รีเซต

ก.พลังงานลงนามสัญญา PSC แปลงปิโตรเลียมในอ่าวไทยกับ ปตท.สผ.-เชฟรอนฯ

ก.พลังงานลงนามสัญญา PSC แปลงปิโตรเลียมในอ่าวไทยกับ ปตท.สผ.-เชฟรอนฯ
ทันหุ้น
30 พฤษภาคม 2566 ( 13:00 )
37

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ลงนามสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับบริษัทผู้ได้รับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย ครั้งที่ 24 ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต จำนวน 3 แปลง รวมขนาดพื้นที่กว่า 30,000 ตารางกิโลเมตร หลังจากที่ประเทศไทยไม่ได้มีการเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ใหม่มาเป็นเวลา 16 ปีแล้ว และเนื่องจากพื้นที่แปลงสำรวจดังกล่าวอยู่ใกล้กับพื้นที่ที่เคยได้รับการอนุมัติพื้นที่ผลิตไปแล้ว และอยู่ใกล้กับพื้นที่ที่มีการผลิตอยู่ในปัจจุบัน จึงมีความเป็นไปได้ที่จะสำรวจพบปิโตรเลียมเพิ่มเติม ช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศในระยะยาว

 

วันนี้ (30 พฤษภาคม 2566) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และผู้บริหารของกระทรวงพลังงาน ได้ร่วมพิธีลงนามสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับบริษัทผู้ได้รับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย ครั้งที่ 24 จำนวน 3 แปลง ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 ที่ได้อนุมัติให้บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ.อีดี) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/65 และ G3/65 ขนาดพื้นที่รวม 20,133.87 ตารางกิโลเมตร และบริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/65 ขนาดพื้นที่ 15,030.14 ตารางกิโลเมตร

 

“กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ มีภารกิจหลักในการกำกับดูแลกิจกรรมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมถึงการแสวงหาแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทย โดยการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในครั้งนี้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการพบแหล่งปิโตรเลียมใหม่ของประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ การสร้างความมั่นคงในการจัดหาเชื้อเพลิงธรรมชาติจากแหล่งภายในประเทศ การลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิตในวันนี้ นอกจากจะช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศในระยะยาวอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังนับว่าเป็นหนึ่งในมาตรการในการช่วยขับเคลื่อน และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศจากธุรกิจต่อเนื่องอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม อาทิ ธุรกิจเกี่ยวกับการสร้างแท่นผลิตปิโตรเลียม ธุรกิจภาคขนส่งรวมถึงธุรกิจร้านอาหาร โรงแรมอีกด้วย”

 

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท.สผ. เปิดเผยว่า “ในฐานะบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของคนไทย ซึ่งมีภารกิจในการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ปตท.สผ. มีความพร้อมที่จะสำรวจและพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมทั้ง 2 แปลงด้วยองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญที่สะสมมาตลอด 38 ปี โดยทั้ง 2 แปลงอยู่ใกล้กับโครงการของแปลงสำรวจ G1/61 และ G2/61 ที่ ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการอยู่แล้ว ทำให้สามารถพัฒนาโครงการได้อย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นแหล่งพลังงานในการพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยในระยะยาว”

 

ในขณะที่ทางด้านบริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยนายรณรงค์ ชาญเลขา ผู้จัดการใหญ่ เปิดเผยในฐานะผู้รับสัญญาแบ่งปันผลิตสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/65 ว่า “บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลไทย ซึ่งได้นำมาสู่การร่วมลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิตในวันนี้ เราพร้อมที่จะทำงานร่วมกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ในการพัฒนาแปลงสำรวจหมายเลข G2/65 อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และแนวทางปฏิบัติงานมาตรฐานระดับโลก เพื่อส่งมอบพลังงานที่สะอาดขึ้น อย่างปลอดภัย และเชื่อถือได้ ให้กับประเทศ เพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางพลังงาน ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำในระยะยาวต่อไป”

 

ทั้งนี้ การให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดการลงทุนสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมภายในประเทศตลอดช่วงระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียม 6 ปี เป็นเงินไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาท รวมทั้งได้รับผลประโยชน์พิเศษในรูปแบบของค่าตอบแทนการลงนาม เงินอุดหนุนเพื่อการพัฒนาปิโตรเลียมในประเทศไทย และอื่น ๆ เป็นเงินประมาณ 640 ล้านบาท และหากสามารถพัฒนาและผลิตปิโตรเลียมได้ในเชิงพาณิชย์ ในแปลงสำรวจปิโตรเลียมดังกล่าวก็จะสามารถสร้างรายได้ให้แก่รัฐในรูปแบบของค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และส่วนแบ่งปิโตรเลียมที่เป็นกำไรด้วย

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง