นักวิจัยพบ สุนัขมีรสนิยมการรับชมเฉพาะตัว บุคลิกมีผลต่อการสนใจทีวี ?

ดูเหมือนว่าเพื่อนซี้สี่ขาของเรา อาจจะมีรสนิยมในการรับชมโทรทัศน์ที่ซับซ้อนกว่าที่คิด เมื่องานวิจัยล่าสุดจาก มหาวิทยาลัยออเบิร์น (Auburn University) ในรัฐแอละแบมา สหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports ชี้ให้เห็นว่า บุคลิกภาพของสุนัขอาจส่งผลต่อการตอบสนองต่อรายการทีวี การค้นพบนี้อาจเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปรับปรุงการดูแลและการฝึกฝนสัตว์เลี้ยง
จากการสำรวจข้อมูลจากเจ้าของสุนัข 453 รายที่สังเกตเห็นว่าสุนัขของพวกเขาสนใจทีวี นักวิจัยพบว่าสุนัขที่มีบุคลิกที่ตื่นเต้นง่ายมักจะติดตามวัตถุที่เคลื่อนไหวบนหน้าจอมากกว่า ในขณะที่สุนัขที่จัดอยู่ในกลุ่มขี้กลัวหรือวิตกกังวล มีแนวโน้มที่จะตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่ไม่ใช่สัตว์ เช่น เสียงกริ่งประตูหรือเสียงรถยนต์
พฤติกรรมการรับรู้วัตถุในมิติต่าง ๆ ของสุนัข
นักวิจัยระบุว่า ผลลัพธ์เหล่านี้บ่งชี้ว่านิสัยการดูโทรทัศน์อาจสามารถทำนายได้จากลักษณะบุคลิกภาพของสุนัข และสุนัขอาจรับรู้วัตถุในรูปแบบโทรทัศน์ 2 มิติ ในลักษณะที่คล้ายคลึงกับสภาพแวดล้อม 3 มิติ โดยเฉลี่ยแล้ว สุนัขในงานวิจัยมีช่วงเวลาการรับชมอยู่ที่ประมาณ 14 นาที และมีแนวโน้มที่จะตอบสนองต่อสัตว์อื่น ๆ บนหน้าจอมากกว่าวัตถุทั่วไป
สิ่งที่น่าสนใจคือ อายุ เพศ และสายพันธุ์ของสุนัขไม่ส่งผลต่อพฤติกรรมการดูทีวี นอกจากนี้ ระยะเวลาที่สุนัขสัมผัสกับทีวีก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงการตอบสนองของพวกมันแต่อย่างใด อีกทั้งนักวิจัยยังพบว่าความแตกต่างระหว่างสิ่งเร้าทางเสียงและสิ่งเร้าทางภาพนั้นมีน้อยมาก ทั้งนี้สำหรับสุนัขแล้ว สิ่งที่มันรับรู้ เช่น สุนัขตัวอื่น หรือรถยนต์ มีผลต่อการตอบสนองมากกว่าวิธีที่มันรับรู้ ไม่ว่าจะเห็นด้วยตา หรือได้ยินด้วยหู
ประโยชน์ต่อสวัสดิภาพสัตว์
งานวิจัยนี้เน้นย้ำถึงศักยภาพในการนำข้อมูลเหล่านี้ไปปรับใช้เพื่อประโยชน์ของสุนัข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานพักพิงสัตว์ โดยนักวิจัยกล่าวว่า
"การประเมินพฤติกรรมเหล่านี้เพิ่มเติมสามารถนำไปสู่การประยุกต์ใช้การแทรกแซงทางโทรทัศน์ในสถานพักพิงสัตว์ได้อย่างเหมาะสม โดยพิจารณาจากอารมณ์ของสุนัขแต่ละตัว การเพิ่มประโยชน์สูงสุดของรายการโทรทัศน์ในฐานะเครื่องมือเสริมสร้างคุณภาพชีวิตสำหรับสุนัขเลี้ยง และการคัดกรองรายการโทรทัศน์ที่อาจเป็นสาเหตุของความเครียด"
"Further evaluation of these behaviors could result in appropriate application of television interventions in shelters based upon individual dog temperament, maximization of the utility of television programming as an enrichment tool for companion dogs, and screening of television programming that could be a potential stressor for companion dogs"
แม้ว่าการศึกษาจะมุ่งเน้นไปที่สุนัขที่แสดงความสนใจในทีวีตั้งแต่แรก และอาศัยข้อมูลจากการรายงานของเจ้าของ ทำให้การขยายผลลัพธ์ไปยังสุนัขทั้งหมดอาจทำได้ยาก แต่ มาตรวัดพฤติกรรมการดูโทรทัศน์ของสุนัข (Dog Television Viewing Scale - DTVS) ที่นักวิจัยพัฒนาขึ้นก็แสดงให้เห็นถึงความหวังในการประเมินสิ่งที่สุนัขคิดเมื่อพวกมันดูทีวีได้ดียิ่งขึ้น
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
