ทาสหมาแมวต้องรู้! ไขข้อข้องใจข้อบัญญัติ "ควบคุมสัตว์เลี้ยงฉบับใหม่" มีผล 10 ม.ค.69

กทม. ไขข้อข้องใจข้อบัญญัติควบคุมสัตว์ฉบับใหม่
รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวการเตรียมความพร้อมการใช้ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. 2567 โดยมี นายสัตวแพทย์ ศิษฏพล เอี่ยมวิสูตร์ สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย นางสาวชัญญา ผาสุพงษ์ สมาคมสงเคราะห์สัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และนายโรเจอร์ โลหนันทน์ เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร
การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. 2567
สำหรับท่านที่เลี้ยงน้องหมาน้องแมวอยู่แล้ว หลายคนอาจกังวลเมื่อเห็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. 2567 ที่กำหนดให้เลี้ยงตามบ้านหรือตามห้องชุดได้ 2 ตัวหรือ 3 ตัวและเลี้ยงได้มากที่สุด 6 ตัวตามขนาดพื้นที่ที่กำหนด ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้วันที่ 10 ม.ค.69 โดยหลักของกฎหมายไม่บังคับย้อนหลัง
นั่นหมายความว่าถ้าเลี้ยงอยู่แล้วไม่มีผล ท่านเลี้ยงของท่านมา ท่านรักของท่าน เราไม่ทำอะไรเพียงแต่ขอให้ท่านมาจดทะเบียนแจ้งว่าท่านเลี้ยงอยู่ 6 แล้วก็เลี้ยงต่อไป รักเค้าให้มากๆ รับผิดชอบเค้าให้เยอะๆ อย่าให้มีเรื่องเดือดร้อนรําคาญกับเพื่อนบ้านหรือชุมชน ฉีดวัคซีนอย่างสม่ำเสมอ จดทะเบียนเค้าให้เรียบร้อย ทำหมันเลยก็ดีจะได้ช่วยเรากำกับควบคุมจำนวนไปเลย เพราะพอหลังวันที่ 10 ม.ค.69 จะได้ไม่มีน้องติดท้องไป เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวล อย่าเอาเขาไปทิ้ง เลี้ยงเขามาเลี้ยงเขาต่อไปจนกว่าเขาจะจากท่านไปเอง” รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าว
ที่มาของข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. 2567 สืบเนื่องมาจากนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง ได้แก่
1.ขึ้นทะเบียนตลอดช่วงชีวิต เพื่อเป็นการป้องกันการปล่อยทิ้งสัตว์ที่มีเจ้าของเป็นสัตว์จรจัด
2.จัดระเบียบสัตว์จร แก้ปัญหาผ่านการจัดการอย่างเป็นระบบ โดยการควบคุมการเพิ่มจำนวนสัตว์ ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และหาบ้านใหม่ให้สัตว์จร ลดการซื้อสัตว์ใหม่มาเลี้ยง
ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. 2567 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2568 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 360 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป หรือวันที่ 10 มกราคม 2569 กำหนดให้กรุงเทพมหานครเป็นเขตควบคุมการเลี้ยงสัตว์หรือปล่อยสัตว์ ดังนี้ 1.สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 2.สัตว์ปีก 3.สัตว์น้ำ 4.สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 5.สัตว์เลื้อยคลาน 6.สัตว์มีพิษหรือสัตว์ดุร้าย
สาระสำคัญของข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. 2567
สถานที่เอกชนในกรุงเทพมหานครให้เลี้ยงสัตว์ ดังนี้
1.เลี้ยงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ เช่น โค กระบือ ม้า กวาง หรือสัตว์ที่มีขนาดเดียวกันได้ไม่เกิน 1 ตัว ต่อสถานที่เลี้ยงสัตว์พื้นที่ 50 ตารางวา
2.เลี้ยงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น แพะ แกะ สุกร ม้าแคระ หรือสัตว์ที่มีขนาดเดียวกันได้ไม่เกิน 3 ตัว ต่อสถานที่เลี้ยงสัตว์พื้นที่ 50 ตาราวางวา
3.เลี้ยงไก่ เป็ด ห่านได้ไม่เกิน 1 ตัว ต่อสถานที่เลี้ยงสัตว์พื้นที่ 4 ตารางเมตร
4.เลี้ยงนกขนาดใหญ่ เช่น นกกระจอกเทศ หรือนกที่มีขนาดเดียวกันได้ไม่เกิน 1 ตัว ต่อสถานที่เลี้ยงสัตว์พื้นที่ 50 ตารางเมตร
5.เลี้ยงนกขนาดเล็กได้ไม่เกิน 5 ตัว ต่อสถานที่เลี้ยงสัตว์พื้นที่ 1 ตารางเมตร
ทั้งนี้ การเลี้ยงสัตว์ตามข้อ 1-5 ดังกล่าว ซึ่งเกินกว่าจำนวนที่กำหนด เพื่อประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ให้เป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครว่าด้วยกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ห้ามเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ในที่หรือทางสาธารณะในเขตกรุงเทพมหานคร ยกเว้น
1.เพื่อการรักษาโรคเจ็บป่วยหรือสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของสัตว์
2.เพื่อกิจกรรมใด ๆ ที่กรุงเทพมหานครประกาศกำหนดพื้นที่ส่วนหนึ่งส่วนใดให้เลี้ยงสัตว์โดยมีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนเป็นการเฉพาะ
3.เพื่อการย้ายถิ่นที่อยู่ของเจ้าของสัตว์
4.การเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ของทางราชการและการปล่อยสัตว์เพื่อการกุศลหรือจารีตประเพณี
เจ้าของสัตว์ต้องเลี้ยงสัตว์ตามปกติวิสัย และต้องปฏิบัติ ดังนี้
1.จัดให้มีสถานที่เลี้ยงสัตว์ที่มั่นคงแข็งแรงและเหมาะสมแก่ประเภทและชนิดของสัตว์ โดยมีขนาดเพียงพอแก่การดำรงชีวิตของสัตว์ มีอาหาร น้ำ แสงสว่าง และการระบายอากาศที่เพียงพอ มีระบบระบายน้ำและกำจัดสิ่งปฏิกูลให้ถูกสุขลักษณะ
2.รักษาสถานที่เลี้ยงสัตว์ให้สะอาดอยู่เสมอ จัดเก็บสิ่งปฏิกูลให้ถูกสุขลักษณะเป็นประจำ ไม่ปล่อยให้เป็นที่สะสมหมักหมมจนเกิดกลิ่นเหม็นรบกวนผู้อื่นที่อยู่บริเวณใกล้เคียง
3.จัดให้มีการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในสัตว์ เพื่อป้องกันอันตรายจากเชื้อโรคที่เกิดจากสัตว์ กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าสัตว์ที่เลี้ยงเป็นโรคอันอาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพของประชาชน ให้เจ้าของสัตว์แยกกักสัตว์นั้นไว้ต่างหาก และแจ้งให้หน่วยงานที่จดทะเบียน หรือสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัยทราบ และต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของสัตวแพทย์
4.เลี้ยงสัตว์ภายในสถานที่เลี้ยงสัตว์ของตน ไม่ปล่อยให้สัตว์อยู่นอกสถานที่เลี้ยงสัตว์ โดยปราศจาศจากการควบคุม กรณีเป็นสัตว์ดุร้ายจะต้องเลี้ยงในสถานที่หรือกรงที่บุคคลภายนอกเข้าไม่ถึงตัวสัตว์และมีป้ายเตือนให้ระมัดระวังโดยสังเกตได้อย่างชัดเจน
5.จัดให้สัตว์สามารถแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติตามสมควร
6.ควบคุมดูแลสัตว์ของตนมิให้ก่ออันตรายหรือเหตุรำคาญแก่ผู้อื่น
7.เมื่อสัตว์ตายลง เจ้าของสัตว์จะต้องกำจัดซากสัตว์และมูลสัตว์ให้ถูกสุขลักษณะ เพื่อป้องกันมีให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงหรือสัตวนำโรค ทั้งนี้ โดยวิธีที่ไม่ก่อเหตุรำคาญจากกลิ่น ควัน และไม่เป็นเหตุให้เกิดการปนเปื้อนของแหล่งน้ำ
8.ปฏิบัติการอื่นใดตามคำแนะนำของเจ้าพนักงานสาธารณสุข พนักงานเจ้าหน้าที่ คำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นรวมทั้งข้อบังคับ ระเบียบ และคำสั่งของกรุงเทพมหานคร
สำหรับในเขตกรุงเทพมหานคร เป็นเขตห้ามเลี้ยงสุนัขและแมวเกินจำนวนที่กำหนด ดังนี้
1.พื้นที่อาคารชุดหรือห้องเช่าตั้งแต่ 20 ตารางเมตร แต่ไม่เกิน 80 ตารางเมตร เลี้ยงได้ไม่เกิน 1 ตัว
2.พื้นที่อาคารชุดหรือห้องเช่าตั้งแต่ 80 ตารางเมตรขึ้นไป เลี้ยงรวมกันได้ไม่เกิน 2 ตัว
3.เนื้อที่ดินไม่เกิน 20 ตารางวา เลี้ยงรวมกันได้ไม่เกิน 2 ตัว
4.เนื้อที่ดินตั้งแต่ 20 ตารางวา แต่ไม่เกิน 50 ตารางวา เลี้ยงรวมกันได้ไม่เกิน 3 ตัว
5.เนื้อที่ดินตั้งแต่ 50 ตารางวา แต่ไม่เกิน 100 ตารางวา เลี้ยงรวมกันได้ไม่เกิน 4 ตัว
6.เนื้อที่ดินตั้งแต่ 100 ตารางวา เลี้ยงรวมกันได้ไม่เกิน 6 ตัว
เจ้าของสัตว์ที่เลี้ยงสัตว์เกินกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ ก่อนวันที่ข้อบัญญัติ กรุงเทพมหานครนี้ใช้บังคับ หรือก่อนวันที่ 10 มกราคม 2569 ให้แจ้งต่อสำนักงานเขต ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ใช้บังคับ หรือภายในวันที่ 9 เมษายน 2569 กรณีเลี้ยงสุนัขและแมวเกินกว่าจำนวนที่กำหนด เพื่อประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (ฟาร์มสัตว์ ร้านจำหน่ายสัตว์เลี้ยง คาเฟ่สัตว์เลี้ยง ร้านอาบน้ำตัดขนสัตว์ โรงแรมสัตว์) ให้เป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครว่าด้วยกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
เจ้าของสุนัขและแมวต้องนำสัตว์ไปจดทะเบียน ออกบัตรประจำตัว และฝังไม่โครชิป ภายใน 120 วัน นับแต่วันที่สัตว์เกิด หรือภายใน 30 วัน นับแต่ในที่นำสัตว์มาเลี้ยงในเขตกรุงเทพมหานคร โดยดำเนินการด้วยตนเองหรือมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปทำการแทน โดยยื่นคำขอจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ หน่วยงานที่รับจดทะเบียน สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย สำนักงานเขต พร้อมแสดงบัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าของสัตว์ ทะเบียนบ้านที่สัตว์อาศัยอยู่ และแบบหลักฐาน ใบรับรอง หนังสือยินยอมจากผู้ให้เช่า ในกรณีเป็นผู้เช่า หนังสือรับรองการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (ถ้ามี) หนังสือรับรองการผ่าตัดทำหมันจากสัตวแพทย์ (ถ้ามี) หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)
การนำสุนัขหรือแมวออกนอกสถานที่เลี้ยงต้องปฏิบัติ ดังนี้
1.แสดงบัตรประจำตัวสุนัขหรือแมว เมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น เจ้าพนักงานสาธารณสุข หรือพนักงานเจ้าหน้าที่เรียกตรวจ
2.ใช้สายจูงที่แข็งแรงและจับสายจูงตลอดเวลา หรือใช้ กระเป๋า คอก กรง หรืออุปกรณ์อื่นที่เหมาะสม เพื่อป้องกันมิให้เป็นอันตรายต่อคนหรือสัตว์อื่น กรณีเป็นสุนัขควบคุมพิเศษ เช่น พิทบูลเทอร์เรีย บูลเทอร์เรีย สเตฟฟอร์ดเซอร์บูลเทอร์เรีย รอทไวเลอร์ ฟิล่าบราซิลเลียโร ต้องใช้อุปกรณ์ครอบปาก ใช้สายจูงที่มั่นคงแข็งแรงและจับสายจูงห่างจากคอสุนัขไม่เกิน 50 เซนติเมตรตลอดเวลา
3.ห้ามบุคคลอายุต่ำกว่า 15 หรือเกินกว่า 65 ปี นำสุนัขควบคุมพิเศษออกนอกสถานที่เลี้ยง
ผู้ใดฝ่าฝืนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ มีโทษตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฝ่าฝืนตามมาตรา 29 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 25,000 บาท)
ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. 2567 ดังนี้
1.ประโยชน์ของการฝังไมโครชิปและจดทะเบียนสุนัขแมว ได้แก่ ไมโครชิปมีอายุการใช้งานตลอดช่วงชีวิตสัตว์ และไม่สูญหายเหมือนอุปกรณ์อื่นๆ เช่น ป้ายห้อยคอ กรณีพบสัตว์ที่ฝังไมโครชิปในที่สาธารณะ กทม.สามารถประสานงานติดต่อกับเจ้าของสัตว์ได้ สามารถระบุเจ้าของสัตว์ได้เมื่อเกิดข้อพิพาท เช่น สลับตัวสัตว์
2.ป้องกันการปล่อยทิ้งสัตว์ที่มีเจ้าของเป็นสัตว์จรจัด โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการควบคุมประชากรสัตว์จรจัด ผ่านโครการควบคุมแมวจรจัดในชุมชน และโครงการจ้างเหมาผ่าตัดทำหมันควบคุมจำนวนและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
ในส่วนการดำเนินการของกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1.การเตรียมความพร้อมการใช้ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. 2567 โดยประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สัตวแพทยสภา สมาคมสัตว์แพทย์ สมาคมผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ ชมรมสถานพยาบาลสัตว์และหน่วยงานอื่น ๆ รณรงค์การจดทะเบียน การฝังไมโครชิปสุนัขและแมว การออกหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่เชิงรุก 6 กลุ่มเขต ร่วมกับเครือข่ายเอกชน ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจแก่ผู้เลี้ยงสัตว์ในเขตกรุงเทพมหานคร
2.การควบคุมประชากรสัตว์ การฉีดวัดซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและจดทะเบียนสัตว์
โดยคลินิกสัตวแพทย์ กรุงเทพมหานคร 8 แห่ง ได้แก่
1.กลุ่มควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า ถ.มิตรไมตรี เขตดินแดง โทร.0 2248 7417
2.คลินิกสัตวแพทย์ กทม.1 สี่พระยา เขตบางรัก โทร. 0 2236 4055 ต่อ 213
3.คลินิกสัตวแพทย์ กทม.2 มีนบุรี เขตมีนบุรี โทร. 0 2914 5822
4.คลินิกสัตวแพทย์ กทม.3 วัดธาตุทอง เขตวัฒนา โทร. 0 2392 9278
5.คลินิกสัตวแพทย์ กทม.4 บางเขน เขดจตุจักร โทร. 0 2579 1342
6.คลินิกสัตวแพทย์ กทม.5 วัดหงส์รัตนาราม เขตบางกอกใหญ่ โทร.0 2472 5895 ต่อ 109
7.คลินิกสัตวแพทย์ กทม.6 ช่วง นุชเนตร เขตจอมทอง โทร. 0 2476 6493 ต่อ 1104
8.คลินิกสัตวแพทย์ กทม.7 บางกอกน้อย เขตบางกอกน้อย โทร. 0 2411 2432
ศูนย์ควบคุมและพักพิงสุนัขกรุงเทพมหานคร
1.ศูนย์ควบคุมสุนัขกรุงเทพมหานคร เขตประเวศ เป็นสถานที่รับสุนัขและแมวจากเรื่องร้องเรียนจาก 4 กรณี ได้แก่
1.1กรณีสงสัยหรือสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า 1.2.กรณีกัดทำร้ายคนที่มีหลักฐานชัดเจน 1.3.กรณีดุร้ายหรือมีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะสร้างความไม่ปลอดภัยที่มีการตรวจสอบแล้วว่าเป็นจริง 1.4.กรณีเจ้าของสิ้นสภาพการเลี้ยงและไม่มีทายาทรับเลี้ยง รองรับการนำสุนัขจรจัดมาผ่าตัดทำหมัน ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ทำสัญลักษณ์ก่อนปล่อยกลับคืนพื้นที่เดิมเพื่ออยู่ร่วมกับกับชุมชน คัดเลือกสุนัขและแมวที่มีสุขภาพและพฤติกรรมเหมาะสม เพื่อประชาสัมพันธ์หาผู้อุปการะโดยประสานความร่วมมือกับเครือข่ายมูลนิธิ องค์กร และสมาคมต่าง ๆ (Facebook : BKK Adopter)
2.ศูนย์พักพิงสุนัขกรุงเทพมหานคร จ.อุทัยธานี รับสุนัขจากศูนย์ควบคุมสุนัขกรุงเทพมหานคร เขตประเวศ เพื่อเลี้ยงดูแลจนหมดอายุขัย