รีเซต

“ไฟป่าฮาวาย”แรงสุด 100 ปี “เฮอริเคน-เอลนีโญ”เร่งไฟลามเหลือแต่ซาก

“ไฟป่าฮาวาย”แรงสุด 100 ปี  “เฮอริเคน-เอลนีโญ”เร่งไฟลามเหลือแต่ซาก
TNN ช่อง16
17 สิงหาคม 2566 ( 17:19 )
199
“ไฟป่าฮาวาย”แรงสุด 100 ปี  “เฮอริเคน-เอลนีโญ”เร่งไฟลามเหลือแต่ซาก

          เป็นเวลา 9 วันแล้วสำหรับเหตุไฟป่ารุนแรงที่รัฐฮาวาย ที่ไฟป่าได้เผาทำลายพื้นที่ตั้งแต่  8 ส.ค.  ขณะที่ยอดเสียชีวิตล่าสุดวันนี้(17ส.ค.) เพิ่มขึ้น110 คน  แต่สามารถพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลได้เพียง 5 คน เนื่องจากสภาพผู้เสียชีวิตถูกไฟลวกทั่วร่างกายในระดับรุนแรง  ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชจำนวนมาก พร้อมเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอจากสมาชิกในครอบครัวผู้เสียชีวิต นอกจากนี้ยังมีผู้สูญหายอีกว่า 1,000 คน   ทำให้มีการประเมินว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตที่แท้จริงอาจสูงถึง 2-3 เท่า  ส่วนการค้นหาและสำรวจความเสียหายมีอุปสรรค ทั้งความร้อนที่ยังคุกรุ่นใต้ซากที่ถูกเผาไหม้  รวมทั้งความไม่ปลอดภัยของโครงสร้างอาคาร  





          ผู้ว่าการรัฐฮาวาย จอช กรีน  เรียกไฟป่าครั้งนี้ว่า เป็น “เฮอริเคนไฟ”  เมืองลาไฮนา ถูกเผาวอดเกือบทั้งเมือง “ไม่เหลืออะไร ยกเว้นความพังพินาศ”    ส่วน โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศจะลงพื้นที่รัฐฮาวายในวันจันทร์หน้า (21 ส.ค.) ท่ามกลางกระแสวิจารณ์และความโกรธของประชาชน หลังไบเดน ตอบว่าไม่มีความเห็น เมื่อถูกผู้สื่อข่าวสอบถามถึงตัวเลขผู้เสียชีวิต 




          มีหลายปัจจัยที่ทำให้ไฟป่าครั้งนี้ลุกลามอย่างรวดเร็ว หนึ่งในนั้นก็คือกระแสลมแรงที่มาจากอิทธิพลของ "เฮอริเคนดอรา"  ซึ่งในช่วงที่เกิดไฟป่า เฮอริเคนดอรา มีความรุนแรงระดับ 4 แม้ว่าเฮอริเคน จะอยู่ห่างจากหมู่เกาะฮาวายไปทางตะวันตกเฉียงใต้หลายร้อยไมล์ในมหาสมุทรแปซิฟิก แต่แรงลมด้วยความแรงสูงมาก ด้วยความเร็วลมมาถึง 215-220 กิโลเมตรต่อชั่วโมง   ก็ส่งผลให้ไฟป่ายิ่งลุกลามอย่างรวดเร็ว  นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งมาจากอากาศที่แห้งแล้งมากในปีนี้  ฮาวายอยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิก รับผลกระทบจาก “เอลนีโญ” โดยตรง พื้นที่ส่วนใหญ่แล้งกว่าปกติ บางส่วนรุนแรงมาก  ซึ่งโลกร้อนมีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งอากาศร้อนจัดทำให้เกิดไฟง่าย 





           ขณะเดียวกัน มีการฟ้องร้องบริษัทผู้ให้บริการไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในฮาวาย โดยให้เหตผุลว่า สายไฟฟ้าของทางบริษัทที่ล้มโค่นลงมา เป็นผลทำให้เกิดไฟป่าครั้งนี้  และบริษัทล้มเหลวในการตัดกระแสไฟ แม้ว่าสำนักอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติ จะประกาศเตือนถึงไฟป่าไว้ล่วงหน้าแล้ว  


        ส่วนอีกปัจจัยที่มีการตั้งข้อสงสัยและอยู่ระหว่างการสอบสวน ก็คือ  ระบบไซเรนเตือนภัย ที่รัฐฮาวายมีระบบไซเรนเตือนภัยภายนอก สำหรับเตือนภัยสึนามิและภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่น ๆ รวมเกือบ 400 จุด และในเกาะเมาวี มีไซเรนกลางแจ้ง 80 จุด  ขณะที่ประชาชน ระบุว่าไม่ได้ยินเสียงเตือนภัย    โฆษกสำนักงานบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉิน ของรัฐฮาวาย ระบุว่า ระบบเตือนภัยอื่น ๆ ทำงานตามปกติ เช่น การส่งข้อความเตือนภัยผ่านทางโทรศัพท์มือถือ การแจ้งเตือนทางวิทยุและโทรทัศน์  


           “ไซเรนเตือนภัย ใช้เตือนภัยสึนามิเป็นหลัก หากเปิดไซเรนประชาชนจะหนีขึ้นไปยังเนินหรือที่สูงที่ไฟป่ากำลังโหมไหม้” นี่เป็นเหตุผลที่ หัวหน้าสำนักงานจัดการเหตุฉุกเฉินของเกาะเมาวี ที่ดูแลไซเรนเตือนภัย 80  แห่ง ชี้แจงถึงสาเหตุที่ไม่เปิดไซเรนเตือนภัยในเมืองลาไฮนา   และบอกว่า แม้จะเปิดไซเรน คนส่วนใหญ่ซึ่งอยู่ในบ้านติดเครื่องปรับอากาศก็จะไม่ได้ยินเสียงไซเรน และยังมีลมกระโชกแรงมากจนอาจกลบเสียงไซเรนได้




          ไฟป่าครั้งนี้ได้เผาพื้นที่เมืองลาไฮนา ไปแล้วกว่า 5,000 ไร่  คาดว่าต้องใช้เวลาฟื้นฟูนานนับปีและงบประมาณอาจสูงถึง  5,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 190,000 ล้านบาท   ซึ่งหายนะครั้งนี้ แม้ว่าภัยธรรมชาติไม่อาจควบคุมได้ แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงการตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม  และยังเป็นบทเรียนให้หน่วยงานมีความพร้อมในการรับมือ รวมไปถึงระบบเตือนภัยต้องมีประสิทธิภาพด้วย



ข่าวที่เกี่ยวข้อง