ศึกษาพบ 1 ใน 2 คน เสี่ยงมี 'ความผิดปกติทางจิต' ตอนอายุ 75 ปี
บริสเบน, 31 ก.ค. (ซินหัว) -- งานวิจัยใหม่จากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ของออสเตรเลีย และโรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ดของสหรัฐฯ ซึ่งเผยแพร่ผ่านวารสารแลนซิต ไซเคียทรี (Lancet Psychiatry) เมื่อวันอาทิตย์ (30 ก.ค.) ประเมินว่าบุคคลราว 1 จากใน 2 คน มีแนวโน้มมีความผิดปกติทางจิตอย่างน้อย 1 กรณี เมื่ออายุ 75 ปี
คณะนักวิจัยพบความเสี่ยงเป็นโรคหรือความผิดปกติทางจิตอย่างใดอย่างหนึ่งเมื่ออายุ 75 ปี อยู่ที่ร้อยละ 46.4 ในกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามเพศชาย และร้อยละ 53.1 ในกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามเพศหญิง โดยการศึกษานี้รวบรวมข้อมูลจากผู้ใหญ่ 156,331 คนใน 29 ประเทศและภูมิภาคระหว่างปี 2001-2022
"การบริโภคแอลกอฮอล์" และ "ภาวะซึมเศร้า" เป็นความผิดปกติทางจิตที่พบบ่อยที่สุด 2 อันดับแรกในผู้ชาย ส่วน "ภาวะซึมเศร้า" และ "โรคกลัวเฉพาะอย่าง" เป็นความผิดปกติทางจิตที่พบบ่อยที่สุด 2 อันดับแรกในผู้หญิง โดยความผิดปกติทางจิตเหล่านี้มักเกิดขึ้นครั้งแรกในวัยเด็ก วัยรุ่น หรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้น
จอห์น แมคแกรธ ผู้เขียนหลักและอาจารย์จากสถาบันสมองควีนส์แลนด์ของมหาวิทยาลัยฯ ระบุว่าผลวิจัยสะท้อนความชุกสูงของความผิดปกติทางจิต โดยร้อยละ 50 ของประชากรมีความผิดปกติทางจิตอย่างน้อย 1 กรณี เมื่ออายุ 75 ปี
แมคแกรธกล่าวว่าอายุสูงสุดของการเกิดอาการครั้งแรกอยู่ที่ 15 ปี โดยอายุมัธยฐานของการเกิดอาการครั้งแรกอยู่ที่ 19 ปีในผู้ชาย และ 20 ปีในผู้หญิง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ตอกย้ำความจำเป็นของการลงทุนด้านประสาทวิทยาศาสตร์พื้นฐานเพื่อทำความเข้าใจการเกิดความผิดปกติทางจิตเหล่านี้
ด้าน โรนัลด์ เคซส์เลอร์ ผู้ร่วมเขียนและอาจารย์จากโรงเรียนฯ ชี้ว่าการเข้าใจอายุที่ความผิดปกติทางจิตเหล่านี้มักเกิดขึ้น จะช่วยคณะผู้เชี่ยวชาญปรับปรุงการช่วยเหลือแทรกแซงทางสาธารณสุขและแจกจ่ายทรัพยากรเพื่อรับรองว่ามีการสนับสนุนอันเหมาะสมและทันท่วงทีสำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยง