รีเซต

เสนอ 5 แนวทาง ยกระดับคุณภาพชีวิตขนส่งมวลชนเพื่อคนพิการ

เสนอ 5 แนวทาง ยกระดับคุณภาพชีวิตขนส่งมวลชนเพื่อคนพิการ
PakornR
13 พฤศจิกายน 2563 ( 11:00 )
653
เสนอ 5 แนวทาง ยกระดับคุณภาพชีวิตขนส่งมวลชนเพื่อคนพิการ

เครือข่ายระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยทุกคนเข้าถึงได้ วอนปฏิรูปรถเมล์ กรุงเทพฯ - ปริมณฑลทั้งระบบ เสนอ 5 ข้อ “ราคา-สิ่งอำนวยความสะดวกในรถ-เส้นทาง-การให้บริการ-ป้ายรถเมล์” ยกระดับคุณภาพชีวิต สสส.หนุนยึดหลักออกแบบเพื่อคนทั้งมวล ทุกคนเข้าถึงได้ทุกเส้นทาง ลดความเหลื่อมล้ำ


 
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า วันที่ 14 พฤศจิกายน เป็น  “วันคนพิการแห่งชาติ”  สสส.ร่วมกับ เครือข่ายระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยทุกคนต้องเข้าถึงได้ จัดรับฟังความเห็นจากเครือข่ายผู้ใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ตัวแทนผู้ใช้บริการรถเมล์กลุ่มต่าง ๆ อาทิ คนพิการทางการเคลื่อนไหว คนพิการทางการได้ยิน คนพิการทางสายตา ผู้สูงอายุ กลุ่มแรงงานนอกระบบ กลุ่มคนจนเมือง และผู้มีรายได้น้อย พบทุกคนประสบปัญหาการเดินทาง ทั้งด้านราคา สิ่งอำนวยความสะดวกในรถ เส้นทาง การให้บริการ และป้ายรถเมล์  ขณะที่ “ระบบขนส่งมวลชน” ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงการศึกษา ประกอบอาชีพ และมีชีวิตประจำวันเท่าเทียมกับทุกคน

 


 
“การทำปัจจัยแวดล้อมและพื้นที่สุขภาวะ (Built environment) เป็นโจทย์ใหญ่ที่จะทำให้คุณภาพชีวิตคนพิการในเมืองและต่างจังหวัดมีคุณภาพชีวิตที่ดี ที่ผ่านมาการเดินทางไปเรียนหนังสือ หรือ ไปทำงานสำหรับคนกลุ่มนี้ มีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงกว่าคนทั่วไป เพราะที่อยู่อาศัยบางเส้นทางยังไม่มีการคมนาคมเข้าถึง เช่น คนพิการที่ใช้วีลแชร์ ไม่สามารถใช้รถสาธารณะได้เลย เพราะอุปกรณ์อำนวยความสะดวกไม่รองรับ ดังนั้น การมีรถเมล์ชานต่ำ (Low Floor Bus) ควบคู่กับการคิดค่าโดยสารที่เป็นธรรมอยู่ที่ 10 – 30 บาท เพื่อที่พวกเขาจะได้ไม่ต้องจ่ายค่ารถโดยสารไปกับรถชนิดอื่นที่มีราคาเริ่มต้นที่ 90 - 150 บาท หรือมากกว่านั้นจึงจำเป็น อีกทั้งภาคนโยบายต้องทำให้สังคมตระหนักและเห็นคุณค่าคนพิการ ด้วยการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design) ให้เขามีสิทธิและพื้นที่การใช้ชีวิตได้เหมือนคนทั่วไป ”  นางภรณี กล่าว

 


 
นายชีวิน อริยะสุนทร ผู้ประสานงานเครือข่ายระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยทุกคนเข้าถึงได้ กล่าวว่า เครือข่ายฯ กำหนดเป้าหมายร่วมกันคือ “การปฏิรูประบบรถเมล์เพื่อคุณภาพชีวิตคนเมือง” โดยมีข้อเสนอในการผลักดัน 5 ข้อ เนื่องใน “วันพิการแห่งชาติ” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตทุกคน ได้แก่

1. เส้นทาง คือ ทุกเส้นทางต้องมีรถโดยสารครอบคลุม โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล

2. ราคาค่าโดยสาร ขสมก. ต้องทำแผนฟื้นฟูค่าโดยสารให้เหมาะสมกับระยะเดินทาง ครอบคลุมถึงรถโดยสารบริษัทเอกชนทุกแห่ง

3. ตัวถังรถและภายในรถโดยสาร ต้องออกแบบการใช้งานให้รองรับคนพิการ มีที่จอดรถวีลแชร์ มีจุดล็อคล้อ และมีทางลาด

4. การให้บริการ พนักงานรถโดยสารต้องเข้าใจสภาพชีวิตคนพิการ ใช้วาจาสุภาพ ไม่ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด และจอดส่งให้ถึงป้ายสุดท้าย ไม่ทิ้งผู้โดยสารไว้กลางทางเมื่อมีคนน้อย

5. ป้ายรอรถโดยสารต้องปลอดภัย มีไฟส่องสว่าง มีกล้องวงจรปิด มุงหลังคากันแดดฝน รวมถึงทำสัญลักษณ์จอดรับคนพิการ คนท้อง ผู้สูงอายุชัดเจน ต้องตั้งกฎบังคับไม่ให้แท็กซี่ รถตู้ รถสองแถวจอดขวางทาง “บัสเลน”เด็ดขาด และปรับปรุงทางเท้า ทางลาด 'เบรลล์บล็อค' (Braille Block) หรือ อักษรเบรลล์บนทางเท้า ให้มีคุณภาพรองรับ

 


“ผมหวังอย่างยิ่งว่าคนพิการทุกคนจะต้องมีชีวิต ศักดิ์ศรี เท่าเทียมกับคนกลุ่มอื่น ๆ และขอยืนยันจะผลักดันปฏิรูประบบขนส่งมวลชน รถโดยสารเพื่อคนพิการให้ถึงที่สุด เพราะ “การเดินทาง” เป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงโอกาส เข้าถึงสิทธิ์ต่าง ๆ เช่น การเรียน การทำงาน การมีสังคมได้ โดยที่ไม่รู้สึกแตกต่างเพียงเพราะร่างกายไม่เหมือนคนทั่วไป นี่คือ เจตนารมณ์หลักที่เราจะยึดมั่นทำต่อไปเพื่อคนพิการทุกคนไม่ใช่แค่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล” นายชีวิน กล่าว


 
ทั้งนี้ เครือข่ายระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย ทุกคนเข้าถึงได้ ประกอบด้วย ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ (T4A) เพจชุมชนคนรักรถเมล์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สถาบันส่งเสริมภาคประชาสังคม  สมาพันธ์ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทย สมาคมนักขับเคลื่อนสังคมเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาวะ เครือข่ายสลัม 4 ภาค มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย สมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ เครือข่ายพลังผู้สูงวัย และกลุ่มปั้นเมือง

 

 

รวมสิทธิส่งเสริมคุณภาพชีวิต เกาะติดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทันเรื่องราวกระแสสังคม สัมผัสประสบการณ์ข่าวได้ที่ แอปพลิเคชัน ทรูไอดี (ดาวน์โหลดเลยที่นี่!!)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง