รีเซต

โควิด-19 ฉุดดัชนีความเชื่อมั่น 14 จว.ใต้ วอนรัฐไม่ควรออกข่าวแพร่ระบาดมากจนตื่นตระหนก

โควิด-19 ฉุดดัชนีความเชื่อมั่น 14 จว.ใต้ วอนรัฐไม่ควรออกข่าวแพร่ระบาดมากจนตื่นตระหนก
มติชน
1 มีนาคม 2563 ( 10:27 )
58
โควิด-19 ฉุดดัชนีความเชื่อมั่น 14 จว.ใต้ วอนรัฐไม่ควรออกข่าวแพร่ระบาดมากจนตื่นตระหนก

‘ไวรัสโควิด-19’ ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นประชาชน 14 จังหวัดภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม ‘ดิ่ง’ วอนรัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ ‘ค่าครองชีพ’ ปัจจัยกระทบ

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2563 ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชน 14 จังหวัดภาคใต้ จาก 420 ตัวอย่าง ด้านเศรษฐกิจและสังคม พบว่า เดือนกุมภาพันธ์ ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมปรับตัวลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม

“ปัจจัยลบเกิดจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ค่าเงินบาทผันผวน ภัยแล้ง ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสภาพคล่องของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน คือความวิตกกังวลของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยที่พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เกิดความกังวลว่าจะมีผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงเพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนระมัดระวังตนเอง หลีกเลี่ยงการไปในพื้นที่ผู้คนพลุกพล่าน”

ผศ.ดร.วิวัฒน์เปิดเผยว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติ จีน มาเลเซีย และสิงคโปร์ ที่กำลังจะเดินทางมาท่องเที่ยวในภาคใต้ได้ยกเลิกการเดินทางแบบไม่มีกำหนด ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้การค้าขายในภาคใต้ซบเซาอย่างหนัก ผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ผลกระทบยังส่งผลต่อประชาชนรากหญ้าที่หาเช้ากินค่ำจำนวนมาก สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนับเป็นปัจจัยภายนอก ไม่มีใครคาดการณ์ไว้ก่อน ขณะนี้นับเป็นวิกฤตอย่างมากกับประชาชนส่วนหนึ่งในภาคใต้ และจะวิกฤตหนักมากกว่านี้หากภาครัฐไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้

“ภาครัฐควรบอกกับประชาชนถึงวิธีการป้องกันโรคที่ถูกต้อง ไม่ควรกระจายข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จนทำให้ประชาชนตื่นตระหนกและเกิดความหวาดกลัวจนเกินไป แต่ควรสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตโดยปกติสุข ธุรกิจในภาคใต้หลายภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดไวรัสโควิค-19 ส่งผลให้ขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ ทำให้ไม่มีเงินจ่ายค่าจ้างแก่พนักงาน จึงวอนขอให้ภาครัฐช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน”

ผศ.ดร.วิวัฒน์กล่าวอีกว่า ออกมาตรการช่วยเหลือ การให้กู้ยืมเงินแบบไม่มีดอกเบี้ย หรือดอกเบี้ยต่ำ การผ่อนผันการชำระหนี้ การร่วมมือระหว่างภาครัฐและผู้ประกอบการท่องเที่ยวในการจัดรายการส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว การจัดโปรโมชั่นการท่องเที่ยวในวันธรรมดา ส่งเสริมให้คนไทยเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น ลดหย่อนภาษี เพื่อให้คนไทยออกมาท่องเที่ยวและใช้จ่ายมากขึ้น จะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจและช่วยเหลือลูกจ้างและพนักงานของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบแล้ว ผู้ค้าขาย หาบเร่ แผงลอย

“คาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวมจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.70 และรายได้จากการทำงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.80 ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.70 และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยวในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.80 ความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า ในด้านความสุขในการดำเนินชีวิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.20 การแก้ปัญหาเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.60 และการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.40”

ผศ.ดร.วิวัฒน์กล่าวในตอนท้ายว่า ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุดคือ ค่าครองชีพ ร้อยละ 28.40 ราคาสินค้าสูง ร้อยละ 25.30 และราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ร้อยละ 17.40 ซึ่งปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรกคือ ค่าครองชีพ รองลงมาคือ ราคาสินค้าสูง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง