เจาะลึกหน่วยงานอวกาศไทย มีโครงการอะไรน่าสนใจบ้าง
กระแสการทดลอง วิจัย และคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้านอวกาศเป็นกระแสมาแรงแห่งปี 2022 เช่นเดียวกับเมตาเวิร์ส ซึ่งเทคโนโลยีอวกาศในโลกใบนี้ส่วนใหญ่จะมีสหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย และยุโรปเป็นหัวหอกสำคัญ ในประเทศไทยเองก็มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอวกาศและเป็นแกนนำในการพัฒนาประเทศด้านอวกาศอยู่เช่นเดียวกัน TNN Tech สำรวจและเจาะลึกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และทำความรู้จักกับโครงการอวกาศที่พัฒนาโดยหน่วยงานในไทยที่เป็นทั้งการสั่งซื้อและการสร้างโดยฝีมือคนไทย
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือเรียกว่าจิสด้า (GISTDA) เป็นองค์กรที่เดิมทีนั้นตั้งขึ้นเพื่อจัดการบริหารดาวเทียมตั้งแต่ปี 1974 ในฐานะกองสำรวจทรัพยากรธรรมชาติด้วยดาวเทียมก่อนเข้าสู่องค์การมหาชนในปัจจุบัน ได้รับงบประมาณปีล่าสุดอยู่ที่ 1,358 ล้านบาท เพื่อบริหารจัดการ โครงการดาวเทียมต่าง ๆ เช่น ไทยโชติ (THEOS-1) ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติดวงแรกของไทย และโครงการธีออส 2 (THEOS-2) ที่เป็นการร่วมมือกับแอร์บัส (Airbus) เพื่อจัดซื้อและถ่ายทอดองค์ความรู้การสร้างดาวเทียมขนาดเล็ก THEOS-2A ขึ้นมา โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างดาวเทียมสำรวจด้วยภาครัฐและเอกชนไทย ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการทดสอบและพร้อมปล่อยเข้าสู่วงโคจรในปีหน้า
ประเทศไทยยังมีองค์กรที่ชื่อว่าสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) ซึ่งตั้งขึ้นในปี 2004 เพื่อพัฒนาวงการดาราศาสตร์และอวกาศไทยด้วยงบประมาณปีล่าสุดที่ประมาณ 833 ล้านบาท โดยมีผลงานโดดเด่นในการสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร ภายในหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ (Thai National Radio Telescope: TNRO) ที่มีองค์กรต่าง ๆ ในไทยร่วมสร้างขึ้นมา มูลค่าโครงการกว่า 532 ล้านบาท รวมถึงการสร้างหอดูดาวและอุทยานดาราศาสตร์สิรินธรขึ้นมาเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และทำให้โครงสร้างพื้นฐานในวงการดาราศาสตร์ไทยนั้นแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
โดยในปัจจุบันนี้ การพัฒนาวงการอวกาศไทยนั้นยกระดับเป็นภาคีความร่วมมืออวกาศไทย (Thai Space Consortium: TSC) ที่มี NARIT และ GISTDA เป็นหัวหอกสำคัญร่วมกันกับอีกหลากหลายสถาบัน มหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมกว่า 12 หน่วยงาน เข้าร่วมกันผลักดันเพื่อให้เกิดโครงการสำรวจอวกาศด้วยดาวเทียมและยานอวกาศในอนาคต โดยทุกโครงการที่จะเกิดขึ้นนั้นตั้งงบประมาณไว้ที่ไม่เกิน 3 พันล้านบาทในการพัฒนาดาวเทียมสำรวจด้วยตัวเอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ต่อประเทศไทยและสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมอวกาศ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้สูงในประเทศไทยต่อไป
ที่มารูปภาพ GISTDA, NARIT, Unsplash