รีเซต

ยธ. สหรัฐฯ ฟ้อง 'กูเกิล' ฐานละเมิดกฎหมายต่อต้านผูกขาด

ยธ. สหรัฐฯ ฟ้อง 'กูเกิล' ฐานละเมิดกฎหมายต่อต้านผูกขาด
Xinhua
21 ตุลาคม 2563 ( 13:33 )
129
ยธ. สหรัฐฯ ฟ้อง 'กูเกิล' ฐานละเมิดกฎหมายต่อต้านผูกขาด

วอชิงตัน, 21 ต.ค. (ซินหัว) -- แถลงการณ์จากกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ระบุว่าเมื่อวันอังคาร (20 ต.ค.) กระทรวงฯ ได้ยื่นฟ้องคดีต่อต้านการผูกขาดกับกูเกิล เนื่องจากกูเกิล "ดำรงสถานะผูกขาดอย่างผิดกฎหมาย" ในตลาดแพลตฟอร์มค้นข้อมูลออนไลน์และตลาดการโฆษณาบนแพลตฟอร์มดังกล่าว

กระทรวงฯ ยื่นฟ้องกูเกิล ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ต่อศาลแขวงประจำเขตปกครองพิเศษโคลัมเบีย (ดี.ซี.) โดยมีอัยการระดับรัฐ 11 คน ร่วมเป็นโจทก์ในคดีนี้กับกระทรวงฯ ด้วยกระทรวงฯ ชี้ว่ากูเกิลของแอลฟาเบต อิงก์ (Alphabet Inc.) ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทสุดร่ำรวยของโลกด้วยมูลค่าตลาดสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 31.23 ล้านล้านบาท) นั้นเป็น "ผู้ผูกขาดการเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ต" ของผู้ใช้งานหลายพันล้านราย รวมถึงผู้ลงโฆษณาอีกนับไม่ถ้วนทั่วโลกกูเกิลครองสัดส่วนเกือบร้อยละ 90 ของการค้นหาข้อมูลบนโลกออนไลน์ในสหรัฐฯ มานานหลายปีแล้ว และ "ใช้ยุทธวิธีต่อต้านการแข่งขันเพื่อดำรงสถานะและขยายการผูกขาดด้านการค้นข้อมูลออนไลน์และการโฆษณาบนแพลตฟอร์มค้นหาข้อมูล"คำร้องทุกข์ของกระทรวงฯ กล่าวหาว่ากูเกิลดำรงสถานะผูกขาดด้านการค้นข้อมูลออนไลน์และการโฆษณาบนแพลตฟอร์มค้นหาข้อมูลโดยมิชอบด้วยการร่วมข้อตกลงพิเศษหลายฉบับ ซึ่งห้ามการติดตั้งบริการค้นหาข้อมูลออนไลน์รายอื่นล่วงหน้า และร่วมข้อตกลงระยะยาวกับแอปเปิล (Apple) ที่กำหนดให้กูเกิลเป็นแพลตฟอร์มค้นหาข้อมูลพื้นฐานของแอปเปิลกูเกิลใช้กำไรจากการผูกขาดเพื่อซื้อสิทธิพิเศษให้แพลตฟอร์มค้นหาข้อมูลของกูเกิลบนอุปกรณ์ เว็บเบราว์เซอร์ และจุดเชื่อมต่อการค้นหาข้อมูลอื่นๆ เพื่อ "สร้างวงจรการผูกขาดที่มีความต่อเนื่องและเป็นประโยชน์ต่อตนเอง""ปัจจุบันชาวอเมริกันหลายล้านคนพึ่งพาอินเทอร์เน็ตและแพลตฟอร์มออนไลน์ในการใช้ชีวิตประจำวัน การแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ดังนั้นการฟ้องร้องกูเกิล ซึ่งเป็นผู้คุมประตูสู่โลกอินเทอร์เน็ต ฐานละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาด จึงเป็นคดีประวัติศาสตร์สำหรับกระทรวงฯ และประชาชนชาวอเมริกัน" วิลเลียม บาร์ อัยการสูงสุดของสหรัฐฯ กล่าวสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี (CNBC) อ้างโฆษกกูเกิลรายงานว่าการฟ้องร้องครั้งนี้ "ผิดพลาดอย่างร้ายแรง" โดยให้เหตุผลว่าประชาชนเลือกใช้งานแพลตฟอร์มกูเกิลเอง ไม่ใช่เพราะมีใครบีบบังคับหรือเพราะพวกเขาไม่มีตัวเลือกอื่น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง