รีเซต

หุ่นยนต์กันดั้มซ่อมรถไฟฟ้าในญี่ปุ่น ครึ่งบนเหมือนคน ควบคุมผ่านแว่นตา VR!

หุ่นยนต์กันดั้มซ่อมรถไฟฟ้าในญี่ปุ่น ครึ่งบนเหมือนคน ควบคุมผ่านแว่นตา VR!
TNN ช่อง16
21 กันยายน 2567 ( 09:36 )
32

รถไฟฟ้าเป็นระบบขนส่งสาธารณะที่ต้องคอยดูแลตลอด เนื่องจากในแต่ละวันมีการใช้งานหนัก แต่การดูแลรักษาก็มาพร้อมความเสี่ยงของช่างซ่อมบำรุง ทั้งการโดนระบบไฟฟ้าแรงดันสูงลัดวงจร หรือการผลัดตกจากรางที่ลอยฟ้า ด้วยเหตุนี้ บริษัท จินกิ อิไต (ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Man-Machine หรือเครื่องจักรมนุษย์) จึงได้พัฒนา จินกิ ไทป์ เซโร่ เวอร์ ทูพอยท์เซโร่ (JINKI type Zero Ver 2.0) หุ่นยนต์ขนาดใหญ่ที่มีรูปร่างคล้ายกันดั้ม (Gundam) หรือหุ่นยนต์ที่มีความคล้ายมนุษย์จากการ์ตูนญี่ปุ่นขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว


ข้อมูลหุ่นยนต์ซ่อมรถไฟในญี่ปุ่น

JINKI type Zero Ver 2.0 เป็นหุ่นยนต์ที่แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือส่วนที่มีลักษณะกายภาพคล้ายกับมนุษย์ คือมีทั้งลำตัว และแขนสองข้าง โดยส่วนแรกจะมีความสูง 12 เมตร มาพร้อมกับส่วนที่เป็นหน้าจอและระบบรับภาพ ในขณะที่ส่วนที่ 2 หรือส่วนที่เป็นท่อนล่าง จะเชื่อมต่อกับแกนรถปั้นจั่น หรือรถเครน เพื่อให้สามารถย้ายตำแหน่งระหว่างการทำงานซ่อมแซมรถไฟฟ้า


ส่วนบนของ JINKI type Zero Ver 2.0 จะติดตั้งแขนกล 2 ข้าง เพื่อใช้ยกสิ่งของที่เป็นวัสดุหรือช้ินส่วนในการซ่อมแซม รับน้ำหนักร่วมกันทั้ง 2 ข้าง ได้สูงสุด 40 กิโลกรัม ยกได้สูงสุด 10 เมตร วัดจากความสูงของตัวหุ่นยนต์ 


JINKI type Zero Ver 2.0 ควบคุมด้วยมนุษย์ในห้องควบคุมแบบไร้สาย ภายในห้องจะมีที่นั่ง และคันบังคับที่มีรูปแบบการเคลื่อนที่ เหมือนกับที่ตัวหุ่นยนต์ทำได้ เพื่อให้ความสมจริงในการควบคุม เช่น น้ำหนักการยกแขนของหุ่นยนต์ ทิศทางการหมุน บิด และเคลื่อนแขน เป็นต้น 


โดยผู้ควบคุมสามารถมองเห็นภาพรอบตัวหุ่นยนต์ จากแว่นตา VR (Virtual Realtiy) ที่จะรับภาพแบบเรียลไทม์ จากกล้องความละเอียดสูง 2 ตัว ที่อยู่บนส่วนหัวของหุ่นยนต์ และอุปกรณ์แว่นตานี้ ยังทำหน้าที่ส่งข้อมูลองศาการหันศีรษะของผู้ควบคุม ไปยังหุ่นยนต์ เพื่อให้หุ่นยนต์สามารถขยับมุมกล้องตามได้อีกด้วย


การใช้งานและเป้าหมายหุ่นยนต์ซ่อมรถไฟในญี่ปุ่น

ในการสาธิตการใช้งาน หุ่นยนต์สามารถยกสิ่งของ เพื่อส่งต่อไปยังช่างที่ต้องการ หรือหรือรับสิ่งของก็ทำได้เช่นกัน อีกทั้งยังสามารถทำงานละเอียดอ่อนอย่างการทาสีและการตัดต้นไม้ที่กีดขวางในการทำงานได้อีกด้วย


จินกิ อิไต มีเป้าหมายในการลดความเสี่ยงอันตรายจากการทำงานของมนุษย์ที่เกิดขึ้นในการซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า รวมไปถึงเพิ่มการจ้างงานกลุ่มผู้สูงอายุให้มาเป็นผู้ควบคุมหุ่นยนต์จากภาวะสังคมผู้สูงอายุในญี่ปุ่นที่พุ่งสูงขึ้น โดยบริษัทกำลังอยู่ระหว่างต่อยอดให้สามารถใช้งานเพื่อการก่อสร้างโยธา และการก่อสร้างทางหลวงในอนาคต


ข้อมูล Reuters, The Guardian, Japan Times

ภาพ Reuters


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง