รีเซต

ลุงขับ 'รถตู้' หมอชิตโอดรายได้ลด 10 เท่า บางวันเหลือเที่ยวละคน 'ผอ.ขสมก.' ลั่นรถเมล์ก็เจ๊ง!

ลุงขับ 'รถตู้' หมอชิตโอดรายได้ลด 10 เท่า บางวันเหลือเที่ยวละคน 'ผอ.ขสมก.' ลั่นรถเมล์ก็เจ๊ง!
มติชน
25 กรกฎาคม 2564 ( 12:54 )
125
ลุงขับ 'รถตู้' หมอชิตโอดรายได้ลด 10 เท่า บางวันเหลือเที่ยวละคน 'ผอ.ขสมก.' ลั่นรถเมล์ก็เจ๊ง!

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการระบาดของเชื้อโควิด-19 และรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ 13 จังหวัด รวมกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

 

 

ห้ามออกจากเคหะสถานเวลา 21.00 – 04.00 น. ให้ทำงานจากที่บ้าน 100% ทั้งรัฐและเอกชน
จำกัดจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะทั่วประเทศให้เหลือไม่เกิน 50% ของความจุ เพื่อควบคุมการระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบอาชีพขับรถตู้โดยสารสาธารณะในเขตกรุงเทพฯบ้างแล้ว

 

 

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามผู้ประกอบการถตู้ที่จอดพักตรงลานจอดรถบีทีเอสหมอชิต เพื่อรอคิวรับผู้โดยสาร

 

 

 

นายสมจิตร เยายานัง อายุ 61 ปี ชาวเชียงราย พักอยู่ย่านลำลูกกาคลอง 2 เล่าว่า ยึดอาชีพขับรถตู้มาได้ 8 ปีแล้ว เป็นรถบริการร่วมขสมก. เดิมวิ่งเส้นทางจตุจักร-สะพานใหม่-ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต แต่พอมีรถไฟฟ้าสายสีเขียวเปิดใช้ฟรี คนหันไปนั่งรถไฟฟ้ากันหมด ทำให้ผู้โดยสารลดลงมาก เมื่อปีที่แล้วจึงตัดสินใจเปลี่ยนมาวิ่งเส้นทางจตุจักร-เมืองทองธานี คิดค่าโดยสาร 36 บาท/เที่ยว/คน เนื่องจากวิ่งขึ้นทางด่วน ต้องเสียค่าทางด่วนอีก 15 บาท

 

 

“ตั้งแต่มีโควิด คนนั่งรถตู้น้อยมาก เพราะกลัว ช่วงระลอกแรกยังไม่เท่าไหร่ ระลอก2 ยังทนไหว แต่ระลอกล่าสุดหนักมาก รัฐมีล็อกดาวน์ จำกัดคนไม่ให้เกิน50% จาก 13 คนจะเหลือ 6-7 คน ยิ่งกระทบหนัก อย่างวันนี้วิ่งตั้งแต่ 6 โมงเช้า มีคนขึ้น 4-5 คน ช่วงกลางวันเหลือ 1 คน ก็ต้องวิ่ง ส่วนใหญ่เป็นขาประจำ คนจะเยอะเช้ากับเย็น ตอนนี้วิ่งได้ 2-3 เที่ยว/วันเพราะมีเคอร์ฟิว วิ่งได้แค่ 2 ทุ่ม”

 

 

 

ถามว่าตอนนี้มีรายได้เท่าไหร่ สุงสมจิตร บอก ตั้งแต่มีโควิดเหลือเดือนละ 2,000-3,000 บาท จากเดิมเคยได้เดือนละ 20,000-30,000 บาท ปัจจุบันรายได้ไม่พอกับค่าผ่อนค่างวดรถที่ต้องจ่ายให้ไฟแนนซ์ที่เพิ่งไปขอปรับโครงสร้างหนี้มา เหลือผ่อนเดือนละ 7,000 บาท จากเดิม 20,000 บาท ปัจุบันเพิ่งผ่อนจ่ายค่ารถไป 400,000 กว่าบาท ยังเหลือหนี้รถอีกกว่า 1 ล้านบาท

 

 

 

“ตอนนี้ไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนไปผ่อน ไม่มีก็ต้องปล่อยให้เขายึดรถ เขาอยากจะคิดดอกเบี้ยก็ปล่อยเขาคิดไป เพราะไม่มีปัญญาจ่าย รายได้ที่วิ่งรถมาได้ต้องจ่ายค่าวิน ค่านายท่า ค่ารายหัว หักค่าต่างๆแล้ววันหนึ่งเหลืออยู่ 50 บาท ยังดีที่ขสมก.ให้ผ่อนค่าตอบแทนที่ต้องจ่ายให้เดือนละ 1,040 บาทได้ “

 

 

 

ลุงสมจิตร บอกอีกว่า ถ้าโควิดไม่ดีขึ้น ไปต่อไม่ไหว คงจะต้องเลิกวิ่ง ตอนนี้ก็รอดูสถานการณ์ไปก่อน ถ้าผ่อนคลาย ที่เมืองทองธานีมีจัดงาน อาจจะทำให้รายได้ดีขึ้นมาบ้าง ตอนนี้ได้รับผลกระทบกันหมด

 

 

 

หันมาทางรถตู้อีกคันที่จอดเคียงคู่ ”ลุงมิตร นิลนิเวศน์”อายุ 51 ปี คนกรุงเทพฯ บอกว่า ขับรถตู้มา 10 กว่าปีแล้ว เมื่อก่อนก็วิ่งเส้นทางจตุจักร-สะพานใหม่-ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต พอมีรถไฟฟ้ามาวิ่งทับซ้อน เลยเปลี่ยนมาวิ่งเส้นทางจตุจักร-เมืองทองธานี

 

 

 

“รายได้ไม่ดีเหมือนก่อน หลังมีโควิด เมื่อก่อนเคยได้วันละ 600-700 บาท ตอนนี้เหลือวันละ 200 บาท ยังดีไม่มีค่าผ่อนรถ เพราะเช่าเขามาวิ่งแล้วแบ่งรายได้ให้เจ้าของรถเป็นรายวัน หักแล้วจะเหลือวันละ100 บาท “

 

 

“ลุงมิตร”บอกว่า ช่วงนี้มีล็อกดาวน์ เคอร์ฟิว คนทำงานที่บ้าน และเว้นระยะห่าง จำกัดคนขึ้นแค่50% ทำให้คนใช้บริการน้อยลง มากสุด 8 คน/เที่ยว บางวันเหลือ 1 คน/เที่ยว แต่ต้องวิ่งถ้าหยุดจะมีคนร้องไปที่กรมการขนส่งทางบกว่าได้รับความเดือดร้อน เพราะเราเป็นการให้บริการสาธารณะ

 

 

“ ยังไม่เลิกวิ่งตอนนี้ ทำไปเรื่อยๆ รอดูสถานการณ์โควิดก่อน รอเงินเยียวยา ม.40 ที่รัฐจะให้ 5,000 บาทด้วย”

 

 

ด้านนายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) ยอมรับว่า ผู้ประกอบการรถตู้โดยสารสาธารณะ ที่ขึ้นตรงกับขสมก.วิ่งเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล กำลังเดือดร้อนหนัก จากเดิมมีจดทะเบียนไว้ในระบบประมาณ 3,000 คัน ปัจจุบันมีวิ่งจริงๆ ไม่ถึง 1,500 คัน

 

 

“เพราะวิ่งไม่ไหว บางส่วนหยุดทำธุรกิจไปตั้งแต่โควิดระบาดปีที่แล้ว และมีอีกหลายเหตุผล คนไม่มีก็ต้องหยุด ผู้โดยสารหายไปเกิน 50% ล่าสุดจำกัดคนใช้บริการไม่เกิน 50% เลยทำให้คนน้อยลง”

 

 

ผอ.ขสมก.บอกว่า ขสมก.ได้ช่วยผู้ประกอบการลดค่าตอบแทนรายเดือนให้ 50% จาก 1,000 บาท/เดือน เหลือ 500 บาท/เดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2564 เมื่อปีที่แล้วขสมก.ก็ลดให้ 9 เดือน ซึ่งเมื่อคิดเป็นเงินแล้วไม่มาก เมื่อเทียบกับค่าใช่จ่ายอื่นๆ ที่ผู้ประกอบการรถตู้ต้องรับภาระ เช่น ค่าผ่อนรถ ค่าทะเบียนรถ เป็นต้น จะไม่อยู่ในความรับผิดชอบของขสมก.

 

อีกปัญหาที่พบคือมีเส้นทางที่ทับซ้อนกับรถไฟฟ้า ก็มีบางรายบางเส้นทางมาขอเปลี่ยนเส้นทางวิ่งกับขสมก. ซึ่งได้ขอกับกรมการขนส่งทางบกเพื่อปรับการวิ่งใหม่ให้แล้ว ซึ่งมีไม่มากที่ขอเปลี่ยนเส้นทางวิ่ง

 

 

“ไม่ใช่รถตู้นะที่เจ๊ง รถเมล์ผมก็เจ๊งตอนนี้ หลังล็อกดาวน์เหลือคนใช้บริการวันละ 3 แสนคน วันเสาร์-อาทิตย์เหลือ 2 แสนคนกว่าๆ รายได้เหลือวันละ 3 ล้านบาท จากเดิมวันละ 5 ล้านบาท คนขึ้นน้อยลง แต่รถวิ่งให้บริการยังเท่าเดิมไม่ลดลงตามคน เพราะต้องจำกัดคนใช้บริการไม่เกิน 50% ตามประกาศของรัฐบาล วันธรรมดาวิ่งอยู่ 18,000 เที่ยว วันเสาร์-อาทิตย์อยู่ที่ 16,000 เที่ยว”ผอ.ขสมก.กล่าว และว่า

 

 

เมื่อปี2563 ขสมก.ได้รับอนุมัติให้กู้เงิน จำนวน 7,895 ล้านบาท เพื่อมเสริมสภาพคล่องในการดำเนินการในปีงบประมาณ2564 ขณะที่ในปีนี้ขสมก.ได้ขออนุมัติกู้เงินมาอีกก้อนหนึ่งเพื่อนำมาเสริมสภาพคล่องในปีงบประมาณ 2565 แล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง