รีเซต

ศูนย์จีโนมฯย้ำ “โควิดเป็นโรคประจำถิ่น” ไม่ได้หมายถึงการจบเกม ยกตัวอย่างเคส HIV

ศูนย์จีโนมฯย้ำ “โควิดเป็นโรคประจำถิ่น” ไม่ได้หมายถึงการจบเกม ยกตัวอย่างเคส HIV
TNN ช่อง16
17 มีนาคม 2565 ( 10:02 )
79
ศูนย์จีโนมฯย้ำ “โควิดเป็นโรคประจำถิ่น” ไม่ได้หมายถึงการจบเกม ยกตัวอย่างเคส HIV

วันนี้ (17 มี.ค.65) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความระบุว่า โรคประจำถิ่น (Endemic)  ในมุมมองของ WHO  ไม่ได้มีความหมายในทาง “ดี” ไม่ได้หมายถึงการจบเกม (Endgame) ของโรคโควิด-19

จุลชีพที่เดิมมี “การระบาดไปทั่วโลก (Pandemic)” เช่น เชื้อเอชไอวี (HIV) ที่ก่อให้เกิดโรคเอดส์  เชื้อไมโครแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซีส (TB) ที่ก่อให้เกิดวัณโรคปอด  และเชื้อมาลาเรีย (Malaria) ที่ก่อให้เกิดโรคไข้จับสั่น ปัจจุบันได้กลายสภาพเป็น “โรคประจำถิ่น” ด้วยกันทั้งสิ้น แต่ก็ยังสามารถทำให้มนุษย์จำนวนนับล้านคนต้องจบชีวิตลงในทุกปี เราต้องใช้เวลา 20-30 ปี และงบประมาณหลายหมื่นล้านบาทในการที่จะสร้างมาตรการป้องกัน ดูแล และรักษาประชาชนทั่วโลกที่มีประสิทธิภาพมากพอที่จำกัดการระบาดของจุลชีพเหล่านี้ให้อยู่ในโหมดที่เรียกว่า “โรคประจำถิ่น (Endemic)  

WHO มองว่าการปรับเปลี่ยนจากภาวะ “การระบาดไปทั่วโลก (Pandemic)” มาเป็น “โรคประจำถิ่น (Endemic)  เป็นเสมือนการเปลี่ยนการเรียกชื่อ แต่มาตรการป้องกัน  ดูแล  และรักษา ยังต้องรัดกุม แม้ไม่ถึงขั้นต้องปิดประเทศ งดงานเลี้ยง งานชุมนุมต่างๆ หรือใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา แต่เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเราเองให้อยู่ร่วมกับจุลชีพเหล่านี้ให้จงได้

เมื่อ 10 มีนาคม 2565 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาย้ำเตือนและขอความร่วมมือจากทุกประเทศทั่วโลกผ่าน “วิดีโอคอนเฟอเรนซ์” ในหลายเรื่อง https://www.facebook.com/CMGrama/posts/4895931630514578

หนึ่งในหัวข้อสำคัญคือความหมายของคำว่าโรคประจำถิ่น (Endemic)

ทาง WHO แถลงว่า “โรคประจำถิ่น” อันหมายถึงโรคติดเชื้อที่จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงจนระบบสาธารสุขของแต่ละประเทศสามารถควบคุมได้ มีการระบาดหนักบ้างเบาบ้างเกิดเป็นช่วงๆที่พอคาดการณ์ได้ เช่น ตามฤดูกาล แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีการยุติการระบาดหรือต้องสามารถกำจัดตัวเชื้อก่อโรคให้สูญสลายไปจากโลก ในประวัติศาสตร์ของโลก ไวรัสที่มนุษย์สามารถปราบให้สูญสิ้นลงได้มีเพียงตัวเดียวคือ “ไวรัส Variola” ที่ก่อให้เกิดโรคฝีดาษ ด้วยการปลูกฝีป้องกัน 

หมายเหตุ

กรณีของเชื้อเอชไอวี (HIV) ที่ก่อให้เกิดโรคเอดส์ เดิมมีการระบาดไปทั่วโลก (Pandemic) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 ปัจจุบันได้กลายเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) ในที่สุด ประเทศไทยต้องใช้งบประมาณถึง 3 พันล้านบาทต่อปีในการป้องกัน ควบคุม และรักษา เช่น การตรวจวินิจฉัย CD4, viral load, และการถอดรหัสพันธุกรรมเพื่อดูว่าไวรัสดื้อต่อยาต้านไวรัสแล้วหรือไม่ และสามารถปรับเปลี่ยนยาหากเชื้อดื้อยาได้ทันท่วงที รวมทั้งมีการจัดหายาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูงมาใช้ มีการผลิตยาต้านไวรัสเอชไอวีบางประเภทขึ้นใช้ในประเทศโดยองค์การเภสัชกรรม  และเราได้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่ออยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี  เช่น ใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์กับกลุ่มเสี่ยง หรือหากไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัยกับกลุ่มเสี่ยงหรือเกิดอุบัติเหตุสัมผัสเลือดผู้ติดเชื้อเอชไอวีก็รีบไปรับยาต้านไวรัสมารับประทานในทันที มีการตรวจกรองเลือดบริจาคให้ปราศจากเชื้อจุลชีพต่างๆรวมทั้งเอชไอวีก่อนให้กับผู้ป่วยที่ต้องการเลือด เป็นต้น

ดังนั้นในกรณีของไวรัสโคโรนา 2019  ที่ทางภาครัฐจะปรับให้เป็นโรคประจำถิ่นเร็วๆนี้นั้นคาดว่าคงเพราะจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนน้อยกว่า 1 คนในจำนวนประชากร 1 ล้านคน เพื่อสามารถขยับขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพจิต รวมถึงการรักษาอาการที่ตามมาหลังหายป่วยจากโควิด-19 หรือ “ลองโควิด (Long COVID)” ให้ประเทศเราสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยคาดว่าประชาชนคนไทยคงต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหลายอย่างเพื่ออยู่ร่วมกับไวรัสโคโรนา 2019 ตัวนี้ให้ได้ 

https://www.youtube.com/watch?v=kA_03nRcvm8



ข้อมูลจาก :  ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ 

ภาพจาก :  AFP

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง