รีเซต

สบส.ยืนยัน "ออกซิเจน" ทางการแพทย์ มีเพียงพอในการดูแลผู้ป่วยโควิด

สบส.ยืนยัน "ออกซิเจน" ทางการแพทย์ มีเพียงพอในการดูแลผู้ป่วยโควิด
TNN ช่อง16
6 สิงหาคม 2564 ( 15:24 )
71

วันนี้( 6 ส.ค.64) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ  ระบุว่า ขณะนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งคณะทำงานบริหารจัดการแก๊สทางการแพทย์ที่จะทำหน้าที่ประสานโรงพยาบาลและผู้ผลิตออกซิเจนเหลวในการร่วมจัดการจัดหาออกซิเจนทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาล ยืนยันว่าในขณะนี้ออกซิเจน ยังมีปริมาณเพียงพอกับการใช้รักษาผู้ป่วย 

 

 

ผู้ป่วยโควิด 19 เมื่ออาการมากขึ้น เช่นเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองมากๆ หรือ สีส้ม สีแดง มีความจำเป็นต้องใช้ออกซิเจนในการบำบัดและประคับประคองอาการ ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง คือ คณะทำงานบริหารจัดการแก๊สทางการแพทย์ ที่ร่วมกันทั้งผู้ใช้  ทางมหาวิทยาลัยต่างๆและผู้ผลิต คือ บริษัทผลิตออกซิเจนเหลวขนาดใหญ่ รวมถึงกลุ่มขนส่งต่างๆ โดยได้มีการประชุมหารือกัน สรุปว่า อัตราป่วยขณะนี้ปริมาณออกซิเจนเหลวหรือออกซิเจนที่ใช้ในทางการแพทย์ยังคงเพียงพอ 

 

 

จากการประชุมเห็นว่ามีบางเรื่องที่เป็นปัญหาที่ทำให้ระบบการให้บริการแก๊สทางการแพทย์ที่ยังไม่สมบูรณ์ได้เสนอให้มีการปรับแก้ไขแล้ว เช่น รถขนส่งแก๊สออกซิเจนเพื่อไปเติมยังโรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลต่างๆในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่า ติดขัดปัญหาในเรื่องของการขึ้นทางด่วน ทางศบค.ได้อนุญาตให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ปรับแก้ไขให้มีความสะดวกขึ้น คือ ปัญหาการเข้าพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานครได้มีการมอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติไปปรับแก้กฎระเบียบ รวมถึงอุปกรณ์บางชนิดที่ใช้ทางการแพทย์ เช่น ถังออกซิเจนขนาดเล็ก หรือเครื่องทำออกซิเจน  เนื่องจากเป็นวัสดุที่ต้องนำเข้าให้ จึงให้ อย.กำหนดเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่ต้องเร่งรัดในการอนุญาต หรือ เป็นฟาสแทรค

 

 

ทั้งนี้ ขอให้มั่นใจว่าจะมีคณะทำงานติดตามที่จะคอยทำงานร่วมกับผู้ผลิต ผู้จัดส่งการอนุญาตนำเข้าต่างๆเพื่อดูในเรื่องของการใช้ออกซิเจนไม่ให้ขาด ยืนยันว่าอัตราตอนนี้ยังเพียงพอและยังมีการเตรียมการไปจนถึงอัตราที่มีผู้ป่วยสูงสุดอีกด้วย ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนระบบแก๊สทางการแพทย์ที่ผสมกับระบบแก๊สอุตสาหกรรมจะคล้ายกับระบบสำรอง

 

 

ส่วนของการขยายฮอสพิเทล รองรับกลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง ซึ่งมีการปรับจากเดิมที่เป็นเตียงรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว โดยขั้นตอนการขยายเตียงรองรับกลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองต้องมีการติดตั้ง กล้อง CCTV เพิ่มเติมเพื่อการติดตามผู้ป่วยได้สะดวก และอุปกรณ์บางอย่างเช่น ชุดให้ออกซิเจน โดยขณะนี้มีเตียงรองรับผู้ป่วยสีเหลืองกว่ากว่า4,000 เตียง ในฮอสพิเทล ซึ่งสามารถช่วยแบ่งเบาภาระโรงพยาบาลหลักได้ และในกลุ่มผู้ป่วยอาการสีเหลือง มีความจำเป็นต้องใช้ออกซิเจนในการรักษา 

 

 

ส่วนแนวทางอื่นๆ ทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้มีการหารือกับคลินิกเสริมความงามเข้ามาสนับสนุนช่วยดูแลกลุ่มผู้ป่วย Home isolation (แยกกักตัวรักษาที่บ้าน) และกลุ่มที่สอง คือ กลุ่ม telemedicine (ที่มีแพทย์ พยาบาล ติดตามอาการทางช่องทางออนไลน์ หรือ โทรคุย) ซึ่งมีศักยภาพในการรักษาด้านออนไลน์อยู่แล้ว จะช่วยแบ่งเบาภาระสถานพยาบาลหลัก ยังมีการขยายแนวทางอื่น เพิ่มเติมเนื่องจากมีแนวคิดจากผู้ประกอบการโรงแรมที่อยากจะเปิดพื้นที่เป็น Hotel isolation ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนของการหารือรายละเอียดเพิ่มเติมกับทางผู้ประกอบการ

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง