ใช้จ่ายการศึกษาพุ่งสูงสุด เทอมเดียวสะพัด 6.2 หมื่นล้าน สวนทางเด็กเกิดใหม่น้อยลง

เกิดเป็นพ่อแม่คนยุคนี้ต้องจ่ายเงินหนักแค่ไหน ?
จะเลี้ยงลูก เลี้ยงหลาน เลี้ยงเด็กสักหนึ่งคน ให้โตจนดูแลตัวเองได้ ต้องลงทุนเท่าไหร่ ?
โดยเฉพาะการใช้จ่ายด้านการศึกษาที่ดูเหมือนว่าจะมีทิศทางเพิ่มสูงขึ้นในทุกปี
เช่น ล่าสุดปีนี้ กับรายงานสำรวจว่าจะมีเงินสะพัดกว่า 6.2 หมื่นล้านบาท
พ่อแม่ต้องจ่ายเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าสองหมื่นหกพันกว่าบาทต่อเด็กหนึ่งคน
"พ่อ-แม่ ผู้ปกครองชาวไทย" ยังคงให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อการศึกษาของลูก
แม้ทิศทางของเศรษฐกิจอาจจะไม่สดใสมากนัก
ข้อมูลจาก ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย
เปิดเผย "ผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายและผลกระทบของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอม ปีการศึกษา 2568"
จำนวน 1,250 ตัวอย่าง ระหว่าง 1-6 พฤษภาคม 2568 พบว่า
จะมีเงินสะพัดหรือมูลค่าการใช้จ่ายรวม 62,615 ล้านบาท
เติบโตกว่าปีก่อน 3.80% ซึ่งเป็นตัวเลขค่าใช้จ่ายที่มีมูลค่าสูงสุดตั้งแต่ทำการสำรวจมาตั้งแต่ปี 2553
โดยผู้ปกครองหรือพ่อแม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยโดยรวมต่อเทอมหรือปีการศึกษาที่ 26,039 บาท
หากเรียนในโรงเรียนรัฐบาลอยู่ที่ 15,771 บาท หากเป็นภาคพิเศษ อยู่ที่ 41,723 บาท
ส่วนโรงเรียนเอกชน ภาคปกติ 35,627 บาท ภาค 2 ภาษา 59,157 บาท
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย
ระบุว่ายอดการใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมปีนี้ ถือว่ามี "ยอดใช้จ่ายสูงสุดเป็นประวัติการณ์"
ส่วนหนึ่งอาจตีความได้ว่า ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาปรับตัวสูงขึ้น
หรือหมายความว่า ผู้ปกครองให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาของบุตรหลานมากขึ้น
อย่างไรก็ดีการผลสำรวจดังกล่าว ไม่พบว่าผู้ปกครองลดหรือประหยัดการใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรหลาน
ส่วนใหญ่ตอบว่าค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในปีนี้ใกล้เคียงกับปีก่อน
และผู้ปกครองไม่ได้ขาดแคลนเงินมากนัก ภาพรวมการใช้จ่ายด้านการศึกษาถือว่ายังไม่ได้หยุดชะงัก
ที่น่าสนใจ และต้องจับตา คือ ทุกครั้งที่มีการเปิดเทอม
เราจะได้เห็นข่าวว่าพ่อแม่หลายบ้านมีเงินไม่พอใช้จ่าย
หลายคนต้องพึ่งพาโรงรับจำนำ และกู้ยืมเงินมาหมุนเพื่อลูก
ข้อมูลจากสำรวจล่าสุดครั้งนี้ พบว่าเงินสะพัดยังหมายถึง "การหมุนเงิน" ของคนเป็นพ่อเป็นแม่
และไม่ใช่ทุกคนที่มีเงินพร้อมจ่าย ?
โดยนางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์ฯ ระบุว่า
ผู้ตอบแบบสอบถามโดยส่วนใหญ่ คือ 95%
ระบุว่าต้องเตรียมจ่ายค่าบำรุงโรงเรียน (แป๊ะเจี๊ยะกรณีย้ายโรงเรียน) เพิ่มขึ้น
หรือเฉลี่ยใช้เงิน 8,786 บาท
รวมถึงค่าชุดนักเรียน-รองเท้าก็จ่ายสูงขึ้น
ทั้งนี้ผู้ปกครองส่วนใหญ่เกือบ 67% ระบุว่า มีเงินเพียงพอกับค่าใช้จ่ายของบุตรหลายในช่วงเปิดเทอม
แต่ก็มีอีกถึงประมาณ 33% ที่ระบุแล้วว่า มีเงินไม่เพียงพอ
โดยแนวทางการแก้ปัญหาอันดับแรก คือ เอาทรัพย์สินมีค่าไปจำนำมากที่สุด
ตามด้วยการกู้เงินในระบบ และการขอผ่อนชำระค่าเทอมเป็นงวด
การเบิกเงินสดจากบัตรเครดิต/บัตรกดเงินสด, ยืมญาติพี่น้อง, หารายได้เสริม,
กู้เงินนอกระบบ และทางเลือกสุดท้ายที่แย่ที่สุด คือ ต้องให้บุตรหลานพักการเรียนไว้ก่อน
นอกจากนี้ยังถามถึงภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันว่า
ส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในการศึกษาของบุตรหลานหรือไม่
ปรากฎว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่ 56.6% ตอบว่าส่งผลกระทบมาก
นอกจากนี้ยังมีประเด็นถามเรื่องสำหรับความสำคัญของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
ทั้งในระดับมัธยมศึกษา และอุดมศึกษานั้น
พบว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่ 50.1% ตอบว่า มีความสำคัญมาก
เพราะมองว่า กยศ. ช่วยลดภาระผู้ปกครองได้
ทั้งนี้บรรดาผู้ปกครองยังมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลปรับปรุงด้านการศึกษาของไทยในปัจจุบัน
โดยขอให้ปรับปรุงระบบการประเมินผลนักเรียนที่วัดผลในหลายมิติ
พร้อมลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา
ให้แต่ละโรงเรียนมีคุณภาพการเรียนการสอนที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
สนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับผู้ขาดแคลนทุน
พัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ทัดเทียมระดับสากล
ปรับการเรียนการสอนให้ดึงดูดความสนใจของนักเรียน และเพิ่มบุคลากรทางการศึกษา
มีข้อมูลจากสภาพัฒน์ระบุว่าการเลี้ยงเด็ก 1 คน ต้องใช้จ่ายเงินอย่างน้อย 3 ล้าน
และค่าใช้จ่ายเหล่านี้ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้
คนไทยยุคนี้หลายคนเลือกที่จะ ‘ไม่มีลูก’
ทำให้ตอนนี้ตัวเลขเด็กเกิดใหม่หดอย่างหนัก
ผู้สูงอายุกำลังจะล้นเมือง
และจะไปกระทบกับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างแน่นอน
ประเทศไทยไม่ต่างจากอีกหลายประเทศทั่วโลกที่กำลังเจอกับวิกฤตสังคมผู้สูงวัย
ล่าสุดปัจจุบันนี้ คนไทยมีอัตราคนเกิดน้อยกว่าคนตายติดต่อกัน 4 ปีแล้ว
และอยู่ในทิศทางนี้อย่างต่อเนื่อง
แม้กระทั่งอัตราการเกิดล่าสุดปีที่ผ่านมาก็ยังต่ำสุดในรอบ 75 ปี
อ้างอิงข้อมูลจาก ‘สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล’
ที่เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมา 2567 มีประชากรไทยเกิดใหม่แค่ 460,000 คน
เรียกได้ว่าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
และประเทศไทย คือ ประเทศเดียวในภูมิภาคอาเซียนที่ประชากรกำลังลดลง
เพราะส่วนใหญ่ประเทศที่ประชากรกำลังลดลงนั้นมักจะเป็น ‘ประเทศพัฒนาแล้ว’
เช่น จีน ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ ไทยจึงกลายเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศกำลังพัฒนาที่ประชากรหดตัว
มีการคาดการณ์ว่าเฉลี่ยทุก 2 ปี ประชากรไทยจะลดลง 1 ล้านคน
และในอีก 50 ปีข้างหน้า ประชากรไทยจะลดลงจาก 66 ล้านเป็น 41 ล้านคน
นั่นหมายถึงคนที่มีงานทำในประเทศจะหายไปถึง 15 ล้านคนด้วย
ผลสำรวจของ ‘สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล’
สำรวจคนไทยกว่า 1,042 คน พบว่า คนไทยส่วนใหญ่ หรือ 71%
มองว่า สถานการณ์ประชากรเกิดน้อยเป็นวิกฤติ
คนไทยที่มีคู่แล้วเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่บอกว่า “จะมีลูกแน่นอน”
นอกนั้นยังไม่แน่ใจทั้ง “อาจจะมีลูก” หรือ “ไม่มีลูก”
ที่สำคัญ คือ คน Gen Y ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังและโอกาสที่จะมีลูกมากที่สุดในตอนนี้
กลับเป็นคนส่วนใหญ่ที่เฉยๆ หรือไม่เห็นด้วยกับการมีลูก
และแน่นอนว่าหนึ่งปัจจัยแรกที่ทำให้คนไทยหลายๆ คน
ตัดสินใจมีลูกน้อยหรือไม่มีลูก คือ ภาระค่าใช้จ่าย
ซึ่งข้อมูลจากสภาพัฒน์บอกว่า ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการเลี้ยงดูเด็ก 1 คน
ตั้งแต่อายุ 0-21 ปี คือ 3 ล้านบาท
เด็กที่เกิดในครัวเรือนที่ฐานะดีที่สุด
พ่อแม่จะใช้จ่ายกับเด็กมากกว่าเด็กที่เกิดในครัวเรือนฐานะด้อยสุดถึง 7 เท่า
แต่หนักที่สุด คือ ‘ด้านการศึกษา’ ที่ค่าใช้จ่ายต่างกันมากถึง 35 เท่า
ซึ่งส่งผลถึงโอกาสของเด็กไปด้วย
โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่ยากจนที่สุด
ได้เข้าเรียนต่อระดับมัธยมปลายเพียงแค่ 46%
และระดับปริญญาตรีที่ 6% เท่านั้น
รศ. ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
บอกว่า ในหมู่เด็กที่เกิดมายังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำของการเลี้ยงดู
ไม่ว่าจะเป็นจากกรณียากจน กรณีท้องไม่พร้อม
หรือกรณีไม่ได้วางแผนการเลี้ยงดู ทำให้ถ้าเข้าไปสำรวจในโซเชียลมีเดียต่างๆ
จะเห็นว่าสังคมเองก็ตั้งคำถามว่านอกจากจำนวนการเกิดแล้ว ‘คุณภาพการเกิด’
ก็มีความสำคัญหรือไม่ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันดูแล
ทั้งนี้ข้อเสนอของ ‘สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล’ คือ
อยากให้หันมามองกลุ่มประชากรที่สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ คือ ผู้สูงวัย และ ผู้หญิง
อนาคตเมื่อมีเด็กเกิดน้อยลง เราจึงสามารถสนับสนุนให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในกำลังแรงงานมากขึ้นได้
พร้อมต้องปรับนิยามของคำว่า ‘สูงวัย’ ให้ขยับขึ้นจากวัย 60 ปี
เพราะเฉลี่ยแล้วคนไทยมีอายุยืนยาวกว่า 60 ปีมากๆ
โดยหลัง 60 ปีไปแล้ว ผู้ชายไทยจะมีอายุอยู่อีกเฉลี่ย 17.5 ปีและผู้หญิงไทยจะมีอายุอยู่อีกเฉลี่ย 23.2 ปี