รีเซต

ผู้เชี่ยวชาญไซเบอร์เตือนภัย ปัญญาประดิษฐ์แชตบอต อาจเพิ่มความเสี่ยงข่าวลวง

ผู้เชี่ยวชาญไซเบอร์เตือนภัย ปัญญาประดิษฐ์แชตบอต อาจเพิ่มความเสี่ยงข่าวลวง
TNN ช่อง16
17 กุมภาพันธ์ 2566 ( 14:47 )
58
ผู้เชี่ยวชาญไซเบอร์เตือนภัย ปัญญาประดิษฐ์แชตบอต อาจเพิ่มความเสี่ยงข่าวลวง

นับตั้งแต่การเปิดตัวปัญญาประดิษฐ์ แชตจีพีที (ChatGPT) แชตบอตตอบคำถามสุดอัจฉริยะ ที่กลายเป็นแรงผลักดันให้เกิดบริการเอไอตอบคำถามเจ้าอื่น ๆ เช่น บิง (Bing) จากไมโครซอฟต์ หรือ บาร์ด (Bard) จากกูเกิล ก็มีเสียงจากผู้เชี่ยวชาญ ที่ออกมาเตือนให้เราระวังการเสพข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์มากขึ้น เพราะอาจจะเสี่ยงต่อการเจอภัยไซเบอร์ได้


แอนดรูว์ พาเทล (Andrew Pate) ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ จากประเทศฟินแลนด์ ได้ออกมาเตือนว่า ขณะที่ความนิยมของเอไอแชตบอตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็ต้องระวังความเสี่ยงในการเจอภัยไซเบอร์ต่าง ๆ เช่น ข่าวปลอม ฟิชชิ่ง (Phishing) หรือการหลอกเอาข้อมูลไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต และการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต ที่อาจจะเกิดขึ้นจากฝีมือของการใช้เอไอเหล่านี้ในทางที่ผิด


ภาพจาก Google

 


โดยเขาและทีมงานได้ลองทำการวิจัย เพื่อทดสอบว่าการใช้ปัญญาประดิษฐ์ผลิตข้อความที่ไม่เหมาะสม หรือข้อความที่ยุยงให้เกิดอันตราย จะสร้างขึ้นได้ง่ายแค่ไหน? ด้วยการคัดลอกข้อความเกี่ยวกับประเด็นการเมืองต่าง ๆ เช่น กรณีท่อส่งก๊าซใต้ทะเลนอร์ดสตรีมรั่ว จากแหล่งข้อมูลเช่น วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรีบนอินเทอร์เน็ต และจากบทความออนไลน์อื่น ๆ 


จากนั้น ก็ลองให้เอไอแชตบอต เขียนบทความเป็นนัยว่าสหรัฐฯ เป็นคนไปโจมตีท่อส่งก๊าซนั้น ปรากฏว่ามันเขียนออกมาได้น่าเชื่อถือดีมาก จึงเป็นไปได้ว่าเอไออาจจะเขียนข่าวขึ้น จากข้อความที่เราป้อนไป โดยที่ไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงอะไรเลย


ภาพจาก BBC News


ซึ่งการทดลองนี้ นอกจากจะชี้ให้เห็นว่าเอไอผลิตข่าวปลอมแล้ว ยังชี้ให้เห็นว่าตัวของเอไอเอง ก็อาจจะยังไม่เก่งพอ ที่จะแยกแยะข้อมูลข้อเท็จจริงได้เหมือนมนุษย์ และอาจจะทำให้เกิดข้อผิดพลาดขึ้น เช่น กรณีของการเปิดตัวแชตบอต บาร์ด (Bard) จากกูเกิล ที่ให้ข้อมูลที่ผิดพลาด หลังระบุว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ เป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศตัวแรกที่ถ่ายภาพดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ทั้งที่ต้องเป็นกล้อง Very Large Telescope หรือ VLT จากหอดูดาวทางตอนใต้ของยุโรป หรืออย่าง บิง (Bing) จากไมโครซอฟต์ ที่สาธิตสรุปรายงานการเงินของบริษัท Gap และยกตัวเลขผลกำไรการดำเนินงานมาผิด โดยระบุว่าอยู่ที่ร้อยละ 5.9 ทั้งที่จริง ๆ อยู่ที่ร้อยละ 4.6


ซึ่งทางผู้เชี่ยวชาญกล่าวเพิ่มเติมว่า หลังการใช้งานปัญญาประดิษฐ์เพิ่มขึ้น เครื่องมือที่ใช้ในการตรวจจับการละเมิดทางออนไลน์ การคุกคามทางสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ก็จะมีความสำคัญตามไปด้วย แต่อย่างไรก็ตาม นอกจากพึ่งพาเครื่องมือเหล่านี้แล้ว เราเองในฐานะผู้ใช้งานโซเชียลมีเดีย ก็ต้องรู้เท่าทันสื่อด้วยเช่นกัน เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อข่าวปลอม หรือโดนหลอกให้เชื่อข้อมูลผิด ๆ จนเกิดความเสียหายต่อตนเองและผู้อื่น



ข้อมูลจาก reutthevergeetdabbctnnthailand

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง