รีเซต

เปิดที่มาความสำคัญ “ประเพณีสงกรานต์” ยูเนสโกเตรียมขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรม

เปิดที่มาความสำคัญ “ประเพณีสงกรานต์” ยูเนสโกเตรียมขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรม
TNN ช่อง16
6 ธันวาคม 2566 ( 12:29 )
53

เปิดที่มาความสำคัญ “ประเพณีสงกรานต์” ในประเทศไทย ยูเนสโกเตรียมประกาศ ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ


นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรมเตรียมจัดงานใหญ่ ฉลองสงกรานต์ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ในโอกาสที่ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก้) จะประกาศขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 ที่เมืองคาเซเน สาธารณรัฐบอตสวานา ในวันที่ 6 ธันวาคม เวลา 17.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย



เปิดที่มา ประเพณีสงกรานต์


สงกรานต์ เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ ที่มีความงดงาม อ่อนโยน เอื้ออาทร และเต็มไปด้วยบรรยากาศของความกตัญญู ความสนุกสนาน ความอบอุ่น และการให้เกียรติเคารพซึ่งกัน โดยใช้ “น้ำ” เป็นสื่อในการสร้างสัมพันธไมตรี


ตามคติโบราณที่สืบทอดกันมาแต่เดิมจนถึงปัจจุบัน ถือว่าวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย โดยปกติกำหนดวันสงกรานต์ไว้ 3 วัน วันแรกเรียกว่า วันมหาสงกรานต์ คือวันที่พระอาทิตย์ เคลื่อนจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ วันที่ 2 เป็นวันเนา และวันที่ 3 เป็นวันเถลิงศก (วันขึ้นปีใหม่เปลี่ยนจุลศักราช) 


ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา วันมหาสงกรานต์จะตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน แต่กำลังจะเปลี่ยนเป็นวันที่ 14 เมษายน เพราะการคำนวณตามคัมภีร์สุริยยาตร์นั้น วันมหาสงกรานต์จะเลื่อนไป 1 วันทุก ๆ 60 ปีเศษ 


ปฏิทินหลวงในปัจจุบันกำหนดให้วันที่ 13-15 เมษายน เป็นวันเทศกาลสงกรานต์ แต่วันเถลิงศกยังอาศัยการคำนวณอยู่ บางปีจึงเป็นวันที่ 15 เมษายน และบางปีเป็นวันที่ 16 เมษายน


ความสำคัญของประเพณีสงกรานต์


ประเพณีสงกรานต์ นับเป็นประเพณีหนึ่งที่มีคุณค่าและความสำคัญทางวัฒนธรรมที่จะแสดงถึงความรัก ความผูกพันในครอบครัว ชุมชน และสังคม เป็นประเพณีที่งดงาม อ่อนโยน เอื้ออาทร และบรรยากาศของความกตัญญู ความเคารพซึ่งกันและกัน สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน  



คุณค่าความสำคัญทางวัฒนธรรมของประเพณีสงกรานต์


คุณค่าต่อตนเอง 

วันสงกรานต์อาจถือได้ว่า เป็นวันแห่งการเริ่มต้นชีวิตใหม่ เป็นโอกาสที่ทำให้กลับมาสำรวจตนเองว่า ในรอบ ๑ ปีที่ผ่านมา เราได้กระทำการใดที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว คนรอบข้าง หรือสังคม รวมถึงสำรวจสุขภาพร่างกายและจิตใจของตนเองในการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าหรือความสุข  

คุณค่าต่อครอบครัว 

รัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 13 เมษายน ซึ่งเป็นวันมหาสงกรานต์ของทุกปีเป็น “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” เพื่อให้ลูกหลานตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ บุพการี หรือผู้อาวุโสภายในครอบครัว และกำหนดให้วันที่ 14 เมษายน ของทุกปีเป็น “วันครอบครัว” 

เนื่องด้วยช่วงเวลาดังกล่าว เป็นช่วงที่ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางกลับบ้านหรือภูมิลำเนาไปหาครอบครัว และมีโอกาสอยู่ด้วยกันพร้อมหน้าพร้อมตาเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวที รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ บิดามารดา เพื่อความเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นปีใหม่และเป็นกำลังใจซึ่งกันและกันในการดำรงชีวิต การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว รวมทั้งทำกิจกรรมอื่น ๆ ภายในครอบครัวร่วมกัน

คุณค่าต่อชุมชน 

ก่อให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีในชุมชน ทำบุญตักบาตร หรือนำอาหารไปถวายพระที่วัดร่วมกัน ได้สังสรรค์และสนุกสนานรื่นเริงด้วยการเล่นรดน้ำ และการละเล่นตามประเพณีท้องถิ่น

คุณค่าต่อสังคม 

ก่อให้เกิดความเอื้ออาทรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยกันทำความสะอาดบ้านเรือน สิ่งของเครื่องใช้ ทำความสะอาดวัดวาอาราม พื้นที่สาธารณะ และอาคารสถานที่ของชุมชนหรือหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย

คุณค่าต่อศาสนา 

วันสงกรานต์เป็นวันทำบุญครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของพุทธศาสนิกชน โดยการทำบุญตักบาตร เลี้ยงพระ ฟังเทศน์ฟังธรรม สรงน้ำพระภิกษุสงฆ์และพระพุทธรูปเพื่อความเป็นสิริมงคลและแสดงความเคารพต่อปูชนียบุคคลที่ดำรงสืบทอดพระพุทธศาสนา การทำบุญทำทาน และการถือศีลปฏิบัติธรรม ล้วนเป็นเหตุแห่งความเจริญรุ่งเรืองของชีวิต และเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนามาจนถึงปัจจุบัน


ประเพณีสงกรานต์เป็นประเพณีที่งดงามทรงคุณค่า เป็นช่วงเวลาแห่งการรักษาความสะอาดทั้งกาย ใจ และสิ่งแวดล้อม คุณค่าในการแสดงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณและการแสดงความรักความปรารถนาดีและความเอื้ออาทรแก่ญาติมิตร นับเป็นประเพณีแห่งความสมัครสมานสามัคคีในครอบครัว ชุมชน และสังคมไทย ในฐานะประชาชนคนไทยควรตระหนักถึงคุณค่า ความสำคัญ และแก่นแท้ของประเพณีสงกรานต์ที่งดงามและช่วยกันสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามด้วยการยึดถือปฏิบัติกันสืบไป 



การเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ของไทย


เทศกาลสงกรานต์ ถือเป็นการเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ของไทย คนไทยในแต่ละภูมิภาคจะมีรูปแบบ พิธีกรรม จารีต ความเชื่อ เอกลักษณ์ และการจัดกิจกรรมที่แตกต่างกันไปตามคติความเชื่อและการดำเนินชีวิต แต่กิจกรรมหลัก คือ การทำบุญถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ การอุทิศส่วนกุศลให้ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว การรดน้ำดำหัวขอพรผู้อาวุโส การสรงน้ำพระ การก่อพระเจดีย์ทราย การเล่นน้ำ การละเล่นพื้นบ้าน การแสดงมหรสพ และการทำกิจกรรมร่วมกัน 


ทั้งนี้ เพื่อสร้างความรื่นเริงและความสามัคคีกันในครอบครัวและในชุมชน ซึ่งแต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างกัน แต่ละภูมิภาคมีการละเล่นที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น นับเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่ทรงคุณค่า และสมควรสืบสานต่อยอดให้คงอยู่สืบไป





ข้อมูลจาก หอสมุดแห่งชาติ

ภาพจาก TNN ONLINE


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง