หมอแชร์ประสบการณ์ เด็กน้อยตัวจากไป แต่บริจาคหัวใจต่อชีวิตผู้อื่น
วันนี้ ( 10 พ.ย. 63 )ผศ.นพ.ธนพันธ์ ชูบุญ แห่งโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ได้แชร์ประสบการณ์ การผ่าตัดหัวใจจากผู้เสียชีวิต เพื่อนำไปบริจาคให้กับผู้ป่วยรายต่อไป ซึ่งเรื่องราวมีดังนี้
“การได้มีชีวิตและใช้ชีวิต นับว่าดีกว่า” อันนี้ผมเริ่มพูดตามเพื่อให้ล้อกับวลีแรก
“แต่การได้ต่อชีวิตให้คนอื่น นับว่าเป็นเรื่องที่วิเศษที่สุด” อันนี้ผมได้เห็นมากับตา และมันตื้นตันจนไม่สามารถเก็บเอาไว้ในใจได้
....
ทุกๆครั้งที่จะออกไปทานข้าวเที่ยงนอกโรงพยาบาล ผมต้องเดินผ่านหน้าหอผู้ป่วยไอซียูเด็กเพื่อไปที่ลานจอดรถ มันคือทางผ่านที่ทำให้ผมรู้สึกอึดอัดแทบจะทุกครั้งที่ต้องใช้มันเป็นทางสัญจร นั่นเพราะคนไข้อาการหนักข้างในคือเด็ก และคนเฝ้าข้างนอกมักจะเป็นพ่อแม่และญาติพี่น้อง
หลายๆครั้งผมจะพบเห็นผู้คนจับกลุ่มกันร้องไห้ ซึ่งแน่นอนว่าน่าจะเกิดจากความสูญเสียภายในหอผู้ป่วยแห่งนั้น เขาอาจจะเป็นลูก หลาน น้องชาย หรือกระทั่งพี่สาวของเหล่าคนที่กำลังนั่งร้องไห้อยู่ภายนอก ที่ที่เป็นทางสัญจรของผมไปยังลานจอดรถ
อย่างเช่นวันก่อน ผมจะออกไปกินข้าวขาหมูเจ้าโปรดในตัวเมืองและต้องเดินผ่านหน้าหอผู้ป่วยหนักเพื่อไปยังรถตามปกติ
ชายคนหนึ่งนั่งเหม่อลอยอยู่บนเก้าอี้ตัวสุดท้ายเพียงลำพัง หน้าตาเขาหมองคล้ำ เสื้อผ้าที่สวมใส่ดูหมองหม่น ภาพที่เห็นตรงหน้ามันทำให้ผมรู้สึกสะท้อนใจอย่างบอกไม่ถูก มันไม่มีเหตุผลว่าทำไมผมต้องรู้สึกเช่นนั้น คนข้างในไม่น่าจะมีอะไรข้องเกี่ยวกับผมเลยสักนิด กระบวนการฝึกฝนมานานเกินกว่ายี่สิบปี ทำให้ผมปล่อยวางจากความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับชีวิตคนไข้แทบทุกคน แต่ทำไมวันนี้ผมกลับรู้สึกไปอีกแบบ
ทำไมนะ
“เสร็จเคสอาจารย์แป๊ะแล้ว เดี๋ยวจะมีเคสฮาร์เฟสฮาร์ท” ผมได้ยินเสียงพยาบาลห้องผ่าตัดคุยกัน ในช่วงเวลานั้นผมกำลังเย็บผนังมดลูกของคนไข้ที่ผมเพิ่งดึงลูกชายของเขาออกมาจากมดลูกอย่างทุลักทุเล
“ไม่ต้องใช้หมอดมยา เพราะคนไข้เสียชีวิตแล้ว” ผมยังคงเย็บมดลูกไปและตั้งใจฟังสรรพเสียงรอบข้าง
“เดี๋ยวจะมีการผ่าตัดเอาหัวใจออกมาเพื่อบริจาคไปที่สภากาชาดค่ะอาจารย์” เธอตอบคำถามผมพร้อมส่งเข็มเย็บกล้ามเนื้อมาให้
“น่าสนใจจัง ผมอยู่ดูด้วยได้ไหม ไม่เคยเห็นเลย” ผมเหลือบมองนาฬิกาติดผนัง ตอนนั้นเริ่มใกล้เวลาที่ต้องไปรับลูกสาวที่โรงเรียน แต่คิดไว้ในใจ ว่าจะวานให้เมียขับไปรับลูกแทน
“ได้สิอาจารย์ อยู่เป็นเพื่อนกันก่อนก็ดีค่ะ”
.....
ย้อนกลับไปราวชั่วโมงเศษที่การยื้อชีวิตของเด็กคนหนึ่งเพิ่งสิ้นสุดลง หัวใจของเขากำลังเต้นอ่อนแรงลงทุกขณะ ยาทุกชนิดถูกปลด ยังคงเหลือเพียงน้ำเกลืออีกสักเส้นที่คาไว้และหยดเข้าหลอดเลือดอย่างช้าๆ
“ถ้าลูกจะไม่ได้อยู่กับเราแล้ว พี่คิดว่าหัวใจของลูกน่าจะทำประโยชน์ให้กับคนอื่นต่อได้” สตรีผู้เป็นแม่บอกกับอาจารย์หมอเด็กที่ดูแลลูกชายของเธอมาตลอดสองวันที่ผ่านมา
“คุณหมอช่วยกรุณาติดต่อจัดการเรื่องการบริจาคหัวใจให้ด้วยได้ไหมคะ คิดเสียว่าเป็นการทำบุญครั้งสุดท้ายของลูก” น้ำเสียงแหบพร่าและหยาดน้ำตาที่แห้งเหือดมันทำให้หัวใจของคนทำงานอ่อนไหว ชายผู้เป็นพ่อยังคงนั่งเหม่อลอยอยู่ที่หน้าหอผู้ป่วย เขานั่งเก้าอี้ตัวสุดท้าย หน้าตาเขาหมองคล้ำ เสื้อผ้าที่สวมใส่ดูหมองหม่น เขาเพิ่งสูญเสียลูกชายอันเป็นที่รักไปเมื่อครู่นี้นี่เอง เวลามันสั้นนัก กระทั่งการเอ่ยลาก็ยังไม่ทันจะได้กระทำ ภาพการกดปั๊มหน้าอกของลูกชายตั้งแต่ที่บ้านจนมาถึงโรงพยาบาลยังคงติดตา
“แม่ไปรับลูกนะ พ่อจะอยู่ดูเขาเก็บหัวใจ” เป็นข้อความสั้นๆที่ส่งไปหาเมีย
“ค่ะ” เธอตอบเช่นนั้น เพราะคงจับอารมณ์จากน้ำเสียงของสามีเธอได้
Harvest แปลว่าเก็บเกี่ยว
Harvest heart ที่ผมได้ยินมาเมื่อครู่นั้นก็คือการผ่าตัดเพื่อเก็บเอาหัวใจออกมานำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ มันหมายถึงการบริจาคอวัยวะนั่นเอง
ด้านหน้าของผมคือร่างไร้ชีวิตของเด็กชายคนหนึ่ง เขานอนอยู่บนเปลคนไข้ที่ถูกเข็นเข้ามาในบริเวณหน้าห้องผ่าตัด เขาถูกคลุมด้วยผ้าห่มสีขาวเฉกเช่นผู้ป่วยคนอื่นๆ หากไม่ใคร่สังเกต เขาก็ดูเหมือนคนปกติที่กำลังหลับอยู่
“คุณแม่นั่งรออยู่ที่ด้านหน้าห้องผ่าตัดนะคะ ทีมหมอหัวใจกำลังเข้ามา ทางห้องผ่าตัดได้เตรียมทุกอย่างไว้พร้อมแล้ว” ผมได้เห็นหน้าของผู้เป็นแม่อย่างชัดเจน และด้านหลังออกไปไม่ไกล คือชายคนนั้น คนที่ผมได้เห็นเขานั่งเหม่อลอยอยู่หน้าหอผู้ป่วยไอซียูเมื่อตอนเที่ยงเอกสารทุกอย่างอยู่ที่ปลายเตียง การตรวจสอบความถูกต้องถูกกระทำอย่างรวดเร็ว
“ไปกันนะลูก” เธอตบเบาๆที่หัวไหล่ของเจ้าเด็กน้อย แล้วบอกพนักงานเปลให้เข็นนำร่างไปยังห้องผ่าตัดหมายเลข ๑๙
ศาสตราจารย์ นายแพทย์วรวิทย์ คือศัลยแพทย์หัวใจที่ต้องมาทำหน้าที่ฮาร์เฟสฮาร์ทในวันนี้ เขาคือเพื่อนร่วมรุ่นของผมเอง
“แล้วแต่แป๊ะเลยครับ” จะรออะไรล่ะครับ ผมรีบล้างมือและเปลี่ยนชุดผ่าตัดในทันใด
การเตรียมผ่าตัดนั้นทุกอย่างกระทำเหมือนปกติ การฟอกผิวหนัง ทาน้ำยาฆ่าเชื้อ การปูผ้า และการทำทุกอย่างโดยปราศจากเชื้อ
อาจารย์หมอเอกเริ่มต้นประนมมือ ซึ่งทุกคนในห้องล้วนกระทำตามอย่างสำรวม
“ฟื้ดดดด” เสียงเลื่อยหั่นกระดูกทำงานพร้อมการเคลื่อนที่ของใบเลื่อยเพียงไม่ถึง ๕ วินาที กระดูกหน้าอกก็แยกขาดจากกัน ตัวถ่างผนังหน้าอกถูกส่งเข้ามา อาจารย์หมอเอกหมุนสกรูเพียงไม่กี่รอบ ผมก็ได้เห็นผนังเยื่อหุ้มหัวใจอยู่ตรงหน้า
การทำงานของหมอผ่าตัดเพื่อนผมกับลูกศิษย์ของเขาช่างสอดประสานพริ้วไหว คนหนึ่งดึงเนื้อเยื่อ อีกคนตัด คนหนึ่งผูกไหม อีกคนช่วยตัดไหม
เมื่อเยื่อหุ้มหัวใจถูกเปิดออก ผมก็ได้เห็นหัวใจของเจ้าเด็กน้อย มันนิ่งสงบไม่ไหวติง ช่างต่างกับหัวใจของผมในตอนนี้ที่พองโต และแสนจะตื้นตัน นานเท่าไหร่แล้วที่ผมไม่ได้เห็นหัวใจคนแบบนี้
“ตอนนี้กำลังตัดหลอดเลือดพัลโมนารี่อยู่ค่ะ” คุณหมออ้ออธิบายให้ผมฟังขณะที่อาจารย์หมอเอกใช้มือซ้ายของเขาดึงหัวใจห้องบนซ้ายเข้าหาตัว เผยให้เห็นกลุ่มหลอดเลือด pulmonary veins ที่นำเลือดที่ฟอกจากปอดมาแล้วส่งกลับเข้าหัวใจห้องบนซ้าย
“มันเหมือนขาปูค่ะ” คือมาจากด้านซ้ายและขวาอย่างละ ๒ เส้น
“กรึ๊บ” เสียงกรรไกรตัดหลอดเลือดขาด และทันใด เลือดปริมาณมหาศาลก็ทะลักเข้ามาในช่องอก มันคือเลือดที่ถูกส่งมาจากส่วนล่างของร่างกายทั้งหมด หัวดูด (suction) ถูกนำไปจ่อเพื่อดูดเลือดออกอย่างรวดเร็วไม่ให้บังการทำงานที่หมอผ่าตัดกำลังเลาะอยู่
“ปกติเวลาผ่าตัด เลือดออกขนาดนี้ไหมวะเอก” ผมสงสัย
“แบบนี้แหละ แต่เราดูดเลือดออกแล้วผ่านเข้าเครื่อง นำเลือดส่วนนี้กลับเข้ามาใช้ใหม่ได้ไงแป๊ะ”
อาจารย์เอกย้ายมาผ่าตัดบริเวณหัวใจช่องขวา นั่นหมายถึงหลอดเลือดดำใหญ่จากส่วนบน (superior vena cava) เริ่มถูกเลาะออกมา จุดนี้จะดูยุ่งเหยิงสักหน่อย เพราะมีหลอดเลือดหลายเส้น นี่กระมังที่เขาเรียกกันว่า “ขั้วหัวใจ” เพราะมีทั้งหลอดเลือดดำใหญ่ และหลอดเลือดแดงเอออร์ต้า (aorta) และแขนงอีก ๓ เส้นใหญ่ของมันที่ถูกส่งไปเลี้ยงสมองก่อนที่จะวกตัวโค้งกลับลงมาเพื่อนำเลือดลงไปส่วนล่างของร่างกาย ช่วงนี้เองที่ผมขอเป็นคนใช้มือช่วยเบี่ยงหัวใจให้เพื่อจะได้เห็นหลอดเลือดชัดๆและผ่าตัดได้ง่ายขึ้น
หัวใจที่ปราศจากเลือด มันนุ่มมาก เนื้อหนังมังสายังรู้สึกอุ่น นั่นเพราะเจ้าเด็กน้อยเพิ่งเสียชีวิตได้ไม่ถึงชั่วโมง
ถึงขั้นตอนนี้ ปอดด้านซ้ายจึงถูกบีบให้แฟบตัวลง กรรไกรถูกใช้เลาะตามหลอดเลือดแดงส่วนโค้งที่ว่านั่นจนได้ความยาวที่อาจารย์เอกพอใจ
“นั่นคือหลอดอาหารใช่ไหม” ผมใช้หัว suction ชี้ไปยังท่อสีซีดๆที่ขนานตัวลงมาพร้อมหลอดเลือดแดงใหญ่
“ครับ” อาจารย์เอกตอบ และในทันทีที่หลอดเลือดเส้นนี้ถูกตัดออกไป หัวใจดวงน้อยนั้นก็ถูกยกขึ้นมาได้ทั้งอัน ขนาดมันประมาณกำปั้นของผมเท่านั้นเอง
จากนั้นหัวใจทั้งดวงก็ถูกนำมาล้างทำความสะอาดด้วยน้ำซึ่งเป็นสารละลายที่มีความเข้มข้นเท่าเลือด อาจารย์หมอเอกใช้กรรไกรตัดที่ปลายยอดหัวใจราวเซนหนึ่งเผยให้เห็นผนังห้องล่างซ้าย เขาพ่นน้ำเข้าไปทางรูนั้น น้ำถูกระบายออกมาเป็นสายทางหลอดเลือด aorta
“ปกติเราล้างประมาณ ๔ ลิตรครับแป๊ะ”
“ล้างใจ” คุณหมออ้อพูดขึ้นมา
“งั้นน้ำที่ล้างนี้ ต้องเรียกว่าน้ำใจด้วยล่ะสิ” ผมต่อ
“ค่ะอาจารย์”
ล้างใจกันจนน้ำใส หัวใจจึงถูกใส่ลงในถุงพลาสติก ใส่น้ำเย็นลงไปจนท่วม ปิดถุงอย่างแน่นไม่ให้มีอากาศหลงเหลืออยู่ในถุง ทำทั้งหมด ๓ ชั้น แล้วหัวใจทั้งดวงก็ถูกบรรจุงลงในลังโฟมที่มีน้ำแข็งรองอยู่จากนี้ไป หัวใจดวงนี้จะสร้างประโยชน์ให้กับคนอื่นได้อีก
“ขอบคุณนะลูก มันคือการเสียสละที่งดงามมาก” แล้วก็บอกลาและขอบคุณทุกคนในห้องผ่าตัด
ในเช้าวันถัดมา กล่องโฟมที่บรรจุหัวใจแช่น้ำแข็งก็ถูกส่งมายังสนามบิน เที่ยวบินแรกของวันเสาร์ได้รับเกียรติให้เป็นพาหนะนำส่งหัวใจดวงน้อยเพื่อไปใช้ประโยชน์ต่อชีวิตให้กับคนอื่นต่อไป
ผมนึกไปถึงโฆษณาบนไทยสไมล์ที่มักจะเปิดก่อนร่อนลง “วอนให้ลมช่วยพัดหัวใจพี่ลอยไป จากดินแดนถิ่นเหนือที่ไกลแสนไกล สุดขอบฟ้าที่ไกลแสนไกลล่องลอยไป วอนให้ลมช่วยพัดหัวใจพี่ไปให้ถึง.....” Mind hero by THAI Smile Airways
บางชีวิต อาจถูกตัดสินให้คลอดไม่ได้ เสียชีวิตก่อนคลอด หรือแท้งออกไป ซึ่งอาจจะด้วยเพราะฟ้าดินกำหนด หรือชะตาของผู้เป็นแม่พามาพบหมอเพื่อทำแท้งออกไป ดังนั้นการได้เกิดมาเป็นคนจึงนับว่าเป็นเรื่องดี หากพ่อแม่และสังคมต้องการเขา
การได้มีชีวิต ได้ใช้ชีวิตนับว่าดีกว่า หากแต่บางคนนั้นมีชีวิตที่ตกต่ำจนว่าอัศจรรย์ บางชีวิตแสนจะเปื้อนฝุ่นแทบไร้โอกาสกระทั่งเรียนหนังสือ แบบนี้ไม่รู้ว่าเป็นการโชคดีจริงอยู่หรือแต่การได้ต่อชีวิตให้คนอื่น นับว่าเป็นเรื่องที่วิเศษที่สุด อันนี้ผมเห็นว่ามันจริงเหลือเกิน
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
facebook live : TNN Live
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNThailand
Instagram : @tnn_online
TIKTOK : @tnnonline