รีเซต

การปฏิรูปภาษี : ยังห่างไกลจากบทสรุป

การปฏิรูปภาษี : ยังห่างไกลจากบทสรุป
ทันหุ้น
13 กุมภาพันธ์ 2568 ( 15:22 )
16

 

#เงินเฟ้อ #ทันหุ้น - บทวิเคราะห์ โดย บล.กสิกรไทย

 

การปฏิรูปภาษี: ยังห่างไกลจากบทสรุป

เราจัดการประชุม KS Expert Series ในหัวข้อ "การปฏิรูปภาษีของไทย" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธีมการลงทุนปี 2568 ที่เราเชื่อว่าจะเน้นเรื่องภาษีและภาษีศุลกากร

ไทยได้ดำเนินการตามกรอบภาษีเสาหลักที่ 2 ของ OECD (GMT) แต่ใช้แนวทางรอดูสถานการณ์สำหรับเสาหลักที่ 1 หลังจากที่สหรัฐฯ คัดค้านการปฏิบัติตาม

กรมสรรพากรเปิดเผยว่า อัตราภาษีสากลที่ 15% สำหรับ VAT, CIT และ PIT ยังอยู่ห่างไกลจากการสรุปผล และจะเน้นไปที่มาตรการที่มีอยู่เป็นหลัก

 

การปฏิรูปภาษีของประเทศไทยอยู่ระหว่างการศึกษา

เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2568 เราจัดการประชุม KS Expert Series ในหัวข้อ "การปฏิรูปภาษีของไทย" โดยมีคุณเสาวลักษณ์ บุญเอี่ยม นักเศรษฐศาสดร์ด้านภาษีอาวุโส จากกรมสรรพากรกระทรวงการคลัง เป็นวิทยากรหลัก การประชุมนี้เป็นส่วนหนึ่งของการอภิปรายตามธีมการลงทุนปี 2568 ที่เน้นเรื่องภาษีและภาษีศุลกากรของเรา โดยข้อสรุปส่าคัญจากการอภิปรายคือ กรมสรรพากรกำลังอยู่ในช่วงศึกษาการปฏิรูปภาษีของไทย และยังไม่มีแผนดำเนินมาตรการภาษีใหม่ในอนาคตอันใกล้

 

นโยบายภาษีของ OECD บังคับใช้กรอบภาษีเสาหลักที่ 2 แล้ว แต่ต้องรอดูเสาหลักที่ 1

กรมสรรพากรชี้แจงว่า กรอบนโยบายภาษีของ OECD ประกอบด้วยสองเสาหลัก เสาหลักที่ 1เกี่ยวข้องกับการจัดสรรกำไรและสิทธิในการเก็บภาษีของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ในขณะที่เสาหลักที่ 2 กำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคลขั้นต่ำที่ 15% สำหรับบริษัทข้ามชาติ ในประเทศไทย มาตรการภาษีขั้นต่ำสากล (GMT) ซึ่งบังคับใช้อัตราภาษีขั้นต่ำ 15% ได้ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ต้นปีนี้ อย่างไรก็ตาม กรอบเสาหลักที่ 1 ยังไม่มีข้อสรุปสำหรับประเทศไทย เนื่องจากสหรัฐฯ คัดค้านและปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามกรอบดังกล่าว ดังนั้น ไทยจึงเลือกใช้แนวทางรอดูผลกระทบและรักษาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐฯ

 

อัตราภาษีสากล 15% ยังห่างไกลจากข้อสรุป

นอกเหนือจากกรอบนโยบายภาษีของ OECD แล้ว ประเด็นเรื่องหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูงและเพิ่มขึ้นของไทยถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยบ่อยครั้งว่าอาจนำไปสู่การปรับขึ้นภาษีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) คุณพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เคยให้สัมภาษณ์เมื่อปีที่แล้วว่ากระทรวงการคลังกำลังศึกษาการปรับโครงสร้างระบบภาษีของไทย (The Standard) ซึ่งรวมถึงการพิจารณาปรับขึ้น VAT จากระดับปัจจุบันที่ 7% เพื่อเพิ่มรายได้จากภาษี

 

อย่างไรก็ตาม กรมสรรพากรยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีแผนดำเนินมาตรการภาษีใหม่ในอนาคตอันใกล้ ไม่ว่าจะเป็นการขึ้น VAT หรือการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล (CIT) และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (PIT) อัตราภาษีสากลที่ 15% ทั้งสำหรับ VAT, CIT และ PIT ยังคงอยู่ในขั้นตอนการศึกษา และนโยบายยังอยู่ห่างไกลจากการได้บทสรุป อีกทั้งหากมีการปรับขึ้น VAT คาดว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปที่ 1% แทนที่จะปรับขึ้นจาก 7% เป็น 15% ในทันที อย่างไรก็ตาม กรมสรรพากรเปิดเผยว่าขณะนี้จะมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพและความเป็นธรรมของมาตรการภาษีที่มีอยู่เป็นหลัก

 

พื้นที่ของนโยบายการคลังมีจำกัดในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย

การใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขณะที่การจัดเก็บรายได้จากภาษีเติบโตในอัตราที่ช้ากว่า ส่งผลให้เกิดการขาดดุลการคลังอย่างต่อเนื่อง และสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยเพิ่มเข้าใกล้เพดานวินัยการคลังที่ 70% ทั้งนี้เนื่องจากกรมสรรพากรยืนยันว่าไม่น่าจะมีการขึ้น VAT ในอนาคตอันใกล้ เราเชื่อว่าสิ่งนี้อาจหมายถึงพื้นที่นโยบายการคลังที่จำกัดสำหรับรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยระยะข้างหน้า แม้เป็นไปได้ว่ารัฐบาลอาจขยายการขาดดุลการคลังออกไปได้อีก 1-2 ปีข้างหน้า

แต่ในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า เราเชื่อว่าสุดท้ายรัฐบาลอาจต้องพิจารณาทางเลือกในการเพิ่มรายได้จากภาษีให้ทันกับการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้น รวมถึงรัฐบาลอาจต้องพิจารณามาตรการบรรเทาผลกระทบจากการขึ้นภาษีด้วย เช่น การให้เงินคืนภาษีสำหรับผู้มีรายได้น้อย (negative income tax), รวมถึงการปรับลดภาษี CIT และ PIT

 

 ทั้งนี้ หากมีการดำเนินมาตรการปฏิรูปภาษีทั้งหมด เราประเมินว่าจะส่งผลบวกต่อกำไรต่อหุ้น (EPS) ของตลาดประมาณ 2-3% ตามผลการศึกษาเดิมของเรา

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง