รีเซต

วิจัยชี้ขยะพลาสติกในทะเลอยู่ในระดับอันตราย ซ้ำจะเพิ่มต่อเนื่องอีกหลายทศวรรษ

วิจัยชี้ขยะพลาสติกในทะเลอยู่ในระดับอันตราย ซ้ำจะเพิ่มต่อเนื่องอีกหลายทศวรรษ
มติชน
9 กุมภาพันธ์ 2565 ( 09:36 )
91
วิจัยชี้ขยะพลาสติกในทะเลอยู่ในระดับอันตราย ซ้ำจะเพิ่มต่อเนื่องอีกหลายทศวรรษ

ผลวิจัยหลายพันชิ้นบ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า ขยะพลาสติกในทะเลกำลังเพิ่มขึ้นในระดับที่น่าเป็นห่วง และจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไป แม้จะมีการดำเนินมาตรการเพื่อหยุดยั้งไม่ให้ขยะพลาสติกเข้าสู่ทะเลก็ตาม

 

สถาบัน Alfred Wegener ของเยอรมนี ได้ทำงานตามที่ได้รับมอบจากองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ในการตรวจสอบงานวิจัยเกือบ 2,600 ชิ้นในเรื่องดงกล่าว เพื่อดูภาพรวมก่อนการประชุมสหประชาชาติที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา ในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้

 

เมลานี เบิร์กมันน์ นักชีววิทยาผู้ร่วมการศึกษาดังกล่าว ระบุว่า เราพบขยะพลาสติกทั้งในร่องลึกมหาสมุทร ที่ผิวน้ำทะเล และในน้ำแข็งที่ทะเลอาร์กติก ทั้งนี้ บางภูมิภาค เช่น เมดิเตอร์เรเนียน จีนตะวันออก และทะเลเหลือง มีขยะพลาสติกในระดับที่เป็นอันตรายอยู่แล้ว ในขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ อาจเสี่ยงต่อการเกิดมลพิษมากขึ้นในอนาคต

 

สิ่งมีชีวิตเกือบทุกชนิดในมหาสมุทรได้รับผลกระทบจากขยะพลาสติก และมันยังทำลายระบบนิเวศน์ที่สำคัญ อาทิ แนวปะการังไปจนถึงป่าชายเลน เมื่อพลาสติกแตกตัวเป็นชิ้นเล็กๆ กลายเป็นไมโครพลาสติก มันก็จะเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารในท้องทะเล โดยสัตว์ทุกชนิดตั้งแต่วาฬ เต่า ไปจนถึงแพลงก์ตอนตัวเล็กๆ ก็จะกินมันเข้าไป

 

เบิร์กมันน์กล่าวว่า การนำพลาสติกออกจากน้ำอีกครั้งเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นผู้กำหนดนโยบายควรให้ความสำคัญกับการป้องกันไม่ให้พลาสติกเข้าสู่มหาสมุทรอีกต่อไปตั้งแต่แรก ขณะที่ผลการศึกษาบางชิ้นชี้ให้เห็นว่าปริมาณไมโครพลาสติกในท้องทะเลก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายทศวรรษ

 

ด้าน WWF ระบุว่า ผู้บริโภคสามารถช่วยลดมลภาวะที่เกิดจากพลาสติกได้ด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรม ขณะที่รัฐบาลก็ต้องเร่งทำงานและรับภาระในการแก้ปัญหาดังกล่าวด้วย สิ่งที่ต้องการคือกรอบนโยบายที่ดี เพราะนี่คือปัญหาระดับโลกและจำต้องมีวิธีแก้ไขปัญหาในระดับเดียวกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง