รู้จัก "วัคซีนใบยา" ฝีมือคนไทย เทคโนโลยีเดียวกับ "โนวาแวกซ์"
วัคซีนที่ผลิตจากโปรตีนของเชื้อไวรัสกำลังเป็นอีกความหวังหนึ่งของคนไทยและชาวโลก หลายประเทศได้วิจัยและผลิตวัคซีนด้วยเทคโนโลยีนี้ อย่างเช่น "โนวาแวกซ์" ซึ่งเคลมว่ามีประสิทธิภาพ ป้องกันสายพันธุ์ดั้งเดิมได้ 96.4% สายพันธุ์อัลฟ่า 86% แต่สายพันธุ์แอฟริกาเหลือ 48.6%
ขณะที่ นักวิจัยไทยกำลังผลิต "วัคซีนใบยาสูบ" ซึ่งเป็นวัคซีนที่ผลิตจากโปรตีนเช่นกัน เตรียมทดสอบในมนุษย์ระยะแรก ก.ย.นี้ มั่นใจประสิทธิภาพไม่ด้อยกว่าโนวาแวกซ์ หลังได้ผลดีกับไวรัสกลายพันธุ์ที่ทดลองในสัตว์ ตั้งเป้าปี 2565 คนไทยได้ใช้สู้โควิด
บริษัท โนวาแวกซ์ (Novavax) ใช้เทคโนโลยีรูปแบบโปรตีนซับยูนิต ในการผลิตวัคซีนโควิดชื่อว่า NVX-CoV2373 ใช้การตัดต่อสารพันธุกรรมให้กับไวรัสชนิดหนึ่ง เพื่อนำเข้าสู่เซลล์ของผีเสื้อกลางคืนจำพวก “มอธ” (Moth) แล้วสังเคราะห์โปรตีนขึ้นมา ซึ่งไวรัสที่ได้จากผีเสื้อกลางคืนจะแตกต่างจากไวรัสในแมลงอื่นๆ นั่นก็คือมีความปลอดภัยและไม่ส่งผลกระทบใดๆ กับสัตว์มีกระดูกสันหลัง
เวลานี้ ผ่านการทดลองเชิงคลินิกในเฟสที่ 3 แล้ว ซึ่งทางวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ หรือ NEJM ได้รายผลประสิทธิภาพ ต่อไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม 96.4% และ 86.3% ต่อไวรัสสายพันธุ์ B.1.1.7 หรือสายพันธุ์อังกฤษ และประสิทธิภาพ 48.6% ต่อไวรัสสายพันธุ์ B.1.351 หรือแอฟริกาใต้
วัคซีนโนวาแวกซ์เป็นวัคซีนที่ต้องฉีด 2 โดส มีราคาอยู่ที่โดสละ 16 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 500 บาท สามารถเก็บรักษาได้ด้วยอุณหภูมิของตู้เย็นทั่วไป ต่างจากวัคซีนอื่นๆ ที่อาจจำเป็นต้องเก็บในอุณหภูมิต่ำเป็นพิเศษ
สำหรับวัคซีนที่ผลิตจากโปรตีนของเชื้อไวรัส หรือที่เรียกว่า "โปรตีนซับยูนิตวัคซีน" เป็นเทคโนโลยีที่มีมานานแล้ว เป็นเทคโนโลยีเดียวกันที่ใช้ผลิตวัคซีนตับอักเสบบี และวัคซีนมะเร็งปากมดลูกที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
จุดเด่นวัคซีนที่อยู่ในรูป protein จะมีหน้าตาเหมือนไวรัสเข้าไปในร่างกาย แต่เป็นโปรตีนที่ไม่มีรหัสพันธุกรรมที่สามารถสร้างตัวเองได้ เหมือนกินไข่ กินหมู แต่แทนที่จะผ่านการย่อยก็ฉีดเข้าไปในร่างกายแทน สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ และก็ผลิตได้เร็ว
ขณะที่ประเทศไทย กำลังผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ด้วยโปรตีนซับยูนิตวัคซีน เช่นกันโดย บริษัท ใบยา โฟโตฟาร์ม จำกัด สตาร์ทอัพสัญชาติไทย จากฝีมือของ 2 นักจัยไทยแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งใช้โปรตีนพืชจากใบยาสูบเป็นพันธุ์พื้นเมืองออสเตรเลีย มีสารนิโคตินระดับต่ำมากและคนละชนิดกับ "บุหรี่"
โดยกระบวนการจะนำส่วนหนึ่งของไวรัสมาเป็นต้นแบบ และนำมาผ่านกระบวนการส่งสารพันธุกรรมเข้าไปในพืช ทำให้พืชสร้างโปรตีนที่เป็นชิ้นส่วนของไวรัสได้ และสกัดนำโปรตีนที่คล้ายไวรัสนั้นให้บริสุทธิ์ออกมาเพื่อทำเป็นวัคซีน ชื่อว่า Baiya SARS-CoV-2 VAX1
มีการทดสอบในหนูและลิง ด้วยการฉีด 2 เข็มห่างกัน 3 สัปดาห์ ซึ่งผลการทดสอบเป็นที่น่าพอใจ ไม่มีผลข้างเคียง ค่าเอนไซม์ตับปกติ เมื่อนำเปปไทด์ไปกระตุ้นเซลล์ของลิง พบว่า มีการกระตุ้น T Cell ได้ดี และตอนนี้ยังได้ปรับปรุงทดสอบกับ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ อัลฟ่า เดลต้า เบต้า และแกรมม่าแล้ว ผลทดสอบในสัตว์ทดลองเบื้องต้น ก็ออกมาดีมากกว่าเดิม
ขณะนี้ มีโรงงานพร้อมผลิตวัคซีนแล้ว โดยทีมวิจัย จะส่งแบบโรงงานให้ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบคุณภาพโรงงาน คาดว่า จะเริ่มผลิตวัคซีนได้ในอีก 2-3 สัปดาห์นี้ และเตรียมทดสอบในมนุษย์ระยะแรก ช่วงประมาณเดือนกันยายน 2564 ตามแผนที่วางไว้ โดยจะเปิดรับอาสาสมัครอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคมนี้ เป็นคนที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีอายุระหว่าง 18-55 ปี จำนวน 48 คน และ 65-75 ปี จำนวน 48 คน
วัคซีนใบยา สามารถผลิต ได้ปริมาณราว 10,000 โดสต่อเดือน และการพัฒนาวัคซีนให้มีความหลากหลายเพื่อรองรับสายพันธุ์กลายพันธุ์ในอนาคตย่อมทำได้อย่างรวดเร็ว ตั้งเป้าปี 2565 คนไทยได้ใช้ โดยวัคซีน 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ และจะขายในราคาต้นทุน คาดว่าเข็มละไม่เกิน 300-500 บาท
ปัจจุบันวัคซีนที่ผลิตโดยใช้โปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ หลายประเทศกำลังผลิตออกมาอย่างต่อเนื่อง วัคซีน Novavax จากสหรัฐ และ Corbevax จากอินเดีย ยังมีวัคซีน Abdala ของประเทศคิวบาเป็นหนึ่งในวัคซีนต้านโควิด-19 น้องใหม่ที่กำลังมาแรงในขณะนี้ เป็นชนิดฉีด 3 เข็มผลการทดลองระยะสุดท้ายพบว่ามีประสิทธิภาพในการต่อต้านโควิด-19 ได้สูงถึง 92.28% ท่ามกลางความสนใจจากนานาชาติที่ติดต่อขอซื้อวัคซีนดังกล่าว