รีเซต

ไทยเสี่ยงเพิ่ม! สินค้าทะลักจากจีน-สหรัฐฯ

ไทยเสี่ยงเพิ่ม! สินค้าทะลักจากจีน-สหรัฐฯ
TNN ช่อง16
28 กรกฎาคม 2568 ( 17:20 )
24

บ้านเรากำลังจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น จากสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งจากสหรัฐฯ และจีน พร้อมกัน บทวิจัยจากกรุงศรี รีเสิร์ช ระบุว่า หากไทยและสหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงที่คล้ายกับข้อตกลงของสหรัฐฯ - เวียดนาม โดยเก็บภาษีสินค้าไทยที่ร้อยละ 20 และไทยเก็บ 0% กับสินค้าสหรัฐฯ แม้จะช่วยลดผลกระทบในภาคการส่งออกของไทยได้ แต่ก็จะนำไปสู่ปัญหาใหม่ที่เรียกว่า Twin Influx หรือการหลั่งไหลเข้ามาของสินค้าจากทั้งสหรัฐฯ และจีนพร้อมกัน ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อภาคส่วนในประเทศ

ภายใต้สมมติฐานจากข้อตกลงดังกล่าว มีคาดการณ์การนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในระยะยาว โดยคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 27 (ในภาพรวม) หรือเป็นมูลค่าประมาณ 188,300 ล้านบาท โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่มีความอ่อนไหวสูง อาจเผชิญกับการหลั่งไหลเข้ามาของสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากกว่า 100% เช่น กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม คาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 155% และ เกษตรกรรม คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 134% 

ส่วนกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบเป็นตัวเลข 2 หลัก เช่น ยานยนต์และอุปกรณ์ขนส่ง คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 74, สิ่งทอ เครื่องหนัง และรองเท้า ร้อยละ 50 และกลุ่ม ยางและพลาสติก ร้อยละ 43 ซึ่งภาวะ Twin Influx นี้ อาจบั่นทอนความสามารถในการแข่งขัน และการเติบโตของประเทศในระยะยาว ในขณะที่ รายงานการส่งออกสินค้าของจีน เดือนมิถุนายน ล่าสุด พบว่า จีนส่งออกสินค้ามาไทยเติบโตสูงที่สุดในอาเซียน โดยเติบโตที่ร้อยละ 27.9 ส่วนรองลงมาคือเวียดนาม เติบโตถึงร้อยละ 23.8

สะท้อนถึงการเติบโตต่อเนื่องของการนำเข้าสินค้าจีน และมีแนวโน้มจะมากขึ้นอีก โดย คุณ ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท เพย์ โซลูชั่น จำกัด ให้ความเห็นว่า สัญญาณเศรษฐกิจและกำลังซื้อในประเทศยังไม่ดีนัก ขณะเดียวกัน มองว่าสินค้าจีนมีแนวโน้มหลั่งไหลเข้ามาในไทยมากขึ้นในครึ่งปีหลังนี้ 

ด้านสมาคมผู้ค้าปลีกไทย มองว่า การปราบปราม การสวมสิทธิ์โดยชาวต่างชาติ (หรือ ธุรกิจนอมินี) ของภาครัฐนั้น เริ่มมาถูกทางมากขึ้น จากที่ผ่านมามีธุรกิจนอมินีของต่างชาติดำเนินกิจการในไทยกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในกลุ่มร้านอาหาร, โรงแรม และซูเปอร์มาร์เก็ต อย่างไรก็ดี เสนอว่า ภาครัฐควรต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและจริงจังมากขึ้น เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางการค้าให้กับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอีไทย

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอเร่งด่วนในภาคค้าปลีก หลังจากพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก เดือนมิถุนายน ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และลดลงต่ำสุดในรอบ 42 เดือน เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากความไม่แน่นอนทางการเมือง การบริโภคที่ชะลอตัว การลงทุนที่ลดลง รวมถึงกระทบจากปัจจัยภายนอก ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และนโยบายภาษีของสหรัฐฯ 

ซึ่งคุณ ณัฐ วงศ์พานิช ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการค้าปลีก คาดว่าจะลดลงต่อเนื่องในไตรมาส 3 เนื่องจากปัจจัยท้าทายต่าง ๆ ยังคงอยู่ จึงเสนอแนวทาง 2 แกนหลัก เพื่อเร่งฟื้นเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่สำคัญนี้ ประกอบด้วย 

แนวทางแรก คือการอัดฉีดเม็ดเงินของรัฐอย่างตรงจุด เพื่อฟื้นกำลังซื้อทั่วประเทศ เช่น การเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนและการท่องเที่ยว และการผลักดันโครงการ Easy e-Receipt เฟส 2 หรือช้อปดีมีคืน ในช่วงระหว่างเดือนกันยายน-ธันวาคมนี้ เป็นต้น

และอีกแนวทาง คือ ผลักดันแม่เหล็กท่องเที่ยว ผ่าน Thailand Shopping Paradise เพื่อดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพให้เข้ามา และใช้จ่ายมากขึ้นในไทย เช่น การทดลองมาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 ทันที ณที่ร้านค้า และการจัดมหกรรมลดราคาสินค้าทั่วประเทศ รูปแบบเดียวกับงานสิงคโปร์ลดทั้งเกาะ เป็นต้น 

โดยเชื่อว่าหากรัฐบาลผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีศักยภาพเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ ควบคู่กับความร่วมมืออย่างจริงจังระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่งและเติบโต อย่างยั่งยืน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง