รีเซต

การจัดเก็บข้อมูลแบบตัวอักษรคูนิฟอร์มเก็บข้อมูลได้มากกว่าไบนารี 4 เท่า

การจัดเก็บข้อมูลแบบตัวอักษรคูนิฟอร์มเก็บข้อมูลได้มากกว่าไบนารี 4 เท่า
TNN ช่อง16
3 มกราคม 2568 ( 11:53 )
20

ตัวอักษรคูนิฟอร์ม (Cuneiform) เป็นรูปแบบการเขียนที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ได้รับการนำไปปรับใช้ในเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลแบบใหม่โดยทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฟลินเดอร์ส (Flinders) ประเทศออสเตรเลีย นำโดยแอบบิเกล แมน (Abigail Mann) นักศึกษาปริญญาเอกในสาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์


สำหรับอักษรคูนิฟอร์ม (Cuneiform) มีจุดเริ่มต้นในอารยธรรมเมโสโปเตเมีย (Mesopotamia) ประมาณ 3,400 ปีก่อนคริสต์ศักราช โดยถูกใช้งานครั้งแรกโดยชาวสุเมเรียน (Sumerians) ตัวอักษรคูนิฟอร์มมีลักษณะเป็นรอยบุ๋มรูปสามเหลี่ยมและเส้นสั้น ๆ ซึ่งเกิดจากการใช้แท่งไม้หรือเหล็กที่มีปลายเป็นทรงสามเหลี่ยมกดลงบนแผ่นดินเหนียว


แทนที่นักวิจัยจะใช้ดินเหนียวแบบดั้งเดิม เทคโนโลยีใหม่ที่พัฒนาขึ้นใช้ฟิล์มโพลีเมอร์ที่มีราคาย่อมเยา และผลิตจากกำมะถันผสมกับไดไซโคลเพนตาไดอีน ข้อมูลจะถูกเก็บในฟิล์มในรูปแบบของรอยบุ๋มขนาดเล็กระดับนาโน โดยหัวเข็มปลายแหลม ซึ่งใช้แรงกดในระดับอะตอมสำหรับสร้างรอยบุ๋มและอ่านค่าต่าง ๆ หลังการจดบันทึก


เทคโนโลยีใหม่นี้พัฒนาจากการใช้วิธีดั้งเดิมที่เป็นรหัสไบนารี ซึ่งมีสถานะข้อมูลเพียง 2 ระดับ คือ 0 และ 1 แต่สำหรับวิธีการใหม่นี้ใช้การเข้ารหัสแบบเทอร์นารีที่มี 3 ระดับ โดยหากไม่มีรอยบุ๋มแสดงเป็น 0 และหาพบว่ามีรอยบุ๋มลึก 0.3–1.0 นาโนเมตร จะแสดงเป็น 1 ในขณะที่รอยบุ๋มลึก 1.5–2.5 นาโนเมตร จะแสดงเป็น 2 ส่งผลให้ระบบมีความหนาแน่นของข้อมูลเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าจากการเข้ารหัสไบนารีแบบดั้งเดิม


จุดเด่นอีกประการหนึ่งของฟิล์มโพลีเมอร์นี้คือความสามารถในการเขียนใหม่ได้ หลังจากลบรอยบุ๋มโดยการให้ความร้อนที่อุณหภูมิ 140 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 10 วินาที ฟิล์มสามารถผ่านกระบวนการเขียนใหม่ได้ถึง 4 รอบ โดยยังคงประสิทธิภาพการทำงาน การพัฒนาใหม่นี้ยังช่วยลดการใช้พลังงาน เนื่องจากกระบวนการเขียนสามารถทำได้ที่อุณหภูมิห้อง ทำให้ระบบนี้มีความยั่งยืนและเหมาะสมกับการใช้งานในอนาคต


“การวิจัยนี้เปิดโอกาสใหม่ในการใช้โพลีซัลไฟด์หมุนเวียนที่เรียบง่ายสำหรับการจัดเก็บข้อมูลเชิงกล ซึ่งมีศักยภาพในการเป็นทางเลือกที่ใช้พลังงานต่ำกว่า ความหนาแน่นสูงกว่า และยั่งยืนกว่าเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน” แอบบิเกล แมน (Abigail Mann) กล่าวเพิ่มเติม


บทความเกี่ยวกับงานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Advanced Science เร็ว ๆ นี้ ส่วนการนำไปใช้จริงในระดับอุตสาหกรรมยังคงต้องรอบริษัทเอกชนเข้ามาลงทุนหรือนำผลงานการวิจัยไปใช้ประโยชน์ต่อไป


ที่มาของข้อมูล Newatlas

ที่มาของรูปภาพ Reuters

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง