รีเซต

กทม. เผยรวมพลังปิดไฟ 1 ชั่วโมง ลดความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ 24.65 เมกะวัตต์

กทม. เผยรวมพลังปิดไฟ 1 ชั่วโมง ลดความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ 24.65 เมกะวัตต์
TNN ช่อง16
24 มีนาคม 2567 ( 13:33 )
22
กทม. เผยรวมพลังปิดไฟ 1 ชั่วโมง ลดความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ 24.65 เมกะวัตต์

วันนี้ ( 24 มี.ค. 67 )นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กิจกรรม ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน ปี 2567 (60+ Earth Hour 2024)  เป็นกิจกรรมที่กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม สำนักและสำนักงานเขต ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน รณรงค์และเชิญชวนผู้ประกอบการ ร้านค้า ประชาชน ลดการใช้พลังงานและปิดไฟที่ไม่จำเป็น เช่น ไฟประดับ ไฟอาคาร ป้ายโฆษณา รวมถึงการถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้งาน ลดการใช้เครื่องปรับอากาศในอาคารบ้านเรือน เป็นเวลา 1 ชั่วโมง พร้อมกับเมืองต่าง ๆ กว่า 7,000 เมือง 190 ประเทศทั่วโลก ในวันเสาร์ที่ 23 มีนาคม 2567 ระหว่างเวลา 20.30 - 21.30 น. ซึ่งทุกภาคส่วนได้ให้ความร่วมมือปิดไฟในช่วงดังกล่าว 

.

ในปีนี้  5 Landmark หลักของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) พระบรมมหาราชวัง  วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร  เสาชิงช้า  สะพานพระราม 8  และวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (ภูเขาทอง) ได้ร่วมปิดไฟเชิงสัญลักษณ์ด้วย 


จากการคำนวณปริมาณการใช้ไฟฟ้าช่วงเวลาดังกล่าวในพื้นที่กรุงเทพฯ การไฟฟ้านครหลวง พบว่า กิจกรรม ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน ปี 2567  นี้ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สามารถลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้ 24.65 เมกะวัตต์ เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันเสาร์ที่ 16 มีนาคม 2567 ระหว่างเวลา 20.30 - 21.30 น. ลดความต้องการการใช้ไฟฟ้าลงได้ 24.65 เมกะวัตต์ ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 11 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เทียบได้กับการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้ 1,100 ต้น ใน 1 ปี  (ต้นไม้ยืนต้น 1 ต้น สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 10 กิโลกรัมต่อปี) และสามารถลดค่าไฟฟ้าลงได้ 130,182 บาท


ทั้งนี้กรุงเทพมหานคร ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้ความร่วมมืออย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งกิจกรรมปิดไฟฯ ในวันนี้ เป็นเพียงสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความร่วมมือ หากประชาชนทุกคนตระหนักถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและร่วมอนุรักษ์พลังงาน ด้วยการปฏิบัติให้เป็นวิถีชีวิตประจำวัน เช่น ถอดปลั๊กไฟทุกครั้งหากไม่ใช้งาน ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเท่าที่จำเป็น ปิดไฟที่ไม่ใช้งานทุกครั้งอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการลงมือปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เช่น การใช้จักรยาน  การปลูกต้นไม้ การลดใช้รถยนต์ เป็นต้น ซึ่งด้วยวิธีง่าย ๆ เหล่านี้ ถ้าทุกคนร่วมมือกัน จะเป็นพลังยิ่งใหญ่ที่ช่วยโลกของเราจากปัญหาโลกร้อนได้อย่างยั่งยืน


ข้อมูลจาก: กรุงเทพมหานคร

ภาพจากกรุงเทพมหานคร  

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง