่วยครองเตียงแล้ว 3,601 เตียง คงเหลือเตียงว่างแค่ 3,261 เตียงเท่านั้น
ซึ่งจากสถานการณ์ยอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และตรวจพบผู้ติดเชื้อในเขต อ.เมืองนครราชสีมา มากสุด เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 25 ของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวัน ทำให้ขณะนี้เกิดปัญหาการครองเตียงขึ้น ทางเทศบาลนครฯ และท้องถิ่น ต้องเร่งหาสถานที่จัดตั้งศูนย์พักคอยที่มีการดูแลรักษาตามมาตรสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ส่วนการกักตัวผู้ป่วยในบ้าน ในระบบ HI (Home Isolation) ส่วนใหญ่จะมีข้อจำกัดการใช้ห้องน้ำและสถานที่ค่อนข้างแคบ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในครอบครัวมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ยังมีรายงานเพิ่มเติมอีกว่า ในเขตอำเภอเมืองนครราชสีมา ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นักศึกษาและกลุ่มวัยทำงาน โดยจำนวนหนึ่งจะเช่าห้องหรือเช่าหอพักอาศัยอยู่ ซึ่งล่าสุดพบว่า เจ้าของหอพักหลายแห่ง ปฏิเสธไม่ให้ผู้เช่าใช้ห้องพักหรือห้องเช่าเป็นสถานที่กักตัวผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 19 แม้ว่าจะดำเนินตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดและเป็นผู้ป่วยเคสสีเขียวที่มีอาการไม่มากหรือไม่แสดงอาการก็ตาม
ภาพ ผู้สื่อข่าว จ.นครราชสีมา