จรวด Neutron ผลิตจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ คอมโพสิตคาร์บอนขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
TNN ช่อง16
21 ตุลาคม 2567 ( 01:07 )
19
บริษัท ร็อคเก็ต แล็บ (Rocket Lab) สหรัฐอเมริกา กำลังอยู่ในช่วงของการพัฒนาจรวดรุ่นใหม่ชื่อ นิวตรอน (Neutron) โดยใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ คอมโพสิตคาร์บอนขนาดใหญ่ที่สุดในโลก Automated Fiber Placement (AFP) ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงวิธีการขึ้นรูปวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์จากเดิมที่ต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์หากต้องการชิ้นส่วนขนาดใหญ่ เหลือเพียงใช้เวลาเพียงวันเดียว
เครื่องพิมพ์ 3 มิติ คอมโพสิตคาร์บอนขนาดใหญ่ที่สุดในโลก Automated Fiber Placement (AFP) มีขนาดความสูง 12 เมตร น้ำหนัก 75 ตัน สามารถพิมพ์ชั้นคาร์บอนไฟเบอร์ด้วยความเร็ว 100 เมตร ต่อนาที โดยสามารถวางแผ่นคาร์บอนไฟเบอร์ในทิศทางต่าง ๆ ได้ทีละชิ้น เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับโครงสร้างจรวด ตัวอย่างเช่น การขึ้นสูงชิ้นส่วนระหว่างชั้นของจรวดนิวตรอนที่มีความยาว 28 เมตร ภายในเวลา 1 วัน รวมไปถึงชิ้นส่วนจรวดอื่น ๆ เช่น ชั้นวางถังเชื้อเพลิงที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 7 เมตร ถังเชื้อเพลิงขั้นที่ 2 ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เมตร เป็นต้น
โดยในระหว่างการพิมพ์ชิ้นส่วนจรวดหากพบข้อผิดพลาดหรือความผิดปกติเครื่องพิมพ์ 3 มิติ จะหยุดการทำงานอัตโนมัติเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ ก่อนดำเนินการต่อเพื่อความถูกต้องและความปลอดภัยสูงสุด
บริษัท ร็อคเก็ต แล็บ (Rocket Lab) ยืนยันว่าการใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ คอมโพสิตคาร์บอนขนาดใหญ่ที่สุดในโลก Automated Fiber Placement (AFP) ทำให้ประหยัดเวลาการสร้างจรวดลงได้กว่า 150,000 ชั่วโมง เมื่อเปรียบเทียบกับวัสดุและวิธีการอื่น ๆ รวมไปถึงทำให้มีต้นทุนการพัฒนาจรวดที่ถูกลง
สำหรับจรวดนิวตรอน (Neutron) ของบริษัท Rocket Lab นั้นมีความแตกต่างจากจรวด Super Heavy และยาน Starship ของบริษัท SpaceX ที่ใช้วัสดุเหล็กสเตนเลส HFS ซีรีส์ 300 เป็นหลัก โดยบริษัทให้เหตุผลว่าสเตนเลสมีความคุ้มค่ามากกว่าวัสดุคอมโพสิตคาร์บอน รวมไปถึงยาน Starliner ของบริษัท Boeing ที่ผลิตจากอะลูมิเนียมอัลลอยด์
ที่มาของข้อมูล Newatlas