รีเซต

สศค.วางผังขับเคลื่อนศก. ต่อยอดภาคบริการดันจีดีพี

สศค.วางผังขับเคลื่อนศก. ต่อยอดภาคบริการดันจีดีพี
ทันหุ้น
23 พฤษภาคม 2567 ( 10:47 )
สศค.วางผังขับเคลื่อนศก. ต่อยอดภาคบริการดันจีดีพี

#สศค. #ทันหุ้น - สศค.แนะเพิ่มผลผลิตภาคบริการ ชี้ช่วยหนุนจีดีพีเติบโตรองรับวิกฤติ ระบุ ภาคบริการมีสัดส่วนมากกว่า 60% ต่อจีดีพี มีกำลังแรงงานสูงกว่า 50% และมีอัตราการเติบโตถึง 4.3% ในปี 2566

 

นายกวิน เอี่ยมตระกูล  นักเศรษฐศาสตร์ กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ร่วมกับนักเศรษฐศาสตร์สศค.ออกบทวิเคราะห์ถึงเศรษฐกิจในภาคบริการ โดยระบุว่า ภาคบริการถือเป็นสาขาเศรษฐกิจหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอด จากสัดส่วนที่มากกว่า 60% ของจีดีพีและสัดส่วนแรงงานที่สูงกว่า 50% ของผู้มีงานทำทั้งหมดของไทย โดยในปี 2566 ภาคบริการมีอัตราการขยายตัวสูงถึง 4.3% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพรวมที่ 1.9% ต่อปี หากภาคบริการของไทยสามารถเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ ก็จะไม่เพียงแต่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดีเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มเสถียรภาพให้กับเศรษฐกิจ รอบรับกับปัญหาวิกฤติต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ทั้งนี้ เนื่องจากภาคบริการมีความหลากหลายในสาขาการผลิตและมีการเชื่อมโยงกับสาขาเศรษฐกิจต่างๆ ค่อนข้างมาก ดังนั้น การยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของภาคบริการได้ จะมีส่วนสำคัญในการช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

 

เจาะสำรวจเชิงลึก

 

นายกวิน กล่าวว่า นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลอย่าง Robert Solow ได้ให้ความหมายของผลิตภาพการผลิตรวมหรือ Total Factor Productivity (TFP) ว่าเป็นประสิทธิภาพการผลิตที่หน่วยผลิตสามารถผลิตผลผลิตจำนวนหนึ่งๆ ได้โดยใช้ปัจจัยการผลิต ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยแรงงานและปัจจัยทุนที่มีต้นทุนต่ำที่สุด ดังนั้น TFP ที่สูงจึงสะท้อนความสามารถในการผลิตที่มากกว่า ซึ่งอาจเกิดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หรือการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพดีกว่า ดังนั้น TFP จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการเพิ่มรายได้ของประชาชนที่สำคัญของประเทศ

 

ทั้งนี้ สศค.ได้ใช้ข้อมูลระดับสถานประกอบการ (Firm-Level Data) ล่าสุด จำนวน 2 ล้านแห่ง จากสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม ปี 2565และการสำรวจธุรกิจทางการค้าและธุรกิจทางการบริการ ปี 2563 พบว่า ภาคบริการที่มีผลิตภาพการผลิตรวมสูง มักเป็นสาขาที่ต้องใช้ทักษะวิชาชีพสูง เช่น การให้เช่าทรัพย์สินทางปัญญา การวิจัยตลาด และงานบัญชี เป็นต้น ขณะที่บริการด้านศิลปะบันเทิง ที่พักแรม และบริการเครื่องดื่มจะมีผลิตภาพอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า

 

อย่างไรก็ดี จากการวิเคราะห์ข้อมูลยังพบว่า สถานประกอบการภาคบริการที่มีผลิตภาพการผลิตรวมสูงมักจะมีลักษณะร่วมกันหลายประการ กล่าวคือ เป็นสถานประกอบการที่ทำการวิจัยและพัฒนา มีการร่วมทุนกับต่างประเทศ และเป็นสถานประกอบการขนาดใหญ่

 

นอกจากนี้ หากวิเคราะห์เปรียบเทียบสาขาภาคบริการโดยพิจารณาทั้งระดับและการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพการผลิตรวมในระยะหลังมานี้ ไปพร้อมๆ กัน จะสามารถแบ่งสาขาภาคบริการได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มสถานะดี -กลุ่มระดับผลิตภาพ (TFP) สูง และขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ การวิจัยตลาดและการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ร้านขายปลีกเชื้อเพลิงยานยนต์ การออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียง 2. กลุ่มสถานะไม่ดี – กลุ่มระดับผลิตภาพ (TFP) ต่ำ และหดตัวลดลง ได้แก่ การบริการสารสนเทศอื่นๆ กิจกรรมการสร้างสรรค์ศิลปะและความบันเทิง ร้านขายปลีกสินค้าทั่วไป

 

อัพมูลค่าภาคบริการ

 

3. กลุ่มแนวโน้มดี - กลุ่มระดับผลิตภาพ (TFP) ต่ำ แต่ขยายตัวได้ ได้แก่ การจัดการประชุมและการแสดงสินค้า กิจกรรมการออกแบบเฉพาะด้าน การประมวลผลข้อมูล การจัดการและการให้เช่าพื้นที่บนเครื่องแม่ข่าย 4. กลุ่มแนวโน้มไม่ดี-กลุ่มระดับผลิตภาพ (TFP) สูง แต่หดตัวลดลง ได้แก่ การให้เช่าของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน กิจกรรมการถ่ายภาพ ร้านขายปลีกสินค้าวัฒนธรรมและนันทนาการ

 

ดังนั้น การสนับสนุนให้ภาคบริการมีผลิตภาพที่สูงขึ้นเพื่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจและประชาชนมีรายได้ที่สูงขึ้น อาจทำได้โดยการส่งเสริมด้านเงินทุน แรงจูงใจ และบรรยากาศที่เอื้อต่อการในการทำวิจัย การสนับสนุนเพื่อช่วยพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงทรัพยากร สิทธิประโยชน์ และการลงทุนกับต่างประเทศได้ ตลอดจนการยกระดับและปรับทักษะแรงงานให้มีความรู้สูง โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี ที่ตรงกับความต้องการของตลาดถือเป็นก้าวแรกในที่นำประเทศไทยไปสู่บริการสมัยใหม่ (Modern Services) ได้ในไม่ช้า

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง