ดึงกลับ “ค่าแรงขั้นต่ำ” หาสูตรคำนวณใหม่ โอกาสปรับค่าจ้างเพิ่ม
หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ออกมาเปิดเผยด้วยเรื่องนี้ด้วยตัวเอง “ส่วนตัวได้ตั้งข้อสังเกตไปแล้ว ซึ่งต้องให้เกียรติคณะกรรมการไตรภาคีพิจารณาตัวเลข แต่ต้องไม่ใช่ตัวเลขปัจจุบัน ที่ปรับเพียง 2-16 บาท”
ซึ่งก่อนหน้านั้นทันทีที่เห็นตัวเลขจากมติเอกฉันท์ของคณะกรรมการค่าจ้าง นายกฯ เศรษฐา มองว่า เป็นอัตราที่ปรับขึ้นน้อยเกินไป เมื่อเทียบกับระยะเวลาที่ไม่ได้มีการปรับค่าจ้งมานานแล้ว ขณะที่ค่าครองชีพที่สูงขึ้นทุกวันและยืนยัน “ต้องทบทวนใหม่” !!
ย้อนกลับไปที่มติคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ซึ่งประกอบด้วย 3 ฝ่าย (ไตรภาคี) ที่มีการประชุมเมื่อวันที่ 8 ธันวามคม 2566 มีมติเอกฉันท์เห็นชอบปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 ให้กับแรงงาน 77 จังหวัด เพิ่มขึ้นอัตราวันละ 2-16 บาท เฉลี่ยร้อยละ 2.37 แบ่งเป็น 17 อัตรา
โดยอัตราสูงสุด อยู่ที่ 370 บาท 1 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต ขณะที่อัตราต่ำสุด 330 บาท มี 3 จังหวัด คือ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ขณะที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล นครปฐมและสมุทรสาคร รวม 6 จังหวัด อยู่ที่อัตรา 363 บาท ส่วน 14 อัตราที่เหลือ ใช้ในพื้นที่ 67 จังหวัด อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 361 บาท ถึง 338 บาท
เปิดสูตรคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
กลไกพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำดำเนินการตาม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 78 ให้มีคณะกรรมการค่าจ้าง ประกอบด้วย 3 ฝ่าย คือฝ่ายรัฐบาลมีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานกรรมการ กับผู้แทนอีก 4 คน ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละ 5 คน ในรูปแบบคณะกรรมการไตรภาคี มีอำนาจกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ มาตรา 87 ระบุว่า ในการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้คณะกรรมการค่าจ้างศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่น
โดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งก่อนตัวเลขจะถูกเคาะจากคณะกรรมการค่าจ้าง ต้องผ่านคณะอนุกรรมการพิจารณาจ้างขั้นต่ำแต่ละจังหวัด ซึ่งก็มี 3 ฝ่ายเหมือนกัน
นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า ตัวเลขอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ผ่านคณะกรรมการไตรภาคี เป็นการพิจารณามาตามขั้นตอนตั้งแต่คณะกรรมการไตรภาษีระดับจังหวัด ส่งมายังคณะกรรมการกลั่นกรองจนมาถึงคณะกรรมการไตรภาคีใหญ่ ใช้เวลาในการพิจารณาประมาณ 2 เดือน การจะทบทวนมติค่าจ้างใหม่ เป็นอำนาจตามกฎหมายของคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งการดำเนินการจะต้องเริ่มกระบวนการใหม่ตั้งแต่ต้น แต่แม้จะมีการพิจารณาใหม่โดยส่วนตัวมองว่าตัวเลขคงไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก
“ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นถือเป็นค่าแรงแรกเข้าให้กับแรงงานที่เพิ่งเริ่มทำงาน ส่วนแรงงานที่มีทักษะฝีมือ ผู้ประกอบการได้จ่ายค่าแรงที่มากกว่าที่กำหนดไว้อยู่แล้ว บางอุตสาหกรรมอาจจะได้มากกว่า 400 บาทต่อวัน”
นายวีรสุข แก้วบุญปัน กรรมการค่าจ้างสัดส่วนลูกจ้าง ระบุหลังคณะอนุกรรมการแต่ละจังหวัดพิจารณาอัตราที่เหมาะสมของแต่ละพื้นที่แล้ว จะส่งมาคณะกรรมการกลั่นกรองที่มีนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ หอการค้า กระทรวงพาณิชย์ สภาอุตสาหกรรม ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่จะดูว่าตัวเลขที่ส่งว่าสอดคล้องกับข้อเท็จจริงแต่ละพื้นที่หรือไม่ จะเห็นว่าบางจังหวัดขอมาน้อย บางจังหวัดขอมาสูงมาก ก็จะต้องมีการพิจารณาปรับลดลงตามสถานการณ์ แล้วจึงส่งเรื่องเข้าคณะกรรมการค่าจ้างชุดใหญ่ หรือ ไตรภาคี ซึ่งก็จะพิจารณาอย่างรอบคอบ
“ซึ่งตามกฎหมายกรรมการไตรภาคีที่มีมติเห็นชอบกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ปลัดกระทรวงแรงงานมีหน้าที่เสนอมตินั้นต่อรมว.แรงงาน เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม ครม. เพื่อทราบ ย้ำว่า “เพื่อทราบ” ไม่ใช่ “เพื่อพิจารณาอนุมัติ” และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามที่กรรมการไตรภาคีประกาศว่าจะให้มีผลบังคับใช้เมื่อใด”
"พิพัฒน์" ชงบอร์ดไตรภาคี ถกค่าจ้างใหม่
รมว.แรงงาน “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” ที่ตัดสินใจดึงเรื่องปรับค่าแรงขั้นต่ำออกจากวาระการพิจารณาคณะรัฐมนตรี วันที่ 12 ธ.ค. ก่อน ระบุว่า การพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ภายใต้คณะกรรการไตรภาคี แต่เนื่องจากประเทศไทยเป็นสมาชิกองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ดังนั้นการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำจึงต้องอยู่ในกรอบของไอแอลโอด้วย ซึ่งข้อสำคัญคือ ให้พิจารณาจากค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ทั้งเรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ ฯลฯ ทั้งนี้ ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี มีช่วงของปี 2563-2564 ที่ทั้งโลกได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
“ไม่เห็นด้วยกับการนำหลักการคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำ โดยใช้ฐานปี 2563-2564 ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดมาเป็นสูตรคำนวณด้วย โดยจะเสนอไปยังคณะกรรมการไตรภาคีพิจารณาเพิ่มเติมใหม่อีกครั้ง”
รมว. แรงงาน ย้ำว่า การดำเนินการจะทำให้เร็วที่สุด และจะได้ข้อสรุปให้เดือนธันวาคม 2566 นี้ เพื่อให้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเริ่มต้นได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ทันปีใหม่นี้
จิตฤดี บรรเทาพิษ เรียบเรียง
ข้อมูลและภาพ TNN