เจาะลึกนโยบาย เงินดิจิทัล-ค่าแรง 600 ความหวังใหม่ หากเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล
จับตา โหวตนายก 27 ก.ค.นี้
สถานการณ์การเมืองตอนนี้ ค่อนข้างจะชัดเจนแล้วว่า พรรคเพื่อไทย จะส่ง นาย เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ร่วมโหวตชิงนายกรัฐมนตรีในวันที่ 27 ก.ค.นี้
โดยนายเศรษฐา ระบุว่า ยังไม่ทราบว่าในวันที่ 27 กรกฎาคม จะมีการเสนอชื่อของตนเองเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ และเห็นว่า การผลักดันนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีถึงที่สุดไปแล้ว พร้อมยอมรับการเดินหน้าแก้ไขมาตรา 112 เป็นอุปสรรคสำคัญในการโหวตนายกรัฐมนตรี ดังนั้น หากพรรคเพื่อไทยจะเสนอชิงนายกรัฐมนตรี มาตรา112 จะต้องไม่อยู่ในการแก้ไขหรือยกเลิก ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้การสนับสนุนจากพรรคการเมืองและ สว.
อย่างไรก็ตาม ต้องมาจับตาเส้นทางการเดินหน้าต่อของ 8 พรรคร่วมภายใต้การนำของเพื่อไทย ที่ก็มีความเป็นไปได้ที่พรรคเพื่อไทยและอีก 7 พรรคร่วมจะทำการเปลี่ยนขั้วหรือสลับขั้วใหม่ โดยหลายฝ่ายได้คิดสูตรการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยที่มีความเป็นไปได้
หากผลสรุปการโหวตนายกรัฐมนตรี รอบที่ 3 นี้ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทย ได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็จะทำให้พรรคเพื่อไทย ได้เป็นรัฐบาล และเข้ามาบริหารประเทศ
ทั้งนี้ หากไล่เรียงดูนโยบายสำคัญที่เพื่อไทย เคยให้สัญญากับประชาชนไว้ หากได้เข้ามาบริหารประเทศ ก็เห็นจะมีหลายนโยบายที่ประชาชนตั้งตารอ เพื่อหวังช่วยพยุงเศรษฐกิจเรื่องปากท้อง ค่าครองชีพ และยกระดับคุณภาพชีวิต ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท และค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท
“ปั๊มหัวใจ” ประชาชน ด้วย นโยบายเงินดิจิทัล" 10,000 บาท
กระตุ้นเศรษฐกิจใหญ่ เติมเงินให้ทุกคนระบบ ใช้จ่ายใกล้บ้านผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล เติมเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้ทุกคน ใช้จ่ายใกล้บ้าน 4 กิโลเมตร
- คนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป จะได้ ‘กระเป๋าเงินดิจิทัล’ (Digital Wallet)
- กระเป๋าเงินดิจิทัลจะมีอายุการใช้งาน 6 เดือนสำหรับจับจ่ายใช้สอยสินค้าที่จำเป็นในการดำรงชีวิตที่ไม่เกี่ยวข้องกับอบายมุขโดยเฉพาะ ยาเสพติดและการพนัน และไม่สามารถซื้อของบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้
- เงินดิจิทัลนี้จะใช้จ่ายได้ เฉพาะกับร้านค้าชุมชนและบริการที่ “อยู่ในรัศมี 4 กิโลเมตร” เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและกระจายรายได้สู่ชุมชน ส่วนในพื้นที่ห่างไกลจะมีการพิจารณาเป็นกรณีด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน
- ร้านค้าสามารถนำเงินดิจิทัลมาแลกเป็นเงินบาทได้กับธนาคารในโครงการในภายหลัง
- เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล ในระยะยาวเพื่อนำประเทศเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางของ FinTech
- กระเป๋าเงินดิจิทัลคือเหรียญ (คูปอง) หรือสิทธิ์การใช้เงิน ไม่ใช่คริปโตเคอเรนซี่ ไม่ใช่เงินสกุลใหม่ แต่เป็นเหรียญ (คูปอง) หรือสิทธิ์การใช้เงิน ที่ใช้ Blockchain เขียนเงื่อนไขลงไปในนั้น เพื่อนโยบายการคลังที่ตรงจุด ไม่มีความเสี่ยง ไม่มีการเก็งกำไร ไม่มีการถูกทุบ ไม่มีการขาดทุน ไม่สามารถแลกเปลี่ยนด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นได้ ไม่มีราคาตก-ราคาขึ้น เพราะทุกเหรียญมีค่าเท่าเงินบาทเสมอ รับประกันโดยรัฐบาล
- กระเป๋าเงินดิจิทัล ใช้ระบบ Blockchain มีความปลอดภัยสูงสุด สูงกว่าระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน รู้เส้นทางการเงินทุกธุรกรรม รู้ผู้รับ รู้ผู้จ่าย เป็นระบบที่มีความโปร่งใสสูงสุด ตรวจสอบได้ทุกธุรกรรม
ทุกบาททุกสตางค์ที่ใช้จ่ายไปจะหมุนเวียนเข้ามาเป็นภาษีของรัฐบาลเพื่อเอา เงินไปสนุบสนุนประชาชนให้มีชีวิตที่ดีขึ้น
เงินดิจิทัลที่จะให้คนละ 10,000 บาท เป็นเงินดิจิทัลประเภทไหน??
ข้อแรกที่หลายคนสงสัยคือเงินดิจิทัลที่จะให้คนละ 10,000 บาท เป็นเงินดิจิทัลประเภทไหนได้รับการยอมรับทั่วไปในระบบการเงินหรือไม่ ออกได้ถูกต้องตามกฎหมายและได้รับการรับรองจากธนาคารแห่งประเทศไทยหรือเปล่า เพราะแม้แต่โครงการบาทดิจิทัลของแบงก์ชาติเองก็ยังอยู่ในขั้นตอนของการทดลอง
เพราะหากเป็นเงินดิจิทัลที่ไม่ได้รับการยอมรับสุดท้ายก็ใช้การไม่ได้ เพราะประชาชนไม่เชื่อมั่น ยังไม่รวมถึงเทคโนโลยีที่จะใช้จ่ายเงินดิจิทัลระหว่างผู้ได้รับเงินกับร้านค้า และร้านค้าที่ต้องแปลงเงินดิจิทัลเป็นเงินบาทจะมีความยุ่งยากมากขนาดไหน
คำถามข้อต่อมาเมื่อผู้ประกอบการได้เงินดิจิทัลมาย่อมต้องแปลงเงินส่วนนี้เป็นเงินบาทแน่นอนว่าในส่วนนี้ต้องใช้เงินงบประมาณจากภาครัฐเข้าไปซับพอร์ตจะเอาเงินมาจากส่วนไหน เพราะหากจะใช้การปรับลดงบประมาณ หรือเก็บภาษีเพิ่มในปีต่อไปก็คงไม่ทัน พรรคเพื่อไทยต้องตอบคำถามว่าจะใช้เงินกู้ หรือปรับลดงบประมาณอย่างไรให้ได้เงินมากถึง 5.5 แสนล้านมาใช้ในโครงการนี้
และสุดท้ายการออกนโยบายนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร และจะทำให้เศรษฐกิจโตได้ถึง 5% จริงหรือไม่เพราะหากบอกต้องการกระตุ้นการบริโภค ปัจจุบันตัวเลขการบริโภคของไทยก็ยังขยายตัวได้ดีในระดับ 4% ไม่ได้ติดลบเหมือนตอนโควิด-19 ระบาดหนัก ที่ต้องออกมาตรการโครงการคนละครึ่ง
สุดท้ายถ้าบอกว่าเอาวงเงิน 5.5 แสนล้านมาใช้กระตุ้นจีดีพี เมื่อเทียบกับขนาดจีดีพีของไทยที่ 17 ล้านล้านบาท วงเงินส่วนนี้ก็ยังไม่สามารถทำให้จีดีพีของประเทศขยายตัวขึ้นไปถึง 5% ได้อยู่ดีไม่ว่าจะอ้างว่าเงินส่วนนี้หมุนกี่รอบก็ตาม
ที่ผ่านมาการกระตุ้นการบริโภคนั้นส่งผลดีต่อเศรษฐกิจเพียงระยะสั้นๆยิ่งเป็นการให้วงเงินใช้จ่ายแบบไม่ได้จำกัดประเภทร้านค้า หากคนไปซื้อของในห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อ การหมุนของเงินในระบบเศรษฐกิจก็จะยิ่งเกิดได้ยากเพราะห้างร้านเหล่านี้มีอำนาจต่อรองสูง ไม่ใช่รายย่อยที่จะซื้อมาขายไปทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนได้ โดยรวมแล้วนโยบายนี้จึงมีช่องโหว่มาก
ต้องชัดเจนว่าผู้รับคือใคร เป็นคนกำลังเดือดร้อนเงินหรือไม่
ขณะที่มุมมองความเห็นของภาคเอกชน อย่าง นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เคยให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Business Watch เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2566 ระบุว่านโยบายแจกกระเป๋าเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ให้กับคนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไปของพรรคเพื่อไทยคงต้องดูที่มาของเงิน หรืองบประมาณจะมาใช้ เพราะงบประมาณรายจ่ายส่วนของงบกลางน่าจะไม่เพียงพอ จึงต้องมีวิธีอื่นที่จะได้เงินมาใช้ในโครงการ แต่อย่างไรก็ตามที่มาของงบก็ยังไม่ใช่เรื่องหลักของนโยบาย แต่จะเป็นความสำคัญอีกขั้นของนโยบายว่าเมื่อแจกจ่ายเงินดิจิทัลไปแล้วประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างไรกับนโยบายนี้ หากกระตุ้นเศรษฐกิจก็ควรมาในรูปแบบเมื่อมีเงินเข้าระบบต้องให้ประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอย ต้องซื้อสินค้าและบริการ ยิ่งไปใช้จ่ายกับผู้ประกอบการกำลังเดือดร้อนจะยิ่งมีประโยชน์
นายวิศิษฐ์ ระบุอีกว่า การใช้จ่ายต้องเกิดขึ้นสองด้านคือ คนได้เงินไปต้องอยู่ในฐานะดูแลตนเองไม่ได้ เมื่อรับเงินไปต้องนำมาใช้จ่ายจริงไม่ใช่เก็บไว้ เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้หมายความว่าได้เงินไปเพื่อใช้ออม แต่ต้องกระตุ้นการจับจ่าย อยู่บนหมวดสินค้าจำเป็นด้วยจะยิ่งมีประโยชน์ ผู้ได้รับเงิน และคนได้รับต่อจากคนได้รับเงินมาต้องได้ประโยชน์เพื่อให้เงินทำหน้าที่สมบูรณ์ ครบวงจร
สำหรับกลุ่มเป้าหมายขึ้นอยู่กับการพิจารณาแต่หากจะให้นโยบายเกิดประโยชน์จริงๆ คือต้องชัดเจนว่าผู้รับคือใคร เป็นคนกำลังเดือดร้อนเงินหรือไม่ เช่น กลุ่มประชาชนอายุประมาณ 16 ปี ถ้าครอบครัวไม่มีเงินส่งเรียนหนังสือควรดูด้วยว่าเงินให้ไปนำไปใช้จ่ายค่าเทอมได้หรือไม่ ไม่ใช่นำเงินไปซื้อโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ สินค้าฟุ่มเฟือย หากมีข้อกำหนดชัดเจนการใช้จ่ายก็จะเป็นการทำให้เงินเกิดประโยชน์ได้
นโยบายที่ออกมาเข้าถึงคนจนจริงหรือไม่
อีกด้าน คือ นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เคยให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Business Watch เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2566 ระบุว่า นโยบายที่แต่ละพรรคต้องการออกมากระตุ้นเศรษฐกิจล้วนมีภาระทางการคลังสูง ในทางเศรษฐศาสตร์ค่อนข้างเป็นห่วงว่าท้ายที่สุดแล้วจะเอาเงินมาจากไหน หรือประสิทธิผลจะได้ตามที่แสดงความคิดเห็นหรือไม่ อย่างนโยบายแจกวงเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะใช้เงินประมาณ 5 แสนล้านบาท หากเปรียบเทียบกับพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1.5 ล้านล้านบาท อาจจะน้อยกว่า แต่ถามว่าจำนวน 5 แสนล้านบาทเยอะหรือไม่นั้น มองว่าเป็นตัวเลขที่เยอะ เนื่องจากนโยบายโดยทั่วไป อาทิ งบที่ช่วยอุดหนุนภาคเกษตรยังอยู่แค่แสนล้านบาทต่อปี ฉะนั้น วงเงิน 5 แสนล้านบาท เป็นวงเงินที่มีขนาดใหญ่
เมื่อรวมทุกพรรคการเมืองมีนโยบายที่ใช้เม็ดเงินค่อนข้างเยอะ ทีดีอาร์ไอได้ทำการศึกษาว่า หากจะต้องทำตามนโยบายทุกพรรคการเมืองที่โฆษณากัน ทำให้ประเทศจะต้องการงบประมาณอีกหลักล้านล้านบาท ทีดีอาร์ไอจึงมีความกังวล การแจกเงินหรือสวัสดิการต้องเข้าไปดูว่าคนที่ได้สมควรได้หรือไม่ รัฐบาลไม่ควรหว่านแห แต่หากคนที่จะช่วยเหลือเป็นคนที่ควรจะได้รับอยู่แล้ว มองว่ายังมีมุมที่พอจะรับฟังได้ อาทิ กรณีคนจน ค่อนข้างเห็นด้วยกับการช่วยเหลือคนจน แต่คำถามคือ นโยบายที่ออกมาเข้าถึงคนจนจริงหรือไม่ และมีการรั่วไหลระหว่างทางมากน้อยแค่ไหน จะต้องมีการคิดและคำนวณให้รอบด้าน เพราะมีนโยบายที่ไม่ค่อยชัดเจน อาทิ แจกเงินดิจิทัล
“รดน้ำที่ราก” เพื่อให้ต้นไม้งอกงามทั้งต้น เริ่มจากค่าแรงขั้นต่ำ
นโยบายเพิ่มรายได้ภาคแรงงานและการจ้างงาน ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ภายในปี พ.ศ. 2570 ซึ่งนโยบายนี้ “ไม่ได้ใช้แรงงานเป็นตัวประกัน” แต่จะทำให้ เศรษฐกิจโตขึ้น และแบ่งผลกำไรเหล่านี้กลับไปให้ภาคแรงงาน โดยการตกลงร่วมกันของไตรภาคี (นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ) ตามหลัก “ทุนนิยมที่มีหัวใจ”
หลักการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจะพิจารณาจาก
- การเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP)
- ผลิตภาพแรงงาน (Productivity)
- อัตราเงินเฟ้อ (Inflation)
เงินเดือนคนจบปริญญาตรีเริ่มต้นที่ 25,000 บาทต่อเดือน ภายในปี พ.ศ. 2570 รวมทั้งข้าราชการด้วย
ปรับขึ้นค่าแรง ลุกลามภาคการท่องเที่ยว
ความเห็นเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ทางฝั่งของการท่องเที่ยว โดย นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ย (แอตต้า) เปิดเผยผ่านรายงาน ย่อโลกเศรษฐกิจ ทาง TNN ช่อง 16 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ระบุ ในธุรกิจทัวร์นำเที่ยว ต้องยอมรับว่าต้นทุนหลักๆ เป็นเรื่องค่าจ้างแรงงาน ทำให้นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจแน่นอน เพราะหากมีการปรับขึ้นค่าแรงจริง จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจ ลุกลามไปยังภาคการท่องเที่ยวแน่นอน
เพราะหากปรับค่าแรงขึ้น ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นก็ต้องปรับราคาขึ้นให้สอดคล้องกับต้นทุน สินค้าอุปโภคบริโภคก็จะมีราคาแพง ภาคบริการก็จะถูกกระทบในแง่ของการบริโภค ส่งต่อยังราคาการบริการที่ต้องขึ้นให้สอดคล้องกันอีก
ส่วนที่น่าเป็นกังวลอยู่ที่ภาคการลงทุน เพราะนักลงทุนต่างชาติมีความสามารถในการเลือกได้ เมื่อเห็นว่าราคาแรงงานของไทยแพงกว่าเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีศักยภาพใกล้เคียงกันหรือมากกว่าไทยด้วยซ้ำ อาทิ เวียดนาม อินโดนีเซีย ก็ไม่มีเหตุผลให้ต้องมาลงทุนในไทย ย้ายไปลงทุนในประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่าไทยแทนดีกว่า จึงเป็นห่วงภาคการลงทุนที่สุดในส่วนนี้
ความสามารถในการแข่งขันของภาคการท่องเที่ยวไทย เทียบกับประเทศท่องเที่ยวต่างๆ นั้น เนื่องจากไทยมีกระแสข่าวที่ไม่ค่อยดีออกมาอย่างต่อเนื่อง บวกกับต้นทุนทำธุรกิจที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อศักยภาพของภาคการท่องเที่ยวได้ เพราะความจริงไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมอยู่แล้ว
เพื่อไทย ยัน ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บ.เงินเดือน ป.ตรี 25,000 ทำได้จริง
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เคยกล่าวถึงวิสัยทัศน์ หากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลในปี 2570 ต้องการให้พี่น้องประชาชนเห็นว่าหากพรรคเพื่อไทยเป็นร้ฐบาล จะทำงานบริหารบ้านเมืองรับใช้พี่น้องประชาชน ซึ่งตนมีความเข้าใจดีว่าเหตุใดจึงมีการถกเถียงในเรื่องนี้ เพราะภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้ไม่ดี พรรคเพื่อไทยจึงมองภาพในอนาคตว่า หากค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 600 บาทในตอนนี้ ต้นทุนการทำธุรกิจของผู้ประกอบการจะปรับเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะสภาพเศรษฐกิจในตอนนี้ตกต่ำและยังไม่เติบโต
“เราต้องเป็นทุนนิยมที่มีหัวใจ ค่าแรงต้องปรับขึ้นเมื่อเศรษฐกิจทั้งประเทศพร้อม วันนี้ค่าแรงยังปรับขึ้นเป็น 600 บาท ไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจยังไม่ดี แต่เมื่อเศรษฐกิจดีแล้ว จีดีพี จะเติบโตที่ 5% ปีแรกอาจสูงกว่า หรือปีต่อมา อาจลดน้อยลงตามเลขเฉลี่ยแต่ละปี ทั้งหมดคือหัวใจหลัก” นางสาวแพทองธาร กล่าว
อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทย ระบุว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ไม่ใช่การทำลายโครงสร้าง แต่เป็นการทำงานร่วมกันในระดับไตรภาคี ต้องเกิดจากความเห็นพ้องร่วมกันระหว่าง รัฐ – ผู้ประกอบการ – ประชาชน ค่าแรงขั้นต่ำคิดขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ เพราะค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น พรรคเพื่อไทยรู้ว่าผลิตภาพการผลิต คือที่มากำไรของผู้ประกอบการที่จะนำมาจ่ายเงินเดือน-โบนัส แรงงานได้ ส่วนรายได้เข้าประเทศอื่นๆ อย่าง ภาคการท่องเที่ยว พรรคเพื่อไทยคิดจากฐานของรายได้ภาคท่องเที่ยวก่อนเกิดการระบาดของโควิด ซึ่งอยู่ที่มูลค่า 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อไทยตั้งเป้าเพิ่มเป็น 3 ล้านล้านบาท ซึ่งสามารถทำได้แน่นอนด้วยการสร้างแรงดึงดูดด้วยศักยภาพการท่องเที่ยวที่ไทยมีอยู่มากมาย และการจัดการการบิน-สนามบิน-การอำนวยความสะดวกด่านตรวจคนเข้าเมือง พรรคเพื่อไทยมีผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นผู้แทนจากภาคธุรกิจ จากภาคประชาชน จะไม่บริหารราชการแบบไม่รู้ร้อนรู้หนาวแบบปัจจุบัน
”การดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี” มีรายได้ ไม่น้อยกว่า 20,000 บาท / เดือน
พรรคเพื่อไทย ระบุว่า จะมีการสำรวจครัวเรือนทั่วทั้งประเทศเพื่อตรวจสอบรายได้และศักยภาพของประชาชนเพื่อให้ครอบครัวได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงพร้อมไปกับการสร้างรายได้ผ่านมาตรการต่างๆ ที่สำคัญคือ นโยบาย 1 ครอบครัว 1 ศักยภาพ Soft Power (OFOS) หากรายได้ของครัวเรือนต่ำกว่า 20,000 บาท/เดือนก็จะได้รับการเติมให้ครบ 20,000 บาท/เดือน จนกระทั่งครอบครัวมีรายได้เพียงพอ ผู้จะรับสิทธิ์จะลงทะเบียนผ่านระบบบนแพลตฟอร์ม Learn to Earn เพื่อเสริมทักษะและหางาน มีการลงทะเบียนและอัพเดตข้อมูลทุก 6 เดือนเพื่อดึงคนเข้าระบบ ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลังและทำให้รัฐสามารถเข้าช่วยเหลือได้อย่างแม่นยำ
ภาพ TNNONline