รีเซต

เลือกตั้งผู้ว่า 2565 : เปิดคุณสมบัติผู้ว่าฯ กทม. - ส.ก. เช็กเงื่อนไขก่อนสมัครเลือกตั้ง ประชาชนช่วยตรวจสอบได้ มีเงินรางวัล

เลือกตั้งผู้ว่า 2565 : เปิดคุณสมบัติผู้ว่าฯ กทม. - ส.ก. เช็กเงื่อนไขก่อนสมัครเลือกตั้ง ประชาชนช่วยตรวจสอบได้ มีเงินรางวัล
Ingonn
31 มีนาคม 2565 ( 08:19 )
291

เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 2565 วันนี้ เป็นวันแรกที่รับสมัครเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. จนถึงวันที่ 4 เมษายน 2565 โดยผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หรือ ส.ก. จะต้องตรวจสอบคุณสมบัติก่อนลงสมัคร หากกระทำผิดกฎหมาย มีโทษหนักจำคุกมากที่สุด 10 ปี หากประชาชนพบเห็น การกระทำผิด สามารถแจ้งได้ ผ่านแอปพลิเคชั่น "ตาสัปปะรด" โดยมีเงินรางวัลนำจับสูงสุดถึง 100,000 บาท

 

การเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กำหนดวันเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 และให้มีการรับสมัครระหว่างวันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม ถึง วันจันทร์ที่ 4 เมษายน 2565 ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น. ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง โดยไม่เว้นวันหยุดราชการ

 

สำหรับการรับสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่จะมีการเลือกตั้งในครั้งนี้ จำนวนทั้งสิ้น 1 คน ให้ถือเขตของกรุงเทพมหานครเป็น 1 เขตเลือกตั้ง และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ที่จะมีการเลือกตั้ง จำนวนทั้งสิ้น 50 คน ให้ถือเขตของสมาชิกสภากรุงเทพมหานครเป็นเขตเลือกตั้ง มีจำนวน 50 เขตเลือกตั้ง โดยจัดภายใต้มาตรการโควิด-19 จำกัดจำนวนผู้ที่จะเข้าในพื้นที่รับสมัคร โดยเข้าได้เฉพาะผู้สมัคร และผู้ติดตาม 1 คน เท่านั้น หากมีการตรวจคัดกรองแล้วพบว่าอุณหภูมิร่างกายสูงหรือมีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 นั้น สามารถสมัครรับเลือกตั้งได้เนื่องจากไม่มีกฎหมายห้ามไว้ แต่จะมีการจัดเตรียมสถานที่และเจ้าหน้าที่รับสมัครแยกออกมาจากผู้สมัครคนอื่น

 

คุณสมบัติผู้ว่าฯ กทม. -สก. กทม.

พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 49 ประกอบพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2562 ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งและหลักฐานเอกสารประกอบการสมัครรวมถึงค่าธรรมเนียมการสมัครไว้ ดังต่อไปนี้            

  1. สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.)

    • คุณสมบัติผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร
      • มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
      • อายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง
      • มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตกรุงเทพมหานครในวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
      • ต้องไม่เป็นบุคคลซึ่งมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562

    • ค่าธรรมเนียมการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร
      • จำนวน 10,000 บาท


  2. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผว.กทม.)

    • คุณสมบัติผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
      • มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
      • อายุไม่ต่ำกว่า 35 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง
      • มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตกรุงเทพมหานครในวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
      • สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
      • ต้องไม่เป็นบุคคลซึ่งมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562

    • ค่าธรรมเนียมการสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
      • จำนวน 50,000 บาท

  3.  หลักฐานการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

    • ใบสมัครรับเลือกตั้ง ตามแบบ ผ.ถ. 4/1
    • รูปถ่ายหน้าตรงไม่สวมหมวก หรือรูปถ่ายที่พิมพ์ชัดเจนเหมือนรูปถ่ายของตนเอง ขนาดความกว้างประมาณ 8.5 ซม. ยาวประมาณ 13.5 ซม. จำนวน 10 รูป
    • บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสำเนา จำนวน 1 ฉบับ
    • สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน พร้อมสำเนา 1 ฉบับ
    • ใบรับรองแพทย์ (ไม่ควรเกิน 1 เดือน)
    • หลักฐานการศึกษา ไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า (เฉพาะสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร)
    • หลักฐานแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเวลาติดต่อกัน 3 ปี นับถึงปีที่สมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัคร (ปี 2562, ปี 2563, ปี 2564) เว้นแต่เป็นผู้ไม่ได้เสียภาษีเงินได้ให้ทำหนังสือยืนยันการไม่ได้เสียภาษีพร้อมทั้งสาเหตุแห่งการไม่ได้เสียภาษี ตามแบบ ผ.ถ. 4/2 (ตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562)
    • หลักฐานอื่นๆ ที่จำเป็น เช่น เอกสารใบเปลี่ยนชื่อตัว หรือชื่อสกุล สูติบัตร หลักฐานหรือใบรับรองแสดงการเกิด ถิ่นที่อยู่ พร้อมสำเนา จำนวน 1 ฉบับ เป็นต้น


  4. การสมัครรับเลือกตั้ง

    ให้ผู้สมัครยื่นใบสมัครต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งหลักฐานการสมัครและค่าธรรมเนียมการสมัคร และผู้สมัครต้องยื่นหลักฐานการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นเวลาติดต่อกัน 3 ปี นับถึงปีที่สมัครรับเลือกตั้ง เว้นแต่เป็นผู้ไม่ได้เสียภาษีเงินได้ ให้ทำหนังสือยืนยันการไม่ได้เสียภาษีพร้อมทั้งสาเหตุแห่งการไม่ได้เสียภาษี


  5. สถานที่รับสมัคร

    ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง โดยไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างวันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม ถึง วันจันทร์ที่ 4 เมษายน 2565 ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น.

 

การสมัครรับเลือกตั้งโดยรู้ว่าตนเองขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการสมัคร เพราะมีโทษตามมาตรา 120 ที่บัญญัติว่า ผู้ใดลงสมัครรับเลือกตั้งโดยรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นผู้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี

 

นอกจากนี้ นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รักษาการแทนเลขาธิการกกต. แถลงข้อควรรู้เพื่อนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนในการเลือกตั้งกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา “รวมพลังสุจริต ใช้สิทธิอย่างโปร่งใส พร้อมใจไปเลือกตั้ง” โดยเตือนผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.- เมืองพัทยา ตรวจสอบคุณสมบัติก่อนลงสมัครให้ดี อย่าคิดเอาแต่สนุก ระวังคุก ฝาก ปชช.ช่วยเป็นหู เป็นตา มีรางวัลนำจับทุจริต 

 

ข้อห้าม เมื่อลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ประชาชนพบเห็นแจ้งได้ รับเงินรางวัล

  1. การจัดเลี้ยงกองเชียร์ในวันรับสมัคร หรือมีขบวนแห่รำกลองยาว จะถือเป็นการจัดให้มีมหรสพ ผิดกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น 
    กกต.กทม.จัดชุดตำรวจเคลื่อนที่เร็วคอยตรวจตราการเลือกตั้งเขตละ 3 คน รวม 150 คน (50 เขต) 
  2. ศึกษา กม.เลือกตั้งให้ครบถ้วน กระทำผิดแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็มีโทษหนักได้ (จำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-600,000 บาท หรือตัดสิทธิเลือกตั้งถึง 20 ปี) 
  3. ประชาชนแจ้งเบาะแส-หลักฐาน มายัง กกต. หรือ ผอ.การเลือกตั้งประจำจังหวัดได้ 
  4. หากเป็นหลักฐานเอาผิดได้ จะมีเงินรางวัลนำจับสูงสุดถึง 100,000 บาท
  5. ประชาชนสามารถเข้าไปแจ้งในแอปพลิเคชันตาสับปะรดได้ “การซื้อเสียงไม่ใช่แค่ผู้ให้เงินที่มีความผิด แต่ผู้รับเงินก็มีความผิดด้วยเช่นกัน อัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี ปรับถึง 100,000 บาท”

 

สำหรับสถานที่ห้ามปิดประกาศ ได้แก่ ผิวการจราจร เกาะกลางถนน สะพานลอยเดินข้ามและสะพานลอยรถข้าม รวมทั้งส่วนประกอบของสะพาน รั้วและแผงเหล็กริมถนน ป้ายจราจรและสัญญาณไฟจราจร ป้ายประกาศของทางราชการ รั้วหรือกำแพงหรือผนังอาคารของทางราชการ ต้นไม้และเสาไฟฟ้าบริเวณเกาะกลางถนน เป็นต้น โดยขอให้ผู้สมัครศึกษารายละเอียด และปฏิบัติตามข้อกำหนดของประกาศอย่างเคร่งครัด

 

ข่าวเกี่ยวข้อง :

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.

คลิกเลย >>> TrueID Community <<<

 

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง