รีเซต

CHAYOอัดงบลุยซื้อหนี้ ครึ่งหลังลุ้นจบดีลAMC

CHAYOอัดงบลุยซื้อหนี้ ครึ่งหลังลุ้นจบดีลAMC
ทันหุ้น
16 สิงหาคม 2566 ( 10:50 )
97
CHAYOอัดงบลุยซื้อหนี้ ครึ่งหลังลุ้นจบดีลAMC

CHAYO อัดฉีดงบ 1-1.5 พันล้านบาท ลุยซื้อมูลหนี้ด้อยมูลค่าใหม่เข้ามาบริหารในพอร์ตเพิ่มอีกราว 1-1.5 หมื่นล้านบาท ดันพอร์ตมูลหนี้สิ้นปียืนเหนือแสนล้านบาทตามเป้า ด้านการขาย NPA เกาะยาวใหญ่คาดเดือนก.ย.เคาะข้อสรุป แย้มครึ่งหลังมีลุ้นจบดีลสถาบันการเงินผนึกปั้น AMC ต่อยอดธุรกิจ กูรู แนะนำ "ซื้อ" เคาะเป้า 11.70 บาท

 

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO เปิดเผยว่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 บริษัทมีพอร์ตหนี้ด้อยมูลค่าที่บริหารอยู่ในมือที่มากกว่า 85,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหนี้ที่มีหลักประกันประมาณ 20,000 ล้านบาท ที่เหลืออีกกว่า 65,000 ล้านบาท เป็นมูลหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้บริษัทมีการซื้อหนี้ใหม่เข้ามาบริหารในพอร์ตได้เพิ่มแล้วกว่า 5,337 ล้านบาท ผ่านการใช้เงินลงทุนราว 400-500 ล้านบาทเท่านั้น

 

*เล็งเคาะดีลใหม่

ปัจจุบันบริษัทยังคงมีเงินลงทุนคงเหลือในมือรวมกว่า 1,000-1,500 ล้านบาท รองรับการซื้อหนี้ด้อยมูลค่าใหม่เข้ามาบริหารในพอร์ตเพิ่ม โดยบริษัทตั้งเป้าหมายที่จะซื้อหนี้เพิ่มอีกประมาณ 10,000-15,000 ล้านบาท ส่งผลให้พอร์ตมูลหนี้คงค้างเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 90,000-100,000 ล้านบาท โดยในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้มีการเสนอราคาประกวดกับทางสถาบันการเงินไปแล้วจำนวนหลายกอง คาดว่าในไตรมาส 3/2566 และ 4/2566 จะทยอยได้ข้อสรุป

 

ส่วนการเรียกเก็บหนี้นั้น คาดว่าในช่วงไตรมาส 3/2566 และ 4/2566 จะทำได้ดีกว่า 90 ล้านบาทต่อไตรมาส มองว่าอัตราการชำระหนี้ของลูกนี้ยังคงอยู่ในระดับที่ดี ด้วยการท่องเที่ยวและการอุปโภคบริโภคในประเทศที่มีทิศทางการฟื้นตัวที่ดีขึ้น ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ยังทำได้ดีอย่างต่อเนื่อง สำหรับธุรกิจเร่งรัดติดตามหนี้ บริษัทคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีกว่าเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก และทั้งปียังคงเป้าหมายการเติบโตของรายได้ในส่วนนี้ไว้ที่ไม่น้อยกว่า 10-15%

 

ด้านธุรกิจปล่อยสินเชื่อยังคงขยายตัวดีแม้สภาวะเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงชะลอตัว บริษัทวางแผนให้สินเชื่อในประเภทที่มีหลักประกันเป็นหลัก โดยเฉพาะในส่วนของพนักงานโรงงานที่เดิมมีการปล่อยสินเชื่อให้กับ 30 บริษัทที่เป็นพันธมิตรอยู่แล้ว และจากการเข้าไปให้บริการจัดหาพนักงานให้กับโรงงานใหม่อีก 17-18 แห่งเพิ่มเติมในปีนี้ ทำให้มีโอกาสที่จะปล่อยสินเชื่อใหม่ๆ ได้เพิ่มมากขึ้น โดยทั้งปี 2566 วางเป้าหมายพอร์ตคงค้างไว้ที่ระดับ 1,000-1,200 ล้านบาท และมียอดปล่อยสินเชื่อที่ประมาณ 600-1,000 ล้านบาท

 

ขณะที่การขายสินทรัพย์ (NPA) นั้น ตอนนี้ก็ยังคงได้รับความสนใจจากลูกค้าเข้ามาเจรจาหลายราย และมีการจำหน่ายสินทรัพย์ขนาดไม่ใหญ่ออกไปอยู่เรื่อยๆ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาการขายสินทรัพย์ในทำเลคู้บอน มูลค่าหลักร้อยล้านบาท เบื้องต้นคาดว่าลูกค้าจะวางมัดจำในช่วงไตรมาส 3/2566 และหากว่าไม่มีอะไรผิดพลาดก็อาจจะสามารถซื้อขายได้ในช่วงไตรมาส 4/2566 สำหรับเกาะยาวใหญ่ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในช่วงต้นเดือนกันยายน 2566 นี้

 

เร่งดีลตั้ง AMC

อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 บริษัทยังคงเป้าหมายการเติบโตของผลการดำเนินงานไว้ที่ไม่น้อยกว่า 25% โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ที่มีรายได้แล้วที่ระดับ 781.85 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ระดับ 221.06 ล้านบาท ซึ่งยังคงทำได้ดีตามแผนที่วางไว้ และหากว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ไม่มีปัจจัยลบใหม่เข้ามากระทบต่อธุรกิจ ก็คาดว่าอาจได้เห็นการเติบโตที่ดีกว่าเป้าหมายที่วางไว้อย่างมีนัยยะสำคัญ สำหรับการหา JV ในธุรกิจ AMC กับทางสถาบันการเงิน คาดว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้อาจได้เห็นความชัดเจนดีลใหญ่อย่างน้อย 1 ดีล

 

กูรูแนะนำ"ซื้อ"

บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ระบุว่า CHAYO ประกาศกำไรไตรมาส 2/66 ที่ 92 ล้านบาท อ่อนตัว 12% จากไตรมาสก่อน แต่เติบโตสูงถึง 62% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน ดีกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้าราว 12% โดยยอดจัดเก็บโดยรวมลดลง 8% จากไตรมาสก่อน แต่เติบโต 34% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน ทั้งนี้เนื่องจากการจัดเก็บจาก NPL ที่ไม่มีหลักประกันมักอ่อนตัวลงตามฤดูกาลในไตรมาส 2/66 เนื่องจากในเดือน เม.ย. และ พ.ค. เป็นวันหยุดยาวและลูกหนี้มักมีค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม

 

ด้านการขาย NPL ที่มีหลักประกัน และ NPA ปรับตัวดีขึ้น จากไตรมาสก่อน ด้านรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อภายใต้ Chayo Capital ปรับตัวดีขึ้น 23% จากไตรมาสก่อน และ 56% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน โดยสินเชื่อปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย 3% จากไตรมาสก่อน และ 7% นับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน สำหรับต้นทุนการให้บริการลดลง จากไตรมาสก่อน หลังจากไตรมาสก่อนมีค่าใช้จ่ายทางด้านกฎหมาย ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานปรับเพิ่มขึ้น จากไตรมาสก่อน เนื่องจากมีค่าที่ปรึกษาในการนำบริษัทย่อยเข้า IPO

 

ทางฝ่ายยังคาดผลการดำเนินงานปกติของบริษัทในปี 66 จะเติบโตดี จากกระแสเงินสดที่ดีขึ้น โดยมาจากทั้งยอดรับชำระที่ฟื้นตัว และการขาย NPA ที่คาดว่าจะขายที่ดินแปลงใหญ่ช่วงไตรมาส 4/66 อย่างไรก็ตาม การขายทรัพย์หลักประกัน NPL ของที่ดินในพังงา (เกาะยาวใหญ่) ผู้ร้องได้ขอเลื่อนฎีกาไปเดือน ก.ย. 66 ทำให้หากศาลมีคำตัดสินไม่รับฎีกา (ซึ่งเดือน พ.ค. 2566 ที่ผ่านมาศาลอุธรณ์ได้มีคำสั่งยกคำร้องไปแล้ว) อาจทำให้การรับเงินและการบันทึกกำไรจากการขายต้องเลื่อนไปจนถึงไตรมาส 4/66

 

ทั้งนี้ หากไม่นับรวมกำไรจากการที่ดินแปลงใหญ่ดังกล่าว คาดว่ากำไรปกติจะเติบโตราว 30% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน ทางฝ่ายคงราคาเป้าหมายปี 2566 ที่ 11.70 บาท อิง Justified PBV 2.8 เท่า ราคาหุ้นที่อ่อนตัวลงมาตามภาวะตลาดทำให้ Upside ยังค่อนข้างสูง เมื่อบวกกับปันผลเป็นหุ้นในอัตรา 50:1 (XD 9 ต.ค. 66) จึงคงคำแนะนำ “ซื้อ”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง