รีเซต

"วอร์เรน บัฟเฟตต์" จากนักลงทุนที่หลีกเลี่ยงเทคโนโลยีสู่หนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ Apple

"วอร์เรน บัฟเฟตต์" จากนักลงทุนที่หลีกเลี่ยงเทคโนโลยีสู่หนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ Apple
TNN ช่อง16
4 พฤษภาคม 2568 ( 15:41 )
8

ข่าวใหญ่ในวงการนักลงทุนหลังจากวอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) ประกาศแผนเตรียมลาออกจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของบริษัท เบิร์กเชียร์ ฮาธาเวย์ (Berkshire Hathaway) ภายในสิ้นปี 2025 โดยเตรียมส่งต่อบทบาทผู้นำให้กับเกร็ก อาเบล (Greg Abel) รองประธานฝ่ายปฏิบัติการ ขึ้นดำรงตำแหน่งต่อไปในการบริหารบริษัทลงทุนระดับโลกแห่งนี้

โดยคุณปู่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) นักลงทุนระดับตำนาน ผู้ได้รับการยกย่องระดับอาจารย์ในวงการนักลงทุนทั่วโลก และมีสมญานามว่า “เทพเจ้าแห่งโอมาฮา” เคยยึดหลักการลงทุนแบบ Value Investing หรือการลงทุนที่เน้นคุณค่าของบริษัทนั้น ๆ อย่างแท้จริง 

ก่อนหน้านี้คุณปู่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ มักหลีกเลี่ยงการลงทุนในอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี โดยเหตุผลว่า "เทคโนโลยีนั้นเข้าใจยาก" และไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ชัดเจน แต่เมื่อเวลาผ่านไป การตัดสินใจลงทุนในบริษัท แอปเปิล (Apple Inc.) กลับกลายเป็นหนึ่งในความสำเร็จสูงสุดของเขา และกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สั่นสะเทือนวงการการลงทุนทั่วโลก

แนวคิดเดิม "เทคโนโลยีนั้นเข้าใจยาก"

ในช่วงหลายทศวรรษ วอร์เรน บัฟเฟตต์เลือกลงทุนในธุรกิจแบบดั้งเดิม เช่น บริษัท Coca-Cola และ American Express เขามองหาบริษัทที่มี “Moat” หรือ "คูเมือง" ที่สามารถป้องกันทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง เข้าใจโมเดลธุรกิจง่าย และมีผลกำไรสม่ำเสมอ ในมุมมองของเขา เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วเกินไปจนยากจะคาดการณ์ และนั่นทำให้เขาพลาดโอกาสทองในการลงทุนในบริษัทอย่าง Microsoft หรือ Amazon ในช่วงแรก


จุดเปลี่ยนที่ทำให้ลงทุนในบริษัท Apple

จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นในปี 2016 เมื่อ Berkshire Hathaway เริ่มลงทุนใน Apple โดยผ่านการตัดสินใจของผู้ช่วยสองคนคือ ท็อดด์ คอมส์ (Todd Combs) และเท็ด เวชเลอร์ (Ted Weschler) ต่อมา วอร์เรน บัฟเฟตต์ยอมรับว่าเขาเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Apple และเริ่มเพิ่มสัดส่วนการลงทุนด้วยตัวเองอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน Apple กลายเป็นหุ้นที่มีมูลค่ามากที่สุดในพอร์ตของ Berkshire Hathaway โดยคิดเป็นสัดส่วนกว่า 40% ของพอร์ตทั้งหมด (ณ ปี 2024) 

สิ่งที่ทำให้วอร์เรน บัฟเฟตต์มอง Apple แตกต่างจากหุ้นเทคอื่น ๆ คือ เขาเห็นว่า Apple มีลักษณะเหมือน "บริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคระดับพรีเมียม" ที่มีแบรนด์แข็งแกร่ง ความภักดีจากผู้ใช้งานสูง และ Ecosystem ที่เหนียวแน่น ไม่ต่างจาก Coca-Cola ที่ผู้บริโภคพร้อมจ่ายแพงเพื่อรสชาติที่คุ้นเคย

การลงทุนใน Apple ทำให้ Berkshire Hathaway มีกำไรนับแสนล้านดอลลาร์ แม้บริษัทจะขายหุ้นบางส่วนในช่วงวิกฤต COVID-19 แต่ก็ยังถือครองหุ้นในปริมาณมหาศาล ความสำเร็จนี้สะท้อนถึงความยืดหยุ่นของวอร์เรน บัฟเฟตต์ในการปรับตัวเข้ากับโลกการลงทุนยุคใหม่ แม้จะอายุกว่า 90 ปี

“ทิม คุกทำให้ Berkshire มีรายได้มากกว่าที่ผมเคยทำได้ให้กับ Berkshire Hathaway มาก” 
วอร์เรน บัฟเฟตต์ กล่าวในการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีของ Berkshire Hathaway ปี 2025

บทเรียนสำหรับนักลงทุนรุ่นใหม่

กรณีของวอร์เรน บัฟเฟตต์กับ Apple เป็นบทเรียนสำคัญว่า นักลงทุนไม่ควรยึดติดกับอคติเดิม ๆ หากมีข้อมูลใหม่ที่ชัดเจนพอ การยอมเปลี่ยนความคิดเมื่อสถานการณ์เปลี่ยน เป็นคุณสมบัติสำคัญของนักลงทุนที่ยั่งยืน ไม่ใช่แค่การยึดมั่นในแนวคิด แต่ต้องรู้ว่าเมื่อใดควร “ไม่ยึดมั่น” 

ในท้ายที่สุด วอร์เรน บัฟเฟตต์ ไม่ได้เปลี่ยนแนวคิด Value Investing แต่อย่างใด เขาเพียงปรับมุมมองว่า “มูลค่า” ในยุคใหม่ อาจมาจากสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น แบรนด์ ความภักดี และการออกแบบ Ecosystem ซึ่ง Apple แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เทคโนโลยีที่สร้างคุณค่าและเชื่อมโยงกับชีวิตผู้คนในระยะยาว ก็สามารถเป็น “Value Stock” ได้เช่นกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง