ลาวจ่อพัฒนาสารพัดแหล่งพลังงาน ตั้งเป้าลดนำเข้า 'ไฟฟ้า' หน้าแล้ง
เวียงจันทน์, 10 พ.ย. (ซินหัว) -- วันพุธ (10 พ.ย.) หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ ไทมส์ รายงานว่ารัฐบาลลาวให้คำมั่นเพิ่มความหลากหลายของแหล่งพลังงานผ่านการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานถ่านหิน เพื่อลดปริมาณการนำเข้าไฟฟ้ากลับคืนจากประเทศเพื่อนบ้านยามหน้าแล้ง และเพิ่มปริมาณการส่งออกพลังงานของประเทศ
เมื่อไม่นานนี้ ดาววง พอนแก้ว รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ กล่าวระหว่างการประชุมสภาแห่งชาติลาว (NA) ว่าลาวมีศักยภาพมหาศาลในการผลิตพลังงานจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ แสงอาทิตย์ และลม สำหรับจัดจำหน่ายให้ไทย เวียดนาม และกัมพูชา
ปัจจุบันลาวมีแหล่งพลังงาน 82 แห่ง พร้อมกำลังการผลิตติดตั้งรวมกว่า 10,000 เมกะวัตต์ เมื่อนับถึงสิ้นปี 2020 ซึ่งร้อยละ 80.4 ของพลังงานทั้งหมดมาจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ และร้อยละ 18.6 มาจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน
ดาววงกล่าวว่าร้อยละ 91.49 ของไฟฟ้าที่ใช้ในลาวมาจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ พร้อมเสริมว่าแหล่งพลังงานที่หลากหลายจะช่วยรับประกันความมั่นคงด้านพลังงานของลาว
ลาววางแผนผลิตไฟฟ้า 1,807 เมกะวัตต์ ระหว่างปี 2021-2025 โดยร้อยละ 57 เป็นไฟฟ้าพลังน้ำ ร้อยละ 19 เป็นไฟฟ้าจากถ่านหิน และร้อยละ 24 เป็นไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ อีกทั้งต้องการผลิตไฟฟ้าอีก 5,559 เมกะวัตต์ภายในปี 2030 โดยร้อยละ 77.59 เป็นไฟฟ้าพลังน้ำ ส่วนที่เหลือจะเป็นไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ลม และถ่านหิน
มีการคาดการณ์ว่ากำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ของลาวจะอยู่ระหว่าง 10,000-15,000 เมกะวัตต์ ขณะศักยภาพการผลิตพลังงานลมอยู่ที่ราว 100,000 เมกะวัตต์
"เหตุผลหลักที่เราต้องการยกระดับการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินคือเพื่อลดการนำเข้าไฟฟ้ากลับคืน และแก้ไขปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าในฤดูแล้ง" ดาววงระบุ
ก่อนหน้านี้ดาววงเผยกับหนังสือพิมพ์ฯ ว่าลาวมีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน 2 แห่งในแขวงเซกอง ซึ่งจะเปิดดำเนินการและเริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าสู่กัมพูชาในปี 2025
ทั้งนี้ ลาวทำรายได้จากการส่งออกไฟฟ้า 2.01 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.69 หมื่นล้านบาท) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2021 เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2020