รีเซต

เจาะลึกข้อมูลไวรัสโควิด-19 "สายพันธุ์อินเดีย" แพร่เร็ว หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน

เจาะลึกข้อมูลไวรัสโควิด-19 "สายพันธุ์อินเดีย" แพร่เร็ว หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน
TNN ช่อง16
21 พฤษภาคม 2564 ( 15:07 )
265

วันนี้ (21 พ.ค.64) จากกรณีพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อินเดีย 15 ราย ในแคมป์คนงานย่านหลักสี่ นั้น มาดูกันว่า โควิดสายพันธุ์อินเดียเป็นอย่างไร น่ากังวลแค่ไหน..?

ย้อนไปก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ออกมาประกาศให้เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ B.1.617 ที่พบครั้งแรกในอินเดีย เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2563 เป็นสายพันธุ์ที่น่าวิตกกังวล variant of concern (VOC) และดูเหมือนแพร่เชื้อได้ง่ายยิ่งขึ้น รวมทั้งมีความเป็นไปได้ที่วัคซีนโควิด-19 อาจมีประสิทธิภาพลดลง เมื่อเผชิญกับสายพันธุ์นี้

ก่อนหน้าที่ มีเชื้อกลายพันธุ์ 3 ชนิด ที่องค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล ได้แก่ 

- สายพันธุ์อังกฤษ (B.1.1.7) พบว่า ระบาดเร็ว เลี่ยงภูมิคุ้มกัน

- สายพันธุ์บราซิล (B.1.1.28.1 หรือ P.1) พบว่า เลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดี ลดประสิทธิภาพวัคซีน

- สายพันธุ์แอฟริกาใต้ (B.1.351) พบว่า มีความสามารถรวมกันทั้งหมด  คือ ระบาดเร็ว เลี่ยงภูมิคุ้มกัน ลดประสิทธิภาพวัคซีน

ขณะที่ โควิดสายพันธุ์อินเดีย B.1.617 หรือ โควิดกลายพันธุ์คู่ "Double mutant" มีการกลายพันธุ์ 2 ตำแหน่ง คือ L452R ที่เชื่อว่าช่วยให้ไวรัสจับกับโปรตีนตัวรับได้ดีขึ้นและหนีการจับกับแอนติบอดีได้ และในตำแหน่ง T478K ที่อาจส่งผลให้ไวรัสหนีภูมิคุ้มกันได้ รวมทั้งยังพบการขาดหายไปของกรดอะมิโนสองตำแหน่งคือ ตำแหน่งที่ 157-158 ซึ่งมักพบในไวรัสที่หนีภูมิคุ้มกันได้

โควิดสายพันธุ์อินเดีย ยังมีการแยกสายพันธุ์ย่อย ออกมาเป็น

- สายพันธุ์  B.1.617.2  มีการกลายพันธุ์ 8 ตำแหน่งบนโปรตีนสไปค์ ระบาดหนักในอังกฤษ จนต้องประกาศให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล        

- สายพันธุ์ย่อย B.1.618  ที่กลายพันธุ์ 3 ตำแหน่ง (Triple mutant) เป็นเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ชนิดใหม่ที่ถูกพบครั้งแรกในรัฐเบงกอลตะวันตก (West Bengal) ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศอินเดีย จึงทำให้มีการเรียกเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่นี้ว่า "โควิดสายพันธุ์เบงกอล" ซึ่งวิวัฒนาการมาจากโควิดกลายพันธุ์คู่ ที่เป็นสายพันธุ์ Double mutant ที่พบการกลายพันธุ์สองตำแหน่งที่ E484Q และ L452R โดยนักวิทย์พบครั้งแรกในรัฐมหาราษฎระ

แต่ไวรัสสายพันธุ์เบงกอลนี้มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มที่ตำแหน่ง 484 เช่นกัน แต่เป็น E484K เหมือนสายพันธุ์แอฟริกาใต้ กับ บราซิล และพบว่าเป็นการขาดหายไปของกรดอะมิโนที่ตำแหน่ง 145-146 ซึ่งเป็นประเด็นที่นักไวรัสวิทยาหนักใจ เพราะทำให้ยากแก่การออกแบบวัคซีนเพื่อมารองรับกับการกลายพันธุ์ชนิดใหม่ เนื่องจากสายพันธุ์เบงกอลสามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็วมากขึ้น หลบหลีกแอนติบอดีในร่างกายของมนุษย์ได้ดีขึ้นกว่าเดิม และวัคซีนดูเหมือนทำอะไรไม่ได้

ทั้งนี้ ทีมวิจัยจากสหรัฐ ได้นำไวรัสโควิดอินเดีย  B.1.617.2 มาทดสอบกับซีรั่มของผู้ป่วยที่หายแล้ว และ เป็นซีรั่มของคนที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มทั้งจาก Moderna และ Pfizer พบว่า ไวรัสหนีการยับยั้งของแอนติบอดีในซีรั่มได้สูงพอสมควร อยู่ที่  6.5 - 7 เท่า ใกล้เคียงกับไวรัสสายพันธุ์แอฟริกาใต้ และ บราซิล

แต่ข่าวดีคือ ภูมิคุ้มกันในซีรั่มส่วนใหญ่ที่นำมาทดสอบ ถึงแม้จะถูกไวรัสหนีได้ไปกว่า 7 เท่า ระดับก็ยังมีมากพอที่จะยับยั้งไวรัสได้อยู่ แสดงว่าถ้าเรารักษาระดับภูมิคุ้มกันให้สูงไว้ ถึงแม้จะลดลงมาสัก 7 เท่า ก็จะยังเพียงพอในการป้องกันจากไวรัสสายพันธุ์นี้ แต่ถ้าไม่มีภูมิเลย หรือ ภูมิน้อย จะเป็นปัญหาแน่นอน

ขณะที่ อังกฤษพบการระบาดโควิดอินเดียสายพันธุ์ B.1.617.2 ในสถานดูแลคนชราในลอนดอน ทีมวิจัยอังกฤษ พบว่ามี 15 รายที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ครบแล้ว 2 โดส พบว่า ไม่มีรายใดเสียชีวิต อีกทั้ง พบว่าวัคซีน มีประสิทธิภาพ 85% ในการป้องกันความรุนแรงของโรค    

ล่าสุด สื่ออินเดียอ้างผลการศึกษาโดยโรงพยาบาลอินทราปรัสถ์อพอลโล (Indraprastha Apollo) ณ เมืองนิวเดลี ประเทศอินเดีย พบว่า กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมการศึกษาในครั้งนี้ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าและเป็นบุคคลากรด้านสาธารณสุขกว่า 3,300 คนในประเทศอินเดีย มีเพียงผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเพียง 2 คน 

จากผลวิจัยดังกล่าวนั้น สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อสูง 97.38% โดยโอกาสของการป่วยนอนโรงพยาบาลภายหลังได้รับวัคซีนมีเพียง 0.06% และไม่มีผู้ป่วยรายใดต้องนอนแผนกไอซียูหรือเสียชีวิต



ปัจจุบันโควิดอินเดีย สายพันธุ์ B.1.617.2 พบติดเชื้อแล้วแล้ว กว่า 31 ประเทศ ทั้งในอเมริกา ยุโรป  เอเชีย อย่างไรก็ตาม WHO ย้ำว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ยังคงเป็นเรื่องจำเป็นและเป็นอาวุธที่มีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับโควิด-19

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง